PDA

View Full Version : โอวาทช่วงบวชเนกขัมมะ ๓๐ กรกฎาคม – ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘


เถรี
04-08-2015, 18:51
โอวาทช่วงบวชเนกขัมมะ ๓๐ กรกฎาคม – ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

(ให้โอวาทพระบวชใหม่) เวลาวัดมีกิจกรรมต่าง ๆ เราจะเห็นว่ามีความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะมีญาติมาเยี่ยม ขอให้ดูอารมณ์ใจของเราตอนนี้ว่าใจเราฟู พอง ยินดีตอนที่มีคนอยู่ ตอนที่มีญาติมา พอถึงเวลาไม่มีใครเลย ลองดูกำลังใจตัวเองอีกทีว่าเป็นอย่างไร ? ตกมากไหม ? ฟุบมากไหม ? แฟบเลยไหม ? ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วพวกคุณไม่ค่อยจะดูใจตัวเอง หรือดูไม่เป็น ในเมื่อดูไม่เป็น กำลังใจตกเราก็แก้ไขไม่ได้ กำลังใจฟูเราก็แก้ไขไม่ถูก ประคับประคองไม่เป็นเหมือนกัน

กำลังใจของเรา ถ้ายังฟู ยังแฟบอยู่ ถือว่าใช้ไม่ได้ทั้งคู่ ต้องเป็นกำลังใจที่ไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งสิ้นถึงจะใช้ได้ แต่ว่าการที่จะไม่หวั่นไหวทั้งสิ้นนั้นมีหลายระดับด้วยกัน ระดับหนึ่งก็คือต้องทรงฌานได้ ถ้าตราบใดที่เราไม่หลุดออกจากฌาน ก็จะไม่หวั่นไหวกับอะไรทั้งนั้น หลายท่านถ้าทรงฌานระดับสูงขึ้นไปอย่างฌาน ๔ เป็นต้น จะนิ่งจนกระทั่งคิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ไปเลยก็มี

อีกระดับหนึ่งก็คือ รู้แจ้งเห็นจริงแล้วก็ปล่อยวางได้ จะกลายเป็นสังขารุเปกขาญาณ ไม่ปรุงแต่งอะไรต่อมิอะไรทุกอย่าง ก็สามารถที่จะนิ่งได้อย่างแท้จริง ถ้ากำลังใจอย่างนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะปรารถนาและต้องหามาให้ได้

ดังนั้น..งานที่ผมให้ จะเป็นพระเก่าหรือพระใหม่ก็ตาม ก็คือในระยะที่วัดเรามีกิจกรรม มีงาน ได้เจอโยม แล้วก็ได้พูดได้คุย ให้ดูว่ากำลังใจของเราตอนนี้เป็นอย่างไร ? แล้วหลังจากที่ผ่านงานไปแล้ว กำลังใจของเราเป็นอย่างไร ? แล้วคุณจะเห็นตัวเองชัดเจนมาก แต่ถ้าคุณไม่ตั้งใจดู จะไม่เห็นอะไร แล้วกลายเป็นว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์เข้ามาแล้วก็ผ่านไป

สิ่งที่ทำให้กำลังใจเราดีขึ้น ให้รักษาไว้ ประคับประคองไว้ เพื่อเป็นเครื่องหนุนเสริมให้เราอยู่สุขอยู่เย็นในพุทธศาสนา สิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น ให้เรารู้ว่าตัวเราเป็นนักบวช เป็นผู้แสวงหาความพ้นทุกข์ ยังเจอกับความทุกข์ความลำบากขนาดนี้ แล้วชีวิตฆราวาสที่เขาลำบากกว่าเราหลายเท่า เขาจะเจอยิ่งกว่าเราอีก เพราะฉะนั้น..สิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เราสามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งคู่ เพียงแต่ว่าต้องรู้จักความคิด ต้องมีปัญญาอยู่สักหน่อยหนึ่ง เราถึงจะเอามาปรับใช้งานกับเราได้ในทุกเรื่อง

เถรี
04-08-2015, 18:57
ถ้าผมให้เยอะกว่านี้เดี๋ยวจะอาหารไม่ย่อย เพราะว่าหลักธรรมก็เหมือนกับการกิน กินมากก็อาหารไม่ย่อย เรื่องหลักธรรมก็เหมือนกัน พอผมพูด พวกคุณก็เหมือนกับเห็นเงาในน้ำ แหม..ชัดมากเลย ลองเอื้อมมือไปแตะดูสิครับ หายวับไปกับตา ต้องย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก เบื่อไม่ได้ หน่ายไม่ได้

จะเห็นว่าเราทำวัตรกันอยู่ทุกวัน แต่บางคนบอกว่าเบื่อเหลือเกิน จะทำหาโคตรพ่อโคตรแม่อะไรกันเยอะแยะขนาดนั้นวะ..! นี่คือการฝึกฝนตัวเรา ทำในสิ่งที่ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดความเคยชินขึ้นมา ความเคยชินภาษาบาลีเรียกว่า “ฌาน” สร้างกำลังใจของเราให้มั่นคงขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นเราก็เอาความมั่นคงในกำลังใจของเรา ไปใช้ในงานอื่น ๆ ได้

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ที่เราทำอยู่ กิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนกระทั่งศีลที่เราจำเป็นต้องระมัดระวังรักษา ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่เรารู้จักคิดและเก็บสิ่งที่ดี ๆ เป็นหรือเปล่า ? ท่านที่ตั้งใจจะสึก อย่างที่ผมพูดไว้ในโบสถ์ ถ้าทนแรงบีบคั้นได้ตลอดพรรษา แปลว่าพวกท่านมีวุฒิภาวะพอที่จะไปเป็นหัวหน้าครอบครัวได้ แต่ถ้าในพรรษานี้รู้สึกทุกข์ทรมานเหลือเกิน กูจะไปไม่รอดแล้ว แบบนั้นอย่าเพิ่งไปมีครอบครัวเลยครับ ไม่รอดจริง ๆ เพราะกำลังใจของเราไม่เพียงพอที่จะไปรักษาตัวเอง แล้วจะไปรักษาคนอื่นได้อย่างไร ?

ฝากไว้มากไม่ดี หนักเกินไปเดี๋ยวจะชิงสึกหมดเสียก่อน เอาแค่นี้ก็แล้วกัน

เถรี
04-08-2015, 20:17
การปฏิบัติภาวนาเป็นเรื่องของคนที่มีกำลังใจระดับสุดยอดแล้ว ทำอะไรก็ต้องจริง ตรงเวลา ไม่อย่างนั้นแล้วการปฏิบัติของเราก็ไม่มีผล ในส่วนนี้บางคนอาจจะว่าโหดร้ายจนเกินไป มาช้าหน่อยก็โดนตัดชื่อไปแล้ว ขอยืนยันว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นแค่ระเบียบหยาบ ๆ เท่านั้น ถ้าท่านทำไม่ได้ ในส่วนการเข้าถึงธรรมที่เป็นส่วนละเอียดก็จะไม่มีโอกาสเลย

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ของเล่น เป็นเรื่องของการที่เอาจริงเอาจังและต้องทุ่มเท เพราะว่ากิเลสไม่เคยรามือให้กับเรา เขาจริงจังกับเราอยู่ตลอด ประเภทเอากันตายไปข้างหนึ่ง ถ้าเราไม่จริงจังกับกิเลส เราจะไม่มีวันสู้กิเลสได้

สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ก็ดี เทคโนโลยีก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับโลกนี้ทั้งนั้น ถ้าเราตั้งใจที่จะละโลกให้ได้ จะหนีให้พ้น ก็จำเป็นที่ต้องรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แล้วก็ตัดละออกจากใจของเราให้ได้ ความเจริญของโลกไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ต้องให้ความเจริญและเทคโนโลยีเหล่านั้น เป็นเครื่องรองรับให้เราก้าวไปสู่ความหลุดพ้นได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนร้อยรัดเราจมอยู่กับห้วงวัฏสงสาร ไม่มีวันผุดวันเกิด ถ้ารักที่จะปฏิบัติต้องกล้าทิ้ง กล้าทิ้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องทิ้งให้ได้ด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วสิ่งที่ท่านทำไปก็เหมือนกับทำแก้บน ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เดินขึ้นหน้า ๑ ก้าว ถอยหลัง ๓ ก้าว แล้วเมื่อไรจะถึงจุดหมายปลายทางเสียที ?

เพราะฉะนั้น..ในการปฏิบัติ ถ้าเราคิดว่ามาทำแค่พอเป็นแนวทาง มาเพื่อศึกษา อย่ามาเลย..เสียเวลาทำมาหากิน เสียเวลาเที่ยวเล่นของเราไปเปล่า ๆ ไหน ๆ ก็จะติดอยู่กับโลกนี้แล้ว ก็เที่ยวให้หัวทิ่มหัวตำไปเลย ถึงเวลาจะได้ลงไปลึก ๆ หน่อย..! แต่ถ้าต้องการการหลุดพ้น ต้องเอาจริงและทุ่มเท ทุกเวลา ทุกนาทีต้องอยู่กับการปฏิบัติ

ไม่ใช่ถึงเวลาช่วงบ่ายเดินจงกรม ๒ ชั่วโมง เลิกแล้วก็ไปนั่งเขี่ยไลน์เสีย ๓ ชั่วโมง ถ้าลักษณะอย่างนั้นเราขาดทุนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ทำไปก็ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือเราได้ กลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ติดลบอยู่เสมอ แบบเดียวกับที่หลายคนเป็นหนี้เป็นสินรุงรังไปหมด โดยไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นหนี้เพราะอะไร

ลักษณะของการปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าเราทำไม่เป็น ทำไม่ถูก ก็มีแต่ขาดทุนอยู่ทุกวัน แล้วท้ายสุดเราก็จะท้อ หมดอารมณ์ที่จะทำไปเอง ก็แปลว่าเรายอมเป็นปลาตาย ไหลไปตามกระแสโลก ออกทะเล ออกมหาสมุทร หาฝั่งไม่เจอ เวียนว่ายตายเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วนก็ไม่สามารถที่จะขึ้นฝั่งได้

เถรี
05-08-2015, 11:43
ในการปฏิบัติของที่นี่นั้น เวลาเดินจำเป็นที่จะต้องเดินให้พร้อมกัน จึงใช้วิธีการเดินจงกรมแบบ ๖ ระยะตามสายของสติปัฏฐานแบบพองยุบ แต่เวลาที่นั่งภาวนาขอให้ทุกคนใช้ของเดิมที่เคยทำมา เคยทำอะไรมา มีความถนัดแล้วให้ทำอย่างนั้น เพราะว่าการปฏิบัติธรรมของเรานั้น ถ้าเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย ๆ เปลี่ยนวิธีการบ่อย ๆ เปลี่ยนสายการปฏิบัติบ่อย ๆ อาตมาเคยเปรียบมานับครั้งไม่ถ้วนว่า เหมือนกับเราขุดบ่อแล้วต้องการน้ำ ขุดไปได้ ๒ วา ๓ วา ใกล้จะถึงน้ำแล้วก็เปลี่ยนที่ขุดใหม่ ลงไปได้สักวาครึ่งวาก็เปลี่ยนที่ขุดใหม่ แล้วเมื่อไรเราจะมีน้ำกินน้ำใช้เหมือนชาวบ้านเขาเสียที ?

หรือเหมือนกับคนที่ติดคุก ตั้งใจจะเจาะกำแพงเพื่อหลบหนีออกจากคุกให้ได้ เจาะไปจนเหลือนิดเดียวก็จะพ้นแล้ว แต่เปลี่ยนที่เสียใหม่ เจาะไปได้อีกหน่อยหนึ่งก็เปลี่ยนที่อีก แล้วเมื่อไรถึงจะมีช่องทางในการหลุดพ้นได้ ?

สิ่งทั้งหลายที่เปรียบเอาไว้เพื่อให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนว่า ทุกวันนี้เรามีความประพฤติลักษณะอย่างนั้น เป็นความประพฤติที่ไม่คู่ควรแก่การหลุดพ้นเลยแม้แต่น้อย ทำไปก็ไม่เพียงพอที่จะใช้งาน เพราะว่ากำลังของสติ สมาธิ ปัญญาไม่เพียงพอ ไม่แหลมคม ไม่แก่กล้า สั่งสมเท่าไรก็ไม่พอ เหตุที่ไม่พอเพราะว่า พอได้มาหน่อยหนึ่งเราก็ใช้หมด จนติดลบเป็นหนี้เป็นสินอยู่ตลอดเวลา

ที่ว่าใช้หมดคือใช้อย่างไร ? พอได้มาหน่อยหนึ่งเราก็ปล่อยให้กำลังไหลออกทางตา ไปเลือกดูโน่นดูนี่ดูนั่นที่เราชอบใจ ไม่รู้จักระงับยับยั้ง เพื่อสั่งสมกำลังตัวเองไว้ ปล่อยให้ไหลออกทางหูไปฟังสิ่งที่เราชอบ แต่ความจริงก็คือพาให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้เห็นไม่ฟัง ก็ฟุ้งไปคิดถึงอยู่ตลอด จิตใจไม่มั่นคง อยู่กับการภาวนาไม่ได้ ปล่อยให้ไหลออกทางจมูก ไหลออกทางลิ้น ไหลออกทางกาย ไหลออกทางใจ ก็แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมาในแต่ละวัน เหมือนอย่างกับน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมาเล็กน้อย แต่เราปล่อยให้ไหลออกไปเป็นจำนวนมหาศาล จึงไม่เพียงพอที่จะใช้งานสักที ไม่ทันถึงหน้าแล้งต้นทุนก็หมดแล้ว

เมื่อเราทราบจุดอ่อนของตัวเองแล้ว ก็ขอให้ทุกคนทุ่มเทและระมัดระวังเอาไว้ด้วย มีอยู่หลายท่านที่สามารถทำได้อย่างน่าชื่นชมมาก คือ เข้าวัดก็ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกอย่างทิ้งหมดเลย ออกจากวัดเมื่อไรค่อยเริ่มนับหนึ่งใหม่ เป็นการสะสมกำลังของตนให้เพียงพอต่อการสู้กิเลส แต่ว่าที่เหลืออีก ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะทิ้งไม่ได้แล้ว ยังติดหนักยิ่งขึ้น แม้กระทั่งเวลาพักผ่อนหลับนอน ปิดฟืนปิดไฟหมดแล้วก็ยังนั่งเขี่ยไลน์ นั่งดูจออยู่นั่นแหละ แล้วเราจะเอากำลังที่ไหนมาสู้กิเลสได้ ?

เถรี
05-08-2015, 20:27
ดังนั้น..ในการปฏิบัติช่วงบ่ายของเรา ซึ่งมีเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น ขอให้ทุกคนตั้งใจทุ่มเทกับการปฏิบัติอย่างจริง ๆ จัง ๆ การเดินนั้น ระยะที่ ๑ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ พอ “ซ้าย” ก็คือยกเท้าขึ้น “ย่าง”ก็เคลื่อนเท้าไป “หนอ”ก็วางเท้าลงพอดี ระยะที่ ๒ ความจริงเป็นการขึ้นลงบันได คือ “ยกหนอ” และ “เหยียบหนอ” ในเมื่อเราปรับมาเดินเวลายกก็คือเคลื่อนเท้าไปข้างหน้าเลย พอหนอก็วางเท้าลงพอดี ระยะที่ ๓ มี “ยกหนอ” “ย่างหนอ” “เหยียบหนอ” ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ายกก็คือยกเท้า ย่างคือเคลื่อนเท้าไป เหยียบคือลดเท้าลง ระยะที่ ๔-๕-๖ ก็อยู่ในขั้นตอนเหล่านี้เพียงแต่เพิ่มรายละเอียดขึ้น เช่นว่า “ยกส้นหนอ” “ถูกหนอ” “กดหนอ” เป็นต้น

ให้สิ่งที่เราบริกรรม คือซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ให้เป็นไปโดยพร้อมเพรียงกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย พอซ้ายก็คือยกเท้าขึ้น ย่างก็คือเคลื่อนเท้าไป หนอก็คือลดเท้าลง กำลังใจของเราจะได้อยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ฟุ้งซ่านไปหาสิ่งต่าง ๆ เมื่อเวลานั่งภาวนาก็พยายามดึงกำลังใจของเราให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกให้ได้ อย่าให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น ๆ ถ้าหากว่าเผลอฟุ้งไปเมื่อไร เมื่อรู้ตัวก็ให้รีบดึงความรู้สึกกลับมาที่ลมหายใจเสียใหม่

ถ้าท่านทั้งหลายทนสู้อย่างนี้ไปแค่ไม่กี่ครั้ง กำลังใจของเราก็ยินดีให้เราควบคุมไว้ได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำดังนี้ ปล่อยให้มีระยะเวลาเว้นว่างที่ยาวนาน ในการที่ปล่อยให้กำลังใจไปแสวงหากิเลสต่าง ๆ เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็ไม่สามารถจะควบคุมใจของเราได้ ปฏิบัติธรรมเมื่อไรก็จะมีแต่ความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา เพราะสภาพจิตดิ้นรนไม่ยอมหยุดนิ่ง จึงขอให้ทุกท่านตั้งใจและทุ่มเท เพราะเรามีเวลาปฏิบัติไม่มาก ถ้าคิดแบบนักปฏิบัติก็คือ ไม่รู้ว่าเราจะตายลงไปวันนี้หรือเปล่า ถ้าหากว่าเราตายลงไปวันนี้แล้วลงสู่อบายภูมิ ก็แปลว่าเสียทีที่เกิดมา

เถรี
05-08-2015, 20:35
ญาติโยมที่จะไปใส่บาตรในตลาด ให้ระมัดระวังอยู่อย่างหนึ่งว่า อย่าไปเดินเกะกะเต็มถนน พระวัดเราแถวยาว ข้ามถนนแต่ละทีรถราก็ติด แล้วชาวบ้านแถวนี้ยังถือโชคลางมาก เพราะจะไม่ตัดแถวพระ กลัวจะมีอุปสรรคในชีวิต เขาจะปล่อยให้พระเดินข้ามถนนจนหมดก่อน ต่อให้รับบาตรอยู่เขาก็รอจนกว่าจะข้ามหมด รถจึงติดยาวมาก หลายคนอาจจะไม่ชอบใจอยู่แล้ว ทีนี้พอเราเป็นคนวัดแล้วไปเกะกะยิ่งขึ้นอีก อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับเขามากขึ้น

ฉะนั้น..โปรดทำตัวลีบ ๆ แปะติดข้างถนนไว้ แล้วเวลาซื้อข้าวใส่บาตร โปรดดูด้วยว่าของนั้นเก็บได้นานไหม ? ถ้าเก็บไม่ได้นาน ซื้อมาคนละชิ้นพระก็ไม่มีปัญญาจะฉันอยู่แล้ว ส่วนบรรดาดอกไม้ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องเหมามาจนหมดตลาด เอาแค่พอสมควร โดยเฉพาะอาตมานี่ส่วนมากจะถือคติว่า "ถ้ากินไม่ได้จะไม่ซื้อ" ความจริงเอาดอกไม้ไปชุบแป้งทอดก็ได้นะ..!

แล้วเวลาลืมตัว พวกเราก็จะเดินดาหน้าเป็นแถวหน้ากระดาน อาตมาเตือนอยู่บ่อย ๆ ว่า คนวัดรถชนก็ตายเหมือนกัน เรามาปฏิบัติธรรม มาสร้างในส่วนที่เป็นบุญเป็นกุศล อะไรที่ทำไปแล้วทำให้จิตใจคนอื่นเศร้าหมอง เร่าร้อน ก็พยายามละวาง การที่พยายาม ลด ละ กรรมของตัวเองให้น้อยลง ไม่สร้างกรรมใหม่เพิ่ม กรรมเก่าได้รับการชดใช้ไปเรื่อย

เถรี
06-08-2015, 10:59
เรื่องของการยอมรับกฎของกรรม ถ้าหากว่าพวกเราได้ศึกษาในยถากัมมุตาญาณ ศึกษาในปุพเพนิวาสานุสติญาณ ศึกษาในอตีตังสญาณ ญาณทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เรารู้อดีต รู้ว่าตอนนี้เราเดือดร้อนอยู่เพราะทำอะไรมา แล้วเราก็จะเห็นชัด ๆ เลยว่าที่เราเป็นอยู่อย่างนี้เพราะเราทำเอง ก็จะยอมรับกฎของกรรมได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เพื่อเรารู้ว่าเราได้ทำอะไรไว้ แล้วถึงเวลาก็ “เออ..เราทำเขาเอาไว้ก่อนเอง ทำไว้ร้อยหนึ่งเขาขอคืนแค่บาทเดียวเท่านั้น” ก็จะค่อย ๆ ยอมรับกฎของกรรมไปเรื่อย ๆ

ถ้านักปฏิบัติไม่ยอมรับกฎของกรรมเมื่อไร จะเกิดสภาวะ ๒ ประการขึ้นมา ประการแรก คือ เรื่องอภิญญาสมาบัติ ถ้าคุณต้องการอภิญญา ชาตินี้ไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะว่าอภิญญาสมาบัติมีอำนาจสูงมาก ถ้าเราไม่ยอมรับกฎของกรรม เราก็จะใช้กำลังไปฝืน แล้วทำให้ระบบธรรมชาติยุ่งยากวุ่นวายไปหมด ดังนั้น..ท่านใดอยากได้อภิญญา ตั้งใจยอมรับกฎของกรรมไปแต่โดยดี

แต่อย่ายอมรับแบบควาย หลวงพ่อชาท่านบอกลูกศิษย์ที่พายุพัดหลังคากุฏิเปิงไป ลูกศิษย์ก็นั่งกรรมฐานอยู่อย่างนั้นแหละ หลวงพ่อชาไปถึงก็บอกว่า “คุณ..ซ่อมกุฏิเสียหน่อยสิ” พระท่านเรียนว่า “ผมปล่อยวางแล้วครับ” หลวงพ่อชาท่านว่า “ควายมันตากแดดตากฝนทนอยู่ทุกวัน ทนได้มากกว่าคุณอีก” การปล่อยวางหมายความว่าต้องแก้ไขจนสุดกำลังความสามารถแล้ว สุดกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์ แก้ไม่ได้แล้วค่อยยอมรับว่าเป็นกฎของกรรม เรื่องที่พอแก้ได้แล้วดันมานั่งตากแดดตากฝน ท่านยืนยันว่าควายทนกว่าคุณอีก เพราะฉะนั้น..ถ้าเราจะปล่อยวาง ถึงมีช่องทางแม้แต่ ๐.๐๑ เปอร์เซ็นต์ก็ต้องทำไปก่อน เผื่อว่าจะรอด..!

เถรี
06-08-2015, 11:00
ประการที่ ๒ ก็คือ ถ้าสภาพจิตไม่ยอมรับกฎของกรรม จะไม่มีวันเข้าถึงมรรคผลได้ การที่จะเข้าถึงมรรคผลได้ต้องยอมรับกฎของกรรมด้วย ในเมื่อเป็นอย่างนั้น ถึงเวลาอะไรเกิดขึ้น ก็จะไปสรุปลงตรงที่ว่า “เราทำเอง เราผิดเอง” ถ้าหาความผิดไม่ได้แล้วยังโดนก็ “เราผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว ถ้าไม่เกิดมาก็ไม่โดน” บอกบุญเรี่ยไรอยู่ดี ๆ ก็โดนตั้งกระทู้ถามว่าเมื่อไรจะเลิกเสียที เป็นต้น

เถรี
06-08-2015, 11:02
ที่นี่ไม่มีการบอกบุญเรี่ยไร ใครมาบอกบุญเตะให้กระเด็นไปเลย จะทำบุญที่นี่ต้องมาอ้อนวอนทั้งน้ำตาอาตมาถึงจะรับไว้ จำไว้ว่าถ้ามีการบอกบุญเรี่ยไรที่นี่ แปลว่าไม่ใช่ลูกศิษย์วัดท่าขนุน ต้องมาจากต่างดาวแน่นอน เพราะวัดท่าขนุนมีระเบียบระบุไว้ชัด ข้อที่ ๑๓ ห้ามบอกบุญ ห้ามเรี่ยไรด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น

แต่อาตมาก็สั่งพระลูกศิษย์ไว้แล้วว่า ถ้าอาตมาไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ใครมาเป็นก็รีบเปลี่ยนระเบียบข้อนี้เสีย เพราะถ้าไม่บอกบุญไม่เรี่ยไรแล้วอยู่ได้ แสดงว่าต้องมีคาถาดี ครูบาอาจารย์ท่านจึงช่วยสงเคราะห์ ถ้าไม่มั่นใจว่าทำได้ขนาดนั้น เมื่อเป็นเจ้าอาวาสแล้ว มีสิทธิ์แก้ไขได้ เปลี่ยนระเบียบวัดได้

เถรี
06-08-2015, 11:04
จะเข้าออกตึกแดงปิดประตูกันงูไว้ด้วย อะไรเกิดขึ้นยอมรับกฎของกรรม งูกัดก็นอนตายตรงนั้นแหละ ...(หัวเราะ)... หรือว่าไปหาหมอก่อน ? สรุปว่าที่อาตมาพูดมาทั้งหมด พวกเราฟังแล้วก็ผ่านหูไป จับประเด็นไม่ได้เลย..ใช่ไหม ? โปรดใช้สติ ใช้สมาธิให้มากกว่านี้ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะชัดเจน ถึงเวลาก็เอาข้อมูลจากในหัวสมองเรานี่แหละมาใช้งานได้

ถ้าหากว่าสมาธิดี ทุกอย่างจะได้รับคำตอบไปในตัว ไม่ต้องเสียเวลาไปถามใคร แต่ถ้าสมาธิไม่ดี การปฏิบัติทุกอย่างจะมีปัญหาหมด เพราะฉะนั้น..อย่าทิ้งสมาธิ สมาธิจะทรงตัวได้จะต้องมีศีล จิตใจที่ระมัดระวังว่าตนเองจะล่วงสิกขาบทหรือเปล่า การระมัดระวังงดเว้น ทำให้เกิดสมาธิ พอสมาธิทรงตัวปัญญาจะเกิด เราจะเห็นช่องทางเอง ว่าจะรักษาอารมณ์ที่ดีไว้อย่างไร จะทำอารมณ์ใจที่ดีให้เจริญยิ่งขึ้นอย่างไร เราจะขับไล่อารมณ์ที่ไม่ดีออกไปอย่างไร และเราจะระมัดระวังอย่างไรไม่ให้อารมณ์ที่ไม่ดีเข้ามา

หน้าที่ของเราความจริงมีแค่หน่อยเดียว แต่เรามักจะไปเพลิดเพลินกับสิ่งอื่นมากกว่า ก็เลยไม่รู้ว่าควรที่จะทำอะไร

เถรี
06-08-2015, 18:32
หลวงปู่มหาอำพันท่านกล่าวว่า “ต่อให้เป็นแจกันเปล่า ถ้าวางให้เป็นระเบียบก็ดูดีเหมือนกัน” แปลว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีดอกไม้ ถ้าเราจัดสถานที่ให้เป็นระเบียบก็ดูดีได้ แต่ว่าพวกเราเข้ามาพริบตาเดียว ที่นั่งที่เป็นระเบียบก็โย้เย้ไปหมดแล้ว

เถรี
06-08-2015, 18:56
พระอาจารย์กล่าวว่า "เมื่อครู่มีพระ มีโยมหลายท่านมาช่วยกันปูอาสนะ ปรากฏว่าได้แต่ปู ต้องไปแก้ไขใหม่ เพราะขาดการสังเกตอย่างแรง ขนาดบอกให้ดูข้างหน้าก็ได้แต่ดู ประเภทมองป่าก็เห็นแต่ป่า ไม่เห็นต้นไม้ ถ้าเราขาดการสังเกตแล้ว กิเลสในใจที่หลอกล่อเราอยู่ตลอดเวลา เราจะไปเห็นได้อย่างไร ?

การปฏิบัติธรรม ยิ่งปฏิบัติไป สภาพ กาย วาจา ใจ ต้องละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างที่เมื่อวานตอนค่ำเตือนว่า เราไปตลาดอย่าไปเดินเกะกะจนกระทั่งรถราไปไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่พวกเราทำ จะด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็ตาม ถ้าเป็นทุกข์เป็นโทษแก่คนอื่นก็จะเกิดกรรมแก่ตัวเองด้วย สร้างกรรมเมื่อไรก็แปลว่าเครื่องถ่วงบังเกิดขึ้น โอกาสที่เราจะเข้าถึงมรรคผลนิพพานก็ช้าลง เพราะเครื่องถ่วงมีมาก เราจึงต้องระมัดระวัง และต้องรู้จักสังเกตกำลังใจตัวเองด้วย ว่ากำลังใจของเราตอนนี้เป็นอย่างไร"

เถรี
07-08-2015, 15:16
พระอาจารย์กล่าวว่า "เมื่อวานมีผู้โพสต์ถามมาในกระทู้ของป้านุช ว่าเปิดกระทู้ตั้งนานแล้ว เงินก็ได้พอแล้ว แล้วทำไมไม่ปิดกระทู้เสียที ? ป้านุชก็อุตส่าห์ไปตอบเขาดี ๆ ทั้งที่เขาไม่อ่านเลย ถ้าอ่านครบจะต้องรู้เพราะป้านุชบอกรายละเอียดไว้แล้ว ไอ้คนประเภทนั้นถ้าเป็นอาตมาจะถามว่า “เสือกอะไรของมึงด้วย..!” ประเภทมือไม่พายแล้วเอาตีนราน้ำ คิดว่าตัวเองเป็นคนดีเหลือเกิน

ขอให้ทุกคนระมัดระวังเอาไว้ด้วย พอปฏิบัติธรรมแล้วจะไปคิดว่าตัวเองเป็นคนดี แต่ไม่รู้ว่ากาย วาจา ใจของเราเป็นโทษแก่คนอื่นขนาดไหน ถ้ารู้จักยินดีและโมทนาในความดีของผู้อื่น ปัญหาที่ถามในกระทู้นั้นจะไม่มี นี่นอกจากจะไม่ยินดีแล้วยังจ้องจับผิดเขาอีก แปลว่าฝืนคำสอนพระพุทธเจ้าโดยตรง คือไม่มี “อตฺตนา โจทยตฺตานํ” คือไม่รู้จักเตือนตัวเอง

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ พอเกิดขึ้นมีแต่ทำให้คนเขาตีราคาของเราต่ำเสียเปล่า ๆ ยิ่งพูดก็ยิ่งเสีย โบราณเขาถึงได้บอกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง คือพูดไปก็ราคานิดเดียว นิ่งเสียยังได้มากกว่าตั้งเยอะตั้งแยะ ท่านบอกว่า “ก้านบัวบอกตื้นลึก ชลธาร มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ” สายบัวจะบอกให้รู้ว่าน้ำนั้นลึกเท่าไร มารยาทจะบอกให้รู้ว่าตระกูลของตัวเองเป็นอย่างไร ได้รับการอบรมดีหรือไม่ “โฉดฉลาดมีคำขาน บอกเหตุ” คนเราโง่หรือฉลาด แค่พูดออกมาเขาก็รู้หมดแล้ว

ทำตัวเหมือนอย่างกับเป็นคนดี เที่ยวตำหนิคนนั้น เที่ยวตำหนิคนนี้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการขยายความชั่วในใจของตนเองออกมา ตำหนิเขาในใจความชั่วก็มากพอแล้ว แล้วยังทำให้ความชั่วไหลไปแปดเปื้อนคนอื่นเขาอีก"

เถรี
07-08-2015, 15:19
"เท่านั้นยังไม่พอ ประเภทเป็นร่างทรง พอไปรับความคิดชั่ว ๆ ของคนอื่นมาแล้วก็นำไปขยายต่อ โดยคิดว่า “กูเป็นคนกล้า” หารู้ไม่ว่าโดนเขาหลอกใช้งาน พอเขาเยินยอเข้าหน่อยก็ไปโพสต์อะไรโง่ ๆ อยู่ข้างในเว็บ

เรื่องพวกนี้โปรดระมัดระวังให้มาก โซเชียลมีเดียมีแต่โทษมากกว่าประโยชน์ เพราะว่าทันทีที่เรารับมาแล้วส่งต่อ เราก็สร้างกรรมโดยไม่รู้ตัวแล้ว คนที่สร้างกรรมแล้วไม่รู้ตัวเป็นคนที่น่าสงสารอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตราบใดที่ผลของความชั่วยังไม่ส่งผล คนชั่วก็คิดว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่หอมหวาน แต่พอความชั่วส่งผลให้ รู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่แผดเผาเผ็ดร้อน สร้างความเจ็บปวดให้ ก็แก้ไขอะไรไม่ทันเสียแล้ว”

โลกยุคปัจจุบันนี้ทำให้พวกเราสร้างกรรมได้ง่ายที่สุด ในเมื่อเราสร้างกรรมง่าย เครื่องถ่วงเราให้ติดอยู่กับโลกก็มีมากขึ้น สภาพจิตของเราถ้าไม่หนักแน่นพอ ไม่ละเอียดพอ เราก็จะโดนบ่วงของมารร้อยรัดติดอยู่กับโลกนี้ ไม่สามารถที่จะไปไหนได้ แล้วก็ต้องมาทุกข์ยากเร่าร้อนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ มาสร้างในสิ่งที่เป็นเวรเป็นกรรมต่อไปเรื่อย ๆ เป็นมโนกรรมก็ยังพอทน พอเป็นวจีกรรมหรือกายกรรม ก็สร้างทุกข์สร้างโทษให้กับคนอื่นส่วนมากไปแล้ว

โปรดระมัดระวังให้ดี อย่าให้เขาพูดได้ว่าเสียแรงที่ปฏิบัติธรรมมาหลายปี กาย วาจา ใจแย่ ๆ ยังมีอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักปรับปรุง ไม่รู้จักแก้ไข ถึงเวลาก็สักแต่พ่นความสกปรกโสโครกใส่คนอื่นเขา แล้วก็อ้างว่าพูดเล่นบ้าง เขาจะคุยเรื่องอะไรก็สอดรู้สอดเห็นไปทุกเรื่อง จะต้องถามให้รู้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะขาดใจลงไปว่าเรื่องอะไร ถ้าหากว่ามีนิสัยอย่างนี้ให้ช่วยกันดัด ช่วยกันแก้ให้หน่อย

อย่างที่อาตมาบอกนั้นแหละ “เสือกอะไรของมึงด้วย ไม่รู้สักเรื่องมึงจะตายไหม ?” ถือว่าเราช่วยกันสงเคราะห์เขา ไม่อย่างนั้นคนประเภทนี้ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดเป็นระยะเวลาอีกยาวนานนับกัปไม่ถ้วน

เถรี
08-08-2015, 11:31
แล้วก็ยังทำให้คนอื่นเขาปรามาสไปถึงครูบาอาจารย์ ปรามาสไปถึงวัดวาอารามและพระศาสนา ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ครูบาอาจารย์สอนมาก็ดี ที่เป็นคำสอนของพุทธศาสนาก็ดี หาประโยชน์ไม่ได้ เพราะว่าตัวเองปฏิบัติมาหลายปีแล้ว กาย วาจา ใจ ยังชั่วอยู่เหมือนเดิม ให้รู้จักหัดสำรวมเอาไว้บ้าง อย่าเป็นอย่างนางปิสุณาวาที ท้ายสุดก็ตายเพราะปากของตัวเอง..!

หลวงพ่อวัดท่าซุงเคยสอนไว้ว่า “เราจะคิดชั่วอย่างไรก็ตาม ให้ความชั่วนั้นอยู่กับตัวเรา อย่าให้ไหลออกทางปาก อย่าให้ไหลออกทางกายไปแปดเปื้อนคนอื่นเขา” เรื่องพวกนี้เราเป็นนักปฏิบัติต้องสังวรระวังไว้เสมอ ถ้า กาย วาจา ใจ ยังเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่นอยู่ ถือว่ายังใช้ไม่ได้

เราไม่ได้มีหน้าที่เป็นครูของใคร ไม่ได้มีหน้าที่ไปสั่งสอนใคร เพราะฉะนั้น..อย่าไปตำหนิด่าว่าใคร เพราะว่าไม่มีประโยชน์เลย มีแต่โทษล้วน ๆ อันดับแรก..กำลังใจของเราก็เสีย เพราะไปจ้องจับผิดเขา อันดับที่สอง..พอตำหนิเขาก็สร้างศัตรูให้เกิดขึ้น อันดับที่สาม..ความแตกความสามัคคีในหมู่คณะก็เกิดขึ้น ถ้าคณะเล็ก ๆ ยังแตกความสามัคคี แล้วประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร ? ลองทบทวนดูว่าตั้งแต่เราปฏิบัติธรรมมา เราสามารถแก้ไขอะไรที่ไม่ดีของตนเองได้บ้าง ?

เมื่อคืนได้พูดไปแล้วว่า หน้าที่ในการปฏิบัติธรรมของเราความจริงแล้วมีนิดเดียว ก็คือ ขับไล่สิ่งชั่วในใจของเราออกไป และระมัดระวังไว้อย่าให้ความชั่วเข้ามา สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา แล้วก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หน้าที่ของเรามีแค่นี้เอง แต่เรามักจะทำหน้าที่ผิดฝาผิดตัวอยู่เสมอ ทำในสิ่งที่เราคิดว่าดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าดี ถ้าเห็นคนอื่นเขาจะพูดชั่วทำชั่วอย่างไร เราก็ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับเขา เดินหลีกไปเสีย หุบปากเอาไว้ เราก็ไม่ต้องไปสร้างเวรสร้างกรรมร่วมกับใคร ไม่ต้องไปยินดีและโมทนากับความชั่วของใคร

เถรี
08-08-2015, 11:36
การปฏิบัติธรรมนอกจากต้องเอาจริงเอาจังแล้ว ยังต้องทบทวนไตร่ตรองอยู่เสมอ ๆ พระพุทธเจ้าสอนหลักวิมังสาในอิทธิบาทให้เรามาสองพันกว่าปีแล้ว ฝรั่งเอาไปเป็นทฤษฎีตัวสุดท้าย ก็คือการสรุปและประเมินผล

เราได้ลองสรุปและประเมินตัวเองบ้างหรือไม่ว่า วินาทีแรกที่เข้ามาปฏิบัติธรรม โดยจุดมุ่งหมายหวังความก้าวหน้าและปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น มาถึง ณ วันนี้ เวลานี้ สิ่งที่เราทำนั้น เราทำไปถึงไหนแล้ว ? ยังตรงต่อเป้าหมายเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ ? ยังเหลืออีกมากน้อยเท่าไรที่เราต้องเพียรพยายามทำไปให้ถึง ? ครูบาอาจารย์ตายไปกี่รูปแล้ว เราเองยังเอาดีไม่ได้เสียที แล้วถ้าเราตายไปโดยที่เอาดีไม่ได้ ต้องเกิดอีกกี่ชาติถึงจะเอาดีกันได้ ?

คำว่า “กล่าวโทษโจทย์ตนเอง” ของพระพุทธเจ้าท่าน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า “ถ้าหากว่าหาความผิดไม่ได้ ก็ให้สรุปลงที่ว่าเราผิดตั้งแต่เกิดมาแล้ว” เพราะถ้าเราไม่เกิดมา ก็ไม่ต้องมาเจอกับเรื่องทั้งหลายแบบนี้ ในชีวิตของเราส่วนใหญ่แล้วทำชั่วมากกว่าทำดี ขนาดความชั่วเรายังตั้งหน้าตั้งตาทำด้วยความสนุกสนาน ด้วยความจริงจัง แล้วทำไมถึงเวลาทำความดีเราถึงตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้ มัวแต่รอครูบาอาจารย์ท่านมาสั่งสอน มาจ้ำจี้จ้ำไชอยู่ ถ้าหากว่าครูบาอาจารย์ล่วงลับไปอีกแล้วเราจะพึ่งใคร ?

พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า “จงมีตนเองเป็นเกาะ จงมีตนเองเป็นที่พึ่ง จงมีตนเองเป็นฝั่ง” คือถ้ามีตัวเองเป็นที่พึ่ง อาศัยตนเองได้ก็ยังพอเอาตัวรอดในวัฏสงสารได้ แต่ที่พระองค์ท่านสรรเสริญมากที่สุดก็คือสามารถก้าวขึ้นสู่ฝั่ง ล่วงพ้นจากทะเลทุกข์ได้ การยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดชีวิตของเรา อยู่ในกองทุกข์ที่แผดเผาอยู่ตลอดเวลา แล้วยังไม่รู้ตัวอีกหรือว่าตอนนี้เราทุกข์แค่ไหน ? แล้วไม่คิดที่จะดิ้นรนเพื่อที่จะหนีให้พ้นใช่หรือไม่ ? ถ้าดิ้นรนเพื่อที่จะหนีให้พ้น เราได้กระทำอย่างจริงจังแล้วหรือไม่ ?

เถรี
09-08-2015, 12:48
เรื่องพวกนี้จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องของอาตมาสักนิดเดียว เพียงแต่ว่าบางอย่างเห็นแล้วก็อดไม่ได้ ในเมื่อเข้ามาปฏิบัติธรรมยังวัดท่าขนุนแล้ว ถ้าไม่บอกไม่กล่าวอะไรบ้างเลย ถึงเวลาคนไปถามก็บอกไม่ถูกอีกว่าพระอาจารย์สอนอะไรมา แต่ถึงบอกถูกก็ยังเป็นที่สงสัยของเขาอีกว่า “ตกลงว่าเราทำอะไรได้บ้าง ? สิ่งที่ท่านสอนมาเราได้ทำบ้างหรือไม่ ?”

บางคนแทบจะอยู่วัดมาทั้งชีวิต แต่ กาย วาจา ใจ หาความดีไม่ได้เลย มีแต่เป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่นจิกคนโน้น กัดคนนี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าแบบนั้นจะอยู่บ้านหรืออยู่วัดก็คงจะเหมือนกัน เสียแรงที่ปฏิบัติธรรมมาหลายปีแต่เอาดีไม่ได้ จะบอกว่าเสียชาติเกิดก็แรงเกินไป

แล้วยังมีการเอาชื่อวัด เอาชื่อครูบาอาจารย์ไปขายกินกันสนุกสนาน ฉันเป็นลูกศิษย์วัดนั้น ฉันเป็นลูกศิษย์อาจารย์นี้ อวดเขาได้เต็มปากเต็มคำ แต่มีความดีอะไรไปอวดเขาบ้างว่า "อาจารย์สอนมาแล้วฉันทำได้"

เวลาฟังไปแล้วให้คิดว่าเป็นตัวเองด้วย ไม่ใช่ไปคิดว่าไอ้นั่นโดนด่า ไอ้นี่โดนด่า ไม่ใช่กู ถ้าอย่างนั้นชาตินี้ทั้งชาติก็ไม่ต้องเอาดีกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ว่าไป กล่าวไป ให้นึกว่าเป็นความผิดของเรา ความผิดทั้งหลายเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วทั้งอดีตและปัจจุบัน เราจะปล่อยให้ผิดซ้ำซาก หรือว่าจะพยายามเอาคำพูดของพระอาจารย์ไปแก้ไข ไม่ใช่ว่าไอ้นั่นโดน ไอ้นี่โดน ไม่ใช่กูโดน แล้วกูก็ลอยลำชั่วต่อไป

เถรี
09-08-2015, 12:51
พระอาจารย์กล่าวว่า “พอเลิกจากการปฏิบัติ จะยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำ ต้องรักษากำลังใจให้ทรงตัวได้เหมือนกับตอนที่เรานั่งปฏิบัติอยู่ ไม่อย่างนั้นแล้วอาตมาเคยเปรียบเทียบว่า เหมือนเราว่ายทวนน้ำมา แล้วก็ปล่อยไหลตามน้ำไป ถึงเวลาก็ว่ายทวนน้ำขึ้นมาใหม่ แล้วก็ปล่อยไหลตามน้ำไปอีก กลายเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ผลงานไม่มี เพราะว่าไหลไปเมื่อไรก็ไปแค่เดิม หรืออาจจะไปไกลกว่าเดิมเสียอีก

เรื่องของการปฏิบัติห้ามประมาทอย่างเด็ดขาด ประมาทเมื่อไรเราก็ไม่สามารถที่จะก้าวล่วงจากกองทุกข์ได้ ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ก็แค่เสมอตัว ต้องทุกข์ยากลำบากเช่นเดิม แต่ถ้าลงไปเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เราก็ขาดทุนย่อยยับ ถ้าเราตกนรกเมื่อไรไม่ได้แปลว่าโทษจะมาแค่ชาตินี้ แต่ของเก่ามีเท่าไรก็จะถูกทบดอกทบต้นจนหมด ก็แปลว่าเราอาจจะโชคดี ผ่านนรกไม่รู้กี่ขุมต่อกี่ขุม กว่าจะหลุดขึ้นมา เศษกรรมจะทำให้ต้องมาเป็นเปรตจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ลำบากลำบนกว่าที่จะหลุดมาอยู่ในแดนอสุรกาย กว่าจะหลุดมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเท่าจำนวนที่เราฆ่าไว้ ฆ่า ๑ ชีวิตเกิดใช้หนี้ ๑ ชาติ ฆ่า ๒ ชีวิตเกิดใช้หนี้ ๒ ชาติ อาตมาเองฆ่ามานับไม่ถ้วน เกิดเมื่อไรซวยเมื่อนั้น

ดังนั้น..เราต้องระมัดระวังรักษากำลังใจให้ดี ไม่อย่างนั้นจะห่างไกลความดีไปมาก แล้วไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีพระพุทธศาสนาอีก ในเมื่อเราไม่รู้ การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เกิดหรือไม่ แล้วจะได้พบพุทธศาสนาหรือเปล่า เพราะฉะนั้น..เกิดมาชาติหนึ่งอย่าให้เสียชาติเกิด อย่าให้คนเขากล่าวว่านับถือพุทธศาสนาเสียเปล่า แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนาเลย”

เถรี
10-08-2015, 09:36
พระอาจารย์กล่าวว่า "ถ้าเกิดมาใหม่ ๆ ตีเสียว่าชาติแรก ๆ บอกว่าให้ทานนี่ตัดใจไม่ขาดหรอก ต้องให้กันไปนาน ๆ จนชิน กว่าที่จะตัดใจให้ได้ทุกเวลา พอบอกว่ารักษาศีลก็ไม่ไหวอีก กว่าจะรักษาศีลได้ก็ต้องตายแล้วตายอีก เกิดแล้วเกิดอีกจึงจะสามารถรักษาศีลได้ครบถ้วน บอกให้ภาวนาก็ไม่เอาอีก ดังนั้น..กว่าเราจะมาถึงในระดับนี้ ต้องเกิดกันมาจนนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ควรที่จะพอได้หรือยัง ? หรือจะเอาอีกสักชาติ ? เหมือนกับ "ชินจัง" ถึงเวลาก็ลองอีก "จิ๊ด" หนึ่ง

ต้องดูตัวอย่างพระสีวลีอายุ ๗ ปีกับ ๗ วัน ปกติแล้วเด็กจะอยู่ในท้องแม่ ๑๐ เดือน ๑๒ เดือน อาตมาเคยเจอเด็กอยู่ในท้องแม่ ๑๒ เดือน คงจะนอนสบายเลยไม่อยากออกมา โบราณบอกว่า ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ แม่จะตั้งท้อง ๑๐ เดือนถ้วน ไม่อย่างนั้นแล้วก็มีทั้งเกิดก่อน ๑๐ เดือนและเกิดหลัง ๑๐ เดือน มีผู้หญิงอยู่คนหนึ่งตั้งท้อง ๑๘ ปี คลอดลูกออกมาเป็นหิน คำว่าหินก็คือมีลักษณะเป็นลูกกรอก คราวนี้ในเมื่อลูกไม่ได้โตขึ้น แม่ก็ไม่ได้กระตือรือร้น ปล่อยไปเรื่อยเปื่อยจนกระทั่งเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคกระเพาะอาหารไปให้หมอเอ็กซเรย์ เจอลูกอยู่ในท้อง ไล่ไปไล่มาบอกว่าท้องมา ๑๘ ปีแล้ว ผ่าออกมากลายเป็นหินเลย

แต่ในประวัติศาสตร์ คนที่ท้องนานที่สุดคือแม่ของเหลาจื๊อ ปรมาจารย์ลัทธิเต๋า ท้องอยู่ ๘๐ ปี ในเรื่องของบุญและกรรมส่งผลนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามิควรคิด ผู้ใดคิดมีส่วนของความเป็นบ้า อุมมัตตโก ภาโค แปลว่า ส่วนของความเป็นบ้า ตำราบอกว่าแม่ของเหลาจื๊อตั้งท้อง ความลำบากสักน้อยก็ไม่มี อากาศที่บ้านอุ่นสบายเหมือนฤดูใบไม้ผลิอยู่ตลอดทั้งปีทั้งชาติ วันตั้งท้องครบ ๘๐ ปีแม่ออกไปเดินชมสวน เอื้อมมือจะไปเด็ดดอกไม้ สีข้างขาดแคว่ก..! ลูกหล่นพลั่กออกมา..เป็นตาเฒ่าอายุ ๘๐ ปี แม่ยังสาวพริ้งอยู่เลย ที่เขาเรียกว่าเหลาจื๊อแปลว่าไอ้เฒ่า เกิดมาก็แก่เลย"

เถรี
10-08-2015, 09:40
"สถิติรองลงมาก็พระสีวลี ๗ ปีกับ ๗ วัน ไม่มี ๗ เดือนนะ พวกเรามักจะเพลิดเพลินเจริญใจ ใส่ไปว่า ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วันไปเรื่อยเปื่อย แม่ท้องอยู่ ๗ ปี ปวดท้องคลอดอยู่ ๗ วัน เขาบอกว่าอาการปวดท้องของผู้หญิงที่จะคลอดลูกนั้น เหมือนกายจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ อาตมาก็ไม่เคยท้อง ถึงเคยก็จำไม่ได้แล้ว

พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดานอนเหงื่อแตกพลั่ก ๆ แต่ไม่ร้องสักแอะเดียว หมอตำแยถามว่า “พระแม่เจ้าเป็นอย่างไรบ้าง ?” สิ่งที่หลุดออกมาคนได้ยินแล้วตะลึง พระนางหลุดปากออกมาว่า “โอหนอ..พระพุทธเจ้าทรงสอนเรา เพื่อให้พ้นจากความทุกข์เห็นปานนี้หนอ โอหนอ..พระธรรมของพระพุทธเจ้า ช่วยให้เราล่วงพ้นจากความทุกข์เห็นปานนี้หนอ โอหนอ..พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า สั่งสอนเราให้ก้าวล่วงพ้นจากความทุกข์เห็นปานนี้หนอ” ตกลงว่าปวดได้ปวดไป พระนางยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เพราะเห็นทุกข์ชัดเจนมาก

แต่ก็เป็นเรื่องแปลก เพราะว่าพอคลอดออกมาลูกก็โตเท่าอายุ ๗ ขวบเลย พระราชาสั่งเลี้ยงฉลอง นิมนต์พระมาเจริญพุทธมนต์ สีวลีราชกุมารเกิดมา ๗ ขวบกับ ๗ วัน ประเคนของได้ ฟังเป็นนิทานเลยนะ พระสารีบุตรก็ถามว่า “เป็นอย่างไรราชกุมาร อยู่ในท้องแม่สบายดีหรือไม่ ?” พระสีวลีตอบว่า “สบายดีอย่างไรเล่าพระคุณท่าน เหมือนอย่างกับโดนนึ่งในหม้อนึ่งอยู่ตลอดเวลา” ทั้งร้อน ทั้งอึดอัด คับแคบ ปวดเมื่อย พลิกตัวไปไหนก็ไม่ได้ พระนางสุปปวาสาได้ยินลูกสามารถตอบโต้กับพระสารีบุตร ที่ถือว่าเป็นอัครสาวกที่เลิศด้วยปัญญาในลักษณะนั้นได้ก็ดีอกดีใจ ยิ้มหน้าบาน

พระพุทธเจ้าถามว่า “สุปปวาสา บุตรชายเห็นปานนี้ยังต้องการอีกหรือไม่ ?” พระนางสุปปวาสา ทั้ง ๆ ที่ปวดท้องแทบตายเมื่อครู่ ตอบว่า “อยากได้อีก ๗ คน” ...(หัวเราะ)... ตอนปวดแทบตาย น่าจะเข็ด พอเห็นลูกออกมาเก่ง อยากได้อีก ๗ คน ลืมความปวดไปเลย

พระสารีบุตรถามว่าเมื่อ เห็นทุกข์ขนาดนี้แล้วจะบวชไหม ? สีวลีราชกุมารตอบว่า ถ้าพ่อแม่อนุญาตก็จะบวช พระราชาและพระมเหสีได้ยินก็ดีอกดีใจ อนุญาตให้บวชได้ ในอรรถกถากล่าวว่า เพียงมีดโกนจรดศีรษะครั้งที่ ๓ พระสีวลีก็บรรลุอรหัตผล ทนทุกข์มา ๗ ปีกับ ๗ วัน พอโกนหัวครั้งที่ ๑ ก็อนิจจังหนอ โกนหัวครั้งที่ ๒ ก็ทุกขังหนอ โกนหัวครั้งที่ ๓ ก็อนัตตาหนอ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย บริหารสั่งการไม่ได้สักอย่าง ถึงเวลาจะแก่ก็แก่ ถึงเวลาจะป่วยก็ป่วย ห้ามไม่ได้เลย

เถรี
10-08-2015, 09:42
"พวกเราก็รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กันทุกคน จะบรรลุวันนี้ไหม ? อาตมาจะได้อาศัยใบบุญบ้าง ญาติโยมบรรลุกันเยอะ ๆ อาตมาจะได้อาศัยเกาะหลังไปด้วย

ที่กล่าวมาเพื่อที่จะบอกกับพวกเราว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการสั่งสมบารมีมาชาติแล้วชาติเล่า ทำกันมาจนนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาเริ่มทำ ถ้ามาเริ่มทำก็ไม่มีใครทำได้แบบนี้หรอก อาตมาขอยืนยัน เพราะว่าบารมีหรือกำลังใจไม่เข้มแข็งพอ เราจะสังเกตว่าบางท่านนั่งแบบทุกข์ทรมานมาก เมื่อไรจะหมดเวลาสักที ลืมตาแล้วลืมตาอีก ขยับแล้วขยับอีก แต่ว่าหลายท่านก็นั่งนิ่งเงียบไปเลย หลับหรือสมาธิทรงตัว ? น่าจะหลับนะ..โดยเฉพาะตอนช่วงบ่าย ๆ นี่น่าจะหลับกันดี"

เถรี
12-08-2015, 11:33
"ในเมื่อเป็นเรื่องของบุคคลที่เป็นปรมัตถบารมี คือกำลังใจขั้นสุดยอดถึงสามารถทำได้ แปลว่าเราทั้งหลายเป็นบุคคลที่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขา แปลกแยกจากสังคม เขาไปเที่ยวกันจนกรุงเทพฯ ร้างเลย

เมื่อเช้าเขาส่งรูปมาให้ดู หมานอนอยู่บนถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งอนุสาวรีย์ฯ มีรถอยู่ ๓ คัน นาน ๆ ทีหมาก็เลยไปนอนเต๊ะจุ๊ยอยู่กลางถนน เขาไปเที่ยวกันจนกรุงเทพฯ ร้าง แต่พวกเรามาปฏิบัติธรรม ในเมื่อเราแปลกแยกจากสังคมขนาดนี้ ใครเขาว่าบ้าก็ทน ๆ เอาเถอะ ยอมบ้ากับเขาชาติหนึ่ง ถ้าหลุดพ้นไปได้ก็เป็นอันว่าจบ ถ้าหลุดพ้นไม่ได้ เส้นทางของเราก็สั้นกว่าคนอื่นเขา

โบราณท่านบอกว่า “คนอื่นขี่ม้าอย่าไปอิจฉา เราขี่ลาดีกว่าคนเดินเท้าตั้งเยอะ” ม้าวิ่งเร็ว ขี่ลาได้แต่เดินก๊อก ๆ ไปเรื่อย ส่วนคนไม่มีอะไรจะขี่เลยไม่ว่า ยังไม่ได้เริ่มเดินทางอีกไม่รู้ตั้งเท่าไร เพราะฉะนั้น..ควรจะภูมิใจว่าเราเริ่มต้นมาไกลมากแล้ว นึกย้อนหลังไปสมัยก่อน ศีลสักสิกขาบทหนึ่งก็ไม่มี มาในสมัยนี้ของเราศีล ๕ ก็รักษาได้ อยู่ระหว่างปฏิบัติธรรมก็รักษาศีล ๘ ด้วย ความก้าวหน้ามีอยู่เห็น ๆ เพียงแต่ว่าบางทีเราตั้งเป้าไกลเกินไป จะเอามรรคผลจะเอาพระนิพพานเลย เมื่อยังไม่ถึงก็รู้สึกท้อใจทำไมไม่ได้สักที ไม่รู้ว่าเราเข้าใกล้ไปตั้งเท่าไรแล้ว

ต้องดูตัวอย่างชาวทิเบต เช้า ๆ ไปสวดมนต์ เดินทักษิณาวัตรรอบพระเจดีย์ ๑๐๘ รอบ ของเรารอบโบสถ์ ๑๐๘ รอบไหวไหม ? เขาทำอย่างนั้นกัน เดินสวดมนต์รอบพระเจดีย์ ๑๐๘ รอบ เสร็จแล้วก็ไปทำงาน เลิกงานตอนเย็นกลับมาเดินสวดอีก ๑๐๘ รอบ แล้วค่อยกลับบ้าน เดินไปมือหนึ่งหมุนกงล้อมนต์ไป หรือนับลูกประคำไป เขาว่านับลูกประคำเม็ดหนึ่งก็ใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หมุนกงล้อมนต์รอบหนึ่งก็ใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง ของเราเองก็ใช้วิธีนับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าออกคู่หนึ่งก็ใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจเข้าออกสองคู่ก็ใกล้พระนิพพานไปสองก้าว ต้องทำให้ได้อย่างเขา"

เถรี
12-08-2015, 11:45
"พม่า..เพื่อนบ้านเรือนเคียงของเรา ก่อนจะไปทำงานชาวบ้านก็เข้าวัด ทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ อาตมาไปนั่งดู สาว ๆ แต่งตัวทันสมัยไปนั่งหลับตาภาวนาชักลูกประคำ อาตมาตั้งใจดูว่าเขาจะนั่งได้นานเท่าไร ปรากฏว่า ๒ ชั่วโมงผ่านไปแท็กซี่บอก “อาจารย์..เดี๋ยวไม่ได้ไปที่อื่นหรอก” อาตมาก็เลยต้องไปเอง จะดูว่าเขานั่งได้นานเท่าไร ๒ ชั่วโมงผ่านไปอาตมาต้องไปเอง สวดมนต์ทำวัตรเสร็จเขาก็ไปทำงาน เลิกงานก็เข้าวัด สวดมนต์ทำวัตรเสร็จค่อยกลับบ้าน

บ้านใครอยู่ไกลวัดใช้วิธีเปิดเทปเสียงสวดมนต์ โดยเฉพาะอภิธรรม ๗ บท เขาชอบกันจริง ๆ เดี๋ยวไว้มีโอกาสอาตมาจะทำวัตถุมงคลสักรุ่นหนึ่ง ใช้พระอภิธรรม ๗ บทนี่แหละ แต่เป็นบท “เหตุปัจจะโย” เขาเรียกว่า ๒๔ ปัจจ์ เพราะว่าลงท้ายด้วยคำว่าปัจจะโย ที่แปลว่าสาเหตุหรือปัจจัยทั้ง ๒๔ อย่างด้วยกัน ทางด้านพม่าเขาถือว่าช่วยคุ้มครองป้องกันได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ทั้งกลางวันกลางคืน ปัดให้ตลอด เดี๋ยวมีโอกาสแล้วจะทำดู

บ้านอยู่ไกลวัดเปิดเสียงสวดมนต์ทำวัตรในบ้าน ลูก ๆ ก่อนจะไปโรงเรียนมากราบแม่ แล้วไปกราบพ่อ ขอโอวาทว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เสร็จแล้วก็ไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียนมากราบพ่อกราบแม่ แล้วค่อยไปอาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลา ทำการบ้าน เสร็จแล้วก็มานั่งสวดมนต์ ไปโรงเรียนถึงเวลาสวดมนต์ก่อนแล้วค่อยร้องเพลงชาติ บ้านเราร้องเพลงชาติก่อนถึงสวดมนต์ แสดงว่าเรารักชาติมากกว่า ส่วนเขารักศาสนามากกว่า เด็กสวดมนต์ยาวมากเลย ถ้าเป็นบ้านเราก็ประมาณ อิติปิ โสฯ ๓ จบประมาณนั้น

อาตมาไปพม่าด้วยความตั้งใจว่าเรามาจากที่เจริญ ถ้ามีอะไรพอที่จะช่วยเหลือบอกกล่าวเกี่ยวกับเรื่องพุทธศาสนาก็จะช่วย พอไปเจอบ้านเขาอับอายขายหน้าจนพูดไม่ออก บ้านเขาทุกคนต้องไปวัด หนังพม่าทุกเรื่อง พระเอกนางเอกถ้ารักกันต้องไปไหว้พระ ต้องมีฉากเข้าวัด ไม่มีนี่เขาไม่ดู บางเรื่องก็มักง่าย เดินเรื่องในวัดไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยว ๆ ก็เข้าวัด เขาไปวัดเหมือนบ้านเราไปเดินห้าง ส่วนบ้านเราเดินห้างดีกว่า ไม่ไปวัดกันหรอก"

เถรี
13-08-2015, 10:50
"บ้านเขาไปวัดเหมือนบ้านเราไปเดินห้าง ก็เลยอับอายขายหน้าจนไม่รู้ว่าจะสอนอะไรเขา ได้แต่เก็บกลับมาให้บ้านเรา ถึงเวลาก็บอกกล่าวบรรดาลูกศิษย์ลูกหาให้รู้ว่า ที่อื่นเขาจริงจังกว่าเราเยอะ บ้านเราใส่บาตร พระก็เมตตาบอก “โยมถอดรองเท้าใส่บาตรสิ” โยมถามว่า “จะดีหรือเจ้าคะ” อ้าว..ดีสิ ใคร ๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น โยมก็เลยถามอีกว่า “แล้วท่านจะรับข้างไหนดีคะ ?” โอ้พระเจ้า..!

ไปดูประเทศลาว ที่หลวงพระบาง เวลาเณรเดินมาร้อยกว่าสองร้อยรูป คนลาวคุกเข่าใส่บาตร ส่วนพวกเราเองถอดรองเท้ายังไม่ถอดเลย บอกให้ถอดรองเท้ายังถามว่าจะรับข้างไหน แต่คนลาวคุกเข่าใส่บาตร แล้วตกลงว่าเราจะสู้ใครได้ ? คนพม่านี่เดินเข้าประตูวัดก็ถอดรองเท้าแล้ว เดินถือไป ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวก็มีถุงให้ใบละ ๑๐ จั๊ต ใส่รองเท้าแล้วหิ้วไป อาตมาไปใหม่ ๆ ก็ เออ..พวกนี้ไม่มามือเปล่าเว้ย มีข้าวของมาถวายพระกันทุกคนเลย ถือมาคนละถุง ดูไปดูมา อ้าว..รองเท้านี่หว่า..! เขาถอดรองเท้าตั้งแต่ประตูวัด

ของเรานะหรือ ? เมื่องานถวายพระเพลิงสมเด็จพระพี่นางฯ ข้าราชการทั้งอำเภอใส่รองเท้าเข้าโบสถ์ เอาธรรมเนียมที่ไหนมา ? ถ้ารู้ตัวโปรดอย่าทำ เป็นการสร้างเวรสร้างกรรมให้ตัวเองแท้ ๆ เลย สภาพจิตหยาบขนาดนั้น ขนาดพระพุทธเจ้านั่งอยู่ยังใส่รองเท้าเดินย่ำโครม ๆ เข้าไปได้"

เถรี
13-08-2015, 10:52
"อาตมาไปเทศน์ที่โรงเรียนนาคประสิทธิ์ เป็นโรงเรียนเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอสามพราน นักเรียนห้าพันกว่าคน พอนั่งลงก็บอกบรรดาครูบาอาจารย์กับนักเรียนว่า “ถ้าบอกอะไรแปลก ๆ สักอย่างหนึ่ง โปรดรับฟังและทำตามด้วยนะ ขอให้ถอดรองเท้าก่อน เพราะพระพุทธเจ้าห้ามพระเทศน์ให้คนใส่รองเท้าฟัง ถือว่าเขาไม่เคารพในธรรม” ทุกคนยอมถอดรองเท้าแต่โดยดี ก็แปลว่าสำคัญที่พระเราต้องนำ ต้องบอกให้เขารู้ ไม่ใช่ปล่อยให้ใส่รองเท้าเข้าโบสถ์

ขณะที่บ้านใกล้เรือนเคียงของเราไม่ใช่แค่ถอดรองเท้าใส่บาตร แต่คุกเข่าใส่บาตร ถอดรองเท้าตั้งแต่ปากทางเข้าวัด ของเขาเคร่งครัดกว่าเรามาก ส่วนคนไทยของเราไปถึงก็ใส่บาตรกันอีรุงตุงนังหมด พระในหลวงพระบางนี่เบื่อคนไทยสุด ๆ ใส่ทุกอย่างที่ขวางหน้า คนลาวเขาใส่แค่ข้าวเหนียว กับข้าวเขาใส่ปิ่นโตหิ้วไปส่งที่วัดทีหลัง ของเราเองมีทุกอย่างใส่ลงไป ชาเขียว น้ำเต้าหู้ กาแฟกระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง มีอะไรใส่ไปตะบันราด คราวนี้พระเณรของเขาไม่เคย ถ้าเห็นถือของพะรุงพะรังมายืนค้ำหัวพระเณรนี่ มั่นใจได้เลยว่าคนไทย กลายเป็นสัญลักษณ์ไปแล้ว บ่นมากไปก็ไม่ดี ตั้งใจจะคุยเรื่องดี ๆ กลายเป็นนินทาคนไปได้"

เถรี
14-08-2015, 10:55
พระอาจารย์กล่าวว่า "เรื่องการปฏิบัติ พอรู้วิธีแล้ว ของยากก็เป็นของง่าย ค่อย ๆ ทำไป ในส่วนที่จะบอกกับญาติโยม ก็คือ ถ้าเราค่อย ๆ สะสมไปทีละเล็กละน้อยโดยที่ไม่ทิ้ง สิ่งต่าง ๆ ที่เราจะพึงรู้พึงเห็นก็เป็นเรื่องปกติ แต่รู้เห็นแล้วมักจะเสียมากกว่าดี

ที่ว่าเห็นแล้วมักจะเสียมากกว่าดี ก็เพราะว่าเราไม่รู้หนักไม่รู้เบา บางอย่างรู้แล้วพูดไม่ได้เราก็พูด บางอย่างรู้เป็นร้อย พูดได้ไม่เกินสิบ เราก็ไปพูดจนเต็มร้อย ก็แปลว่ากำลังจะหาเรื่องเดือดร้อนเอง ถ้าใช้คำพูดของหนังจีนกำลังภายในก็บอกว่า "ท่านกำลังฝืนลิขิตฟ้า เปิดเผยความลับของสวรรค์"

ฉะนั้น..การรู้เห็นจึงเสียมากกว่า ยิ่งรู้เห็นชัดเจนเท่าไรก็ยิ่งโดนหลอกได้ง่าย เพราะจะมีการทดสอบ แล้วเขาไม่บอกด้วยว่าเป็นการสอบ ถึงเวลาก็มาเลย คราวนี้ทุกคนจะมีจุดอ่อนตรงที่ว่า “เพราะเราเห็น..เราจึงเชื่อ” คนอื่นพูดอะไรก็ไม่ฟัง เพราะเห็นด้วยตัวเอง จุดนี้แหละที่จะโดนหลอกง่ายที่สุด อาตมาเคยเปรียบเทียบว่า เห็นเขาไล่ยิงไล่ฟันกันมา เราก็ลากมีดลากปืนไปช่วย จะโดนเขากระทืบตาย..เพราะเขากำลังถ่ายหนังกันอยู่ เราเห็นจริง ๆ ใช่ไหมว่าเขาไล่ยิงไล่ฟันกันมา ? ก็เห็นจริง แล้วเรื่องที่เราเห็นจริงไหม ? ไม่จริง เพราะเขาถ่ายหนังกันอยู่ ตรงจุดนี้แหละที่เขาจะหลอกเราได้

ในเมื่อเราเห็น เราเชื่อ คนอื่นเตือนก็จะไม่ฟัง มักจะโดนลากให้หลงทางไปได้ง่าย ดังนั้น บางสำนักเขาถึงมีนิพพานขาว นิพพานดำยุ่งไปหมด เรื่องพวกนี้ถ้าไม่รู้จักยั้งใจตนเอง มีแต่อธิโมกขศรัทธา คือน้อมใจเชื่ออย่างเดียว ก็จะเกิดผลเสียแก่ตนเอง แล้วไปติดอยู่แค่ตรงนั้น"

เถรี
14-08-2015, 10:58
"หลายท่านถามว่า ทำไมอาตมาไม่สอนมโนมยิทธิ ? อาตมาก็บอกไปตรง ๆ ว่า ที่ไม่สอนเพราะกลัวลูกศิษย์จะติดอยู่แค่นั้น เนื่องจากว่ามโนมยิทธินั้น จริง ๆ แล้วหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านต้องการให้ทุกคนรู้จักพระนิพพาน ไปพระนิพพานได้ แต่ปรากฏว่าพอได้มาแล้วมักจะไปใช้ผิด มักจะไปดูว่าคนนั้นเป็นอย่างนั้นกับเรา คนนี้เป็นอย่างนี้กับเรา แค่ดูอย่างเดียวแทนที่จะเข็ด ว่าทุกชาติเกิดมาก็มีแต่ความทุกข์อย่างนี้ กลับไม่เข็ด ดันไปฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ แทนที่จะรอดจากวัฏสงสาร ก็กอดคอกันจมตายทั้งพรวน

อาตมาโง่มาก่อนมาก่อนหลายปี ก็เลยมาคิดว่าขนาดอาจารย์ยังโง่อย่างนี้ ถ้าลูกศิษย์เรียนต่อจะโง่กว่าขนาดไหน จึงตัดใจไม่สอนดีกว่า แต่ถ้าใครเรียนสายนี้มาโดยตรงแล้วติดขัดตรงไหน ให้มาสอบถามได้ จะชี้แจงแถลงไขให้ฟังได้ทุกอย่าง คาดว่าในปัจจุบันนี้เรื่องมโนมยิทธิ อาตมาท้าชนได้ทุกรายในประเทศไทย เพราะตอนสมัยอยู่วัดท่าซุงเป็นกระบี่มือวางอันดับหนึ่ง มีการซักซ้อมอยู่ตลอดเวลา ตอนบิณฑบาตก็ซ้อมดูว่า วันนี้ใครจะใส่บาตรเป็นคนแรก ผู้หญิงหรือผู้ชายใส่เสื้อผ้าสีอะไร มาเป็นคณะหรือมาเดี่ยว

สมัยที่ฝึกใหม่ ๆ หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านให้ไปนั่งข้างถนน ถ้าอยากรู้ให้ไปถามเจ๊นี้ (สุมาลี ตรีเลิศพานิช) นั่นเขาอยู่เป็นกองเชียร์ ถึงเวลาไปนั่งข้างถนน เสียงรถวิ่งมาให้กำหนดใจถามว่ารถสีอะไร ถ้าตอบถูกให้จำอารมณ์นั้นไว้ ถ้าตอบผิดไม่ต้องจำ ถ้าตอบถูกบ่อยเข้า ๆ สัก ๘ ใน ๑๐ คัน เราจะจำได้ว่าวางอารมณ์ใจอย่างไรจึงถูก ก็ให้เพิ่มรายละเอียดว่ารถมาสีอะไร คนนั่งมากี่คน ถ้าถูกสัก ๘ ใน ๑๐ ก็เพิ่มอีกว่า รถมาสีอะไร คนนั่งมากี่คน ผู้หญิงเท่าไร ผู้ชายเท่าไร แล้วต่อไปก็ใส่เสื้อผ้าสีอะไรบ้าง พริบตาเดียวเราจะรู้ครบถ้วนแต่อธิบายนานมาก เพราะรายละเอียดเราจะรู้ครบ รู้มากจริง ๆ

ท้ายสุดกระทั่งหมายเลขทะเบียนอะไรก็บอกได้ แล้วโปรดทราบ อย่าให้มีกองเชียร์อย่างอาตมา เพราะว่าพอตอบถูกจะมีเสียงเฮแล้วก็ปรบมือชอบใจกัน ถ้าสมาธิไม่ดีก็พังหมด ในเมื่อฝึกมาลักษณะอย่างนี้ เลยทำให้แม่นในเรื่องของมโนมยิทธิ แต่ที่ต้องเลิกไปเพราะว่าโดนหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านสั่งห้าม ท่านห้ามอยู่ ๒ เรื่องคือ ห้ามให้หวย เพราะว่าไปเผลอให้เขาถูกกันหลายงวด

แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คือคนตายแล้วไปไหน ท่านว่าอย่าบอก..เพราะว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี ในมหากัมมวิภังคสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่ทำชั่วในอดีต ทำดีในปัจจุบันไม่แน่ว่าจะไปดี บุคคลที่ทำชั่วในอดีต ทำชั่วในปัจจุบัน ไปไม่ดีแน่นอน บุคคลที่ทำดีในอดีต ทำชั่วในปัจจุบัน ไม่แน่ว่าจะไปชั่ว บุคคลที่ทำดีในอดีต ทำดีในปัจจุบัน ไปดีแน่นอน"

เถรี
14-08-2015, 11:01
"คราวนี้เราดูแต่ปัจจุบันว่าเขาทำชั่วมาตลอด แต่อดีตเขาเคยทำดีไว้อย่างมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร พอถึงเวลาความดีมาสนองก็ไปรับผลความดีก่อน คนก็จะเห็นผิดเป็นชอบ เหมือนกับขี้เมาที่ไปนอนอยู่ใต้ธรรมาสน์ หลับไม่รู้เรื่องมาตื่นเอาตอนพระเทศน์ว่า “การฆ่าสัตว์ก็ดี การลักทรัพย์ก็ดี การประพฤติผิดในกามก็ดี การดื่มสุราเมรัยก็ดี” เจ้านั่นยกมือสาธุแล้วไปเลย ก็ได้ยินว่าดีทุกอย่าง พระท่านยังไม่ทันจะสรุปเลยว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะพาให้ตกนรก"

เถรี
15-08-2015, 07:23
"เรื่องพวกนี้ก็เลยทำให้อาตมาเห็นโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะว่าคนเรามักจะหักห้ามใจไม่เป็น ในเมื่อหักห้ามใจไม่เป็น ถึงเวลารู้ก็มักจะทุ่มเทเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเพื่อนสหธรรมิกรายหนึ่ง รู้แล้วทุ่มใจเชื่อเกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดอาตมาต้องจับไปส่งเข้าโรงพยาบาลเลย แต่โรงพยาบาลก็เอาไม่อยู่

เนื่องจากว่าสมัยที่อยู่วัด ถ้าไม่ใช่อาตมาแล้วไม่มีใครจับเขาได้ เขาหนีเข้าไปขังตัวเองอยู่ในโบสถ์ ญาติพังประตูเข้าไป เขาเดินทะลุข้างฝาออกไปเฉยเลย แล้วญาติจะทะลุกำแพงตามไปได้อย่างไร ? อาตมาจับตัวได้เรียบร้อย พอส่งไปถึงมือหมอ กำชับอย่างดีเลย “หมอ..ระวังสุดชีวิตเลยนะ เผลอเมื่อไรเขาจะหนีทันที” หมอบอกว่า “ผมยังไม่เคยเจอคนไข้ที่ไหนเขาเก่งกว่าผมเลยครับ” อีกครึ่งชั่วโมงโทรมา “อาจารย์ครับ..เขาหนีไปแล้วครับ” ประตู ๔-๕ ชั้นไม่มีความหมายเลย เพราะเขาสามารถเดินผ่านไปเฉย ๆ ได้ทุกชั้น

อาตมาไปดูสิ่งที่เขาบันทึกเอาไว้ จึงเห็นว่ามารหลอกวิธีไหน เช่นว่า “วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ วันนี้พระมาบอกว่าวาระแห่งมรรคผลมาถึงแล้ว ให้ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติให้มากไว้ นักปฏิบัติที่ดีต้องกินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ปฏิบัติให้มาก ยิ่งทุ่มเทมากเท่าไรโอกาสที่จะได้มรรคผลก็มีมากเท่านั้น” มีอะไรผิดไหม ? ถ้าเผลอจะคิดว่าไม่ผิดเลย ของผิดอยู่ตอนท้าย ที่ว่าทุ่มเทเท่าไรได้ผลเท่านั้น พ่อเจ้าประคุณก็เลยไม่ยอมนอน ๒ เดือนเต็ม ๆ เดินจงกรมภาวนาอยู่ตลอด ถ้าไม่ใช่ทรงฌานได้คงตายไปนานแล้ว

นี่คือการเห็นสหธรรมิกโดนหลอกขนาดนั้น แล้วทุกวันนี้เขาก็ไม่ยอมโผล่หน้ามาหาอาตมาอีกเลย เพราะกลัวโดนจับไปส่งโรงพยาบาล เป็นที่น่าเสียดายเหมือนกัน นั่นคือลักษณะของการเห็นแล้วเชื่อ เชื่อโดยไม่ยั้งใจไว้เลย"

เถรี
16-08-2015, 07:22
"สมัยอยู่วัดท่าซุง ถ้ามีพวก "เรือเกลือ" ก็คือ พวกมาสายพุทธภูมิ ถ้าหลวงพี่อาจินต์เอาไม่อยู่ ก็จะไปตามหลวงตาวัชรชัยมาช่วย ถ้าหลวงพี่อาจินต์ ทั้งหลวงตาวัชรชัยเอาไม่อยู่ ก็จะมาตามอาตมาไปช่วย ปรากฏว่ารายล่าสุดหลวงพี่อาจินต์มาถึงก็บอก “เล็ก..ทิ้งเวรพักหนึ่งสิ มีเรือเกลือมาอีกแล้ว” ถามว่าแล้วหลวงตาละครับ ? “หลวงตาเข็นมา ๒ วันแล้ว ไม่ไหวว่ะ ไปช่วยกันหน่อย” อาตมาก็โดดขึ้นรถไป ใช้เวลาสอนอยู่ ๒ ชั่วโมงครึ่งไปได้แค่พระจุฬามณี..! เพราะเขาเอารายละเอียดทุกขั้นตอน ขนาดเอาบันไดทีละขั้น คุณรู้ไหมว่าจุฬามณีบันไดกี่หมื่นขั้น ?

ปกติมโนมยิทธิแค่กำหนดใจนึกก็ถึงแล้ว เขาไม่ยอม เขาค่อย ๆ ไป “ตอนนี้เรากำลังออกจากโลกมนุษย์ไปสวรรค์” เขาถาม “เดี๋ยว ๆ ไปทางไหน ?” “กำหนดทิศประมาณทิศตะวันออกของโลก” ก็ค่อย ๆ ไป มารดาท่านเถอะ..! เหนื่อยฉิบหา..เลย เขาจะเอารายละเอียดมาก

พวกพุทธภูมิเขาไม่เหมือนพวกเรา ของพวกเราแค่เป็นสาวกภูมิ เราขึ้นบันไดบางทีมีกี่ขั้นยังไม่รู้เลย มีหน้าที่ขึ้นอย่างเดียว แต่พุทธภูมินี่เขาเอารายละเอียด บันไดกว้างยาวเท่าไร สร้างจากวัสดุอะไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ถึงขนาดเขาพร้อมที่จะสร้างบันไดเอง ฉะนั้น..ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้กับครูบาอาจารย์มาก ถึงได้บอกว่าถ้าอาตมาที่เป็นมือวางอันดับ ๑ ของวัดท่าซุงยังไปไม่รอด โดนเขาหลอกอยู่หลายปี พวกเราถ้าเรียนรู้แล้วก็โดนหลอกไปเรื่อย ๆ แล้วกัน อาตมาไม่อยากซ้ำเติมด้วยการสอนพวกเรา

ส่วนหลักการปฏิบัติที่ให้พวกเราเอาไว้ ตอนเช้า ๆ เวลามีไม่พอ ถ้าจะต้องการให้ปฏิบัติแบบละเอียดครบชุดจริง ๆ ต้องให้เวลาประมาณชั่วโมงถึงชั่วโมงเศษ แต่ว่าชั่วโมงเศษนั้นถ้าคนที่เคยอ่านตำรามาบ้าง บางทีช็อกตาค้าง เพราะอาตมาใส่กรรมฐาน ๔๐ กองไว้ครบเลย เกิดจากว่าเวลาทำไปแล้วเห็นว่ากรรมฐาน ๔๐ กองมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหมด

ญาติโยมอาจจะคิดว่า “มาครั้งนี้ก็อย่างนี้ มาอีกครั้งก็อย่างนี้ ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย” ที่เปลี่ยนแปลงคือตัวคุณเองไม่ใช่อาตมา ทำไปแล้วกาย วาจา ใจดีขึ้นไหม ? ทำแล้วสมาธิเราดีขึ้นไหม ? ทำแล้วกดกิเลสได้นานกว่าเดิมไหม ? ทำแล้วกิเลสลดน้อยลงไหม ? ทำแล้วหมดกิเลสอย่างไรบ้าง ? อยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ใช่อยู่ที่คนสอน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา แม้ตถาคตก็เป็นได้แต่เพียงผู้บอก ส่วนเราจะทำหรือไม่ทำไม่ใช่หน้าที่ของพระท่านแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้นอาตมาก็มีหน้าที่ตักน้ำรดหัวตอคอนกรีต ไม่หวังว่าจะงอกหรอก เอาแค่เปียก ๆ ก็พอ แต่ถ้าตอคอนกรีตนั้นเป็นตอเสาไฟฟ้าแล้วดันมีโคมอยู่ เปิดสวิทซ์เมื่อไรก็สว่างเองแหละ เอาเป็นว่าถ้ามีอารมณ์ก็จะลองนำยาว ๆ ดูสักที ถ้าไม่ขาดใจตายกันไปก่อน ก็จะได้หลักปฏิบัติเอาไปใช้ได้ตลอดชีวิตเลย"

เถรี
17-08-2015, 11:45
พระอาจารย์กล่าวว่า "การปฏิบัติธรรมของเราครั้งนี้ เรียกว่าไม่ค่อยจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องเพราะว่าวันอาสาฬบูชาและวันเข้าพรรษาเราก็มีกิจกรรมอื่น แต่ถ้าท่านรู้วิธีการปฏิบัติธรรมแล้ว เราก็สามารถจะทำได้อยู่ทุกอิริยาบถและทุกเวลา สิ่งที่ได้ไปจากที่นี่ ถ้าจดจำเอาไว้ได้ ให้ไปฝึกซักซ้อมบ่อย ๆ ท่านใดต้องการฤทธิ์ต้องการอภิญญา ให้ใส่ไปให้เต็มที่เลย ตามแบบที่อาตมาสอนไปเมื่อครู่นี้ ถ้าท่านสามารถทำได้อารมณ์ใจทรงตัวเมื่อไร ไม่ใช่อภิญญาเฉย ๆ แม้แต่ปฏิสัมภิทาญาณก็สามารถเข้าถึงได้ เนื่องเพราะว่าที่สอนนั้นก็คือกรรมฐานทั้ง ๔๐ กองเลย

ส่วนที่ยากที่อาตมาฝึกมาก็คือพรหมวิหาร ๔ และอรูปฌาน ๔ ก็แทรกอยู่ในนั้นแล้ว พรหมวิหารอาจจะชัดเจน แต่อรูปฌานให้ไปคลำดูว่าอาตมายัดไว้ตรงไหน ใครหาเจอมารับรางวัลได้..!

ในส่วนนี้ถ้าใครสามารถซักซ้อมและทำเอาไว้บ่อย ๆ กำลังใจจะทรงตัวมั่นคงได้เร็ว การแผ่เมตตาอย่าลืมเป็นอันขาด ไม่อย่างนั้นการปฏิบัติของเราจะรู้สึกว่าแห้งแล้ง ไม่มีอะไรให้น่ากระตือรือร้น แต่ถ้าหากว่าเราแผ่เมตตาเป็นปกติ จะรู้สึกจิตใจชุ่มชื่นเบิกบาน ทำเท่าไรก็ไม่เบื่อไม่หน่าย

โดยเฉพาะว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นต้น สิ่งที่เราทำควรจะมีคุณภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะพึงทำได้ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เราบอกว่าเราถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน ส่วนที่ถวายไปก็คงจะขาด ๆ เกิน ๆ เกินคงจะหายาก มีแต่ขาดมากกว่า

ท่านใดที่ยังรู้สึกว่าสิ่งที่ทำในวันนี้ยังไม่พอใจ กลับไปบ้านโปรดอย่าทิ้ง อย่ารอจนมีการปฏิบัติธรรมแล้วเราค่อยมาซักซ้อมปฏิบัติกัน ถ้ามัวแต่รอลักษณะอย่างนั้น งวดต่อไปกว่าที่จะปฏิบัติได้ก็เดือนกันยายน กิเลสจะฟัดเราตายเสียก่อน การปฏิบัติธรรมต้องทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาทีได้ยิ่งดี ถ้าถามว่าทำอย่างนั้นได้ด้วยหรือ ? อาตมายืนยันว่าได้ ถ้าสมาธิของเราทรงตัว สติจะทรงตัวโดยอัตโนมัติ สิ่งใดไม่ดีเข้ามาสติจะแยกแยะ สมาธิจะหยุดยั้งและปัญญาจะขับไล่ออกไปเอง"

เถรี
17-08-2015, 11:48
"ทันทีที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สติจะรับรู้ ถ้าไม่ดีก็ยั้งตนไว้โดยอาศัยกำลังสมาธิเป็นตัวห้าม แล้วก็กดกิเลสเอาไว้ หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของปัญญาว่าจะทำอย่างไร จะฆ่าให้ตายหรือว่าจะเมตตาปล่อยไปก็แล้วแต่เราจะกระทำกัน

ขอโมทนากับทุกท่านที่ได้ปฏิบัติในวันนี้ เราจะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วกิเลสเก่งมาก หลอกให้เราไปห้องน้ำได้ทุกครึ่งชั่วโมง แต่พอปฏิบัติยาว ๆ เข้าจริง ๆ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็แสดงว่าที่ผ่านมานั้นพวกเราโดนกิเลสหลอก การนั่งกรรมฐานของเราก็เหมือนกัน เรานั่งไปสักพักหนึ่งก็โอดโอยจะตายแล้ว..เลิกเถอะ ขอให้ลองฝืนดูหน่อย ถ้าฝืนแล้วจะขาดใจลงไปจริง ๆ แล้วค่อยเลิก แต่ถ้าฝืนแล้วไปต่อได้ แสดงว่าเมื่อครู่กิเลสเรียกร้อง ไม่ใช่เรา

ถึงเวลากิเลสเรียกร้องอะไร เราก็ตามใจกิเลสทุกอย่าง เพราะกิเลสอาศัยอยู่กับเรา เป็นส่วนหนึ่งของเรา พอถึงเวลากิเลสบอกว่าจะตายแล้ว เราก็ไปหลงประเด็นว่าที่จะตายคือเรา แล้วก็ไปหลงเชื่อ ปล่อยให้กิเลสรอดไปทุกที ถ้าอย่างนี้โอกาสที่เราจะก้าวหน้าในการปฏิบัติก็ไม่มี นักปฏิบัติจึงจำเป็นที่จะต้องเด็ดขาด แล้วก็เอาจริงเอาจัง ไม่เช่นนั้นมัวแต่รออยู่ว่าเมื่อไรจะมีการปฏิบัติธรรมแล้วเราค่อยไปเข้าร่วมปฏิบัติ ก็กลายเป็นเด็กหัดใหม่ทุกที ไม่มีอะไรที่เป็นของเก่าเหลือให้ชื่นใจได้เลย

หัดพิจารณาแบบพระบ้าง วันคืนล่วงไป ๆ เราทั้งหลายทำอะไรกันอยู่ ? คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ? เพื่อจะได้ไม่เก้อเขินเวลาเพื่อนสหธรรมิกไต่ถาม แล้วถ้าคุณวิเศษมีก็ระมัดระวังด้วย เผลอเมื่อไรจะโดนกิเลสหลอกอีก จึงขอฝากเอาไว้กับพวกเราว่า การปฏิบัติจำเป็นจะต้องจริงจังและสม่ำเสมอ ทำแล้วอย่าทิ้ง ถ้าทิ้งก็ต้องเริ่มต้นใหม่ทุกที กลายเป็นคนขยันแต่ไม่มีผลงาน ก็จะน่าสงสารมากเป็นพิเศษ"

เถรี
19-08-2015, 07:14
"ในสิ่งที่เราทำ ขอย้ำว่าต้องจริงจังและสม่ำเสมอ ทำแล้วต้องหวังผล ถ้าทำแล้วไม่รักษากำลังใจไว้ ถึงเวลาก็ต้องเริ่มต้นใหม่ แบบนี้เสียผู้เสียคนมาเยอะแล้ว หลายท่านเคยปฏิบัติดี ๆ แล้วปล่อยให้กำลังใจเสียไป กู้เท่าไรก็เอาคืนมาไม่ได้ ที่กู้เท่าไรเอาคืนมาไม่ได้เพราะเราไปอยากได้เท่าเดิม การที่เราปฏิบัติแล้วอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้กำลังใจไม่มั่นคง จัดอยู่ในส่วนของอุทธัจจะกุกกุจจะ ก็คือความฟุ้งซ่าน ในเมื่อยังฟุ้งซ่าน นิวรณ์ยังกินอยู่ โอกาสที่จะเข้าถึงอย่างเดิมก็ยาก

ฉะนั้น..ต่อไปให้เราตั้งหน้าตั้งตาภาวนา ส่วนจะได้หรือไม่ได้อย่างไรช่างมัน ถ้าทำกำลังใจอย่างนี้ก็จะเข้าถึงกันเร็ว ปกติแล้วหลังการปฏิบัติธรรมของเราจะเลิกรับศีล ๘ หันมารับศีล ๕ แทน แต่อาตมาขี้เกียจให้ เพราะว่าทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าศีล ๕ คืออะไร ให้ตั้งใจทำไปเลย การสมาทานศีลคือไปขอศีลจากพระ พระท่านก็จะบอกว่าศีลมีอะไรบ้าง แล้วเราก็นำไปปฏิบัติ ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าศีลมีอะไร ก็ไม่ต้องเสียเวลามาขอ ให้ปฏิบัติไปได้เลย

ถ้าใครรักษาศีล ๘ ไว้ได้ ก็เป็นการดี เพราะจะสนับสนุนการปฏิบัติของเราให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เนื่องจากตัดความห่วงลงไปได้มาก แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยศีล ๕ จะต้องมี เพื่อที่เราจะได้มีพื้นฐานของความดีที่จะช่วยสนับสนุน อย่างน้อย ๆ ถ้าหากว่าแย่จริง ๆ ตายไปก็ไม่หลุดจากความเป็นมนุษย์ คือศีล ๕ เขาเรียก มนุษยธรรม คือธรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเป็น หิริ โอตตัปปะ เรียกว่า เทวธรรม คือธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา ถ้าพรหมวิหาร ๔ เรียกว่า พรหมธรรม คือธรรมเป็นเครื่องอาศัยของพรหม

ฉะนั้น..ในเมื่อเรารู้แล้วว่าจะเกิดเป็นคนได้ต้องมีอะไร ก็ปฏิบัติตามกติกานั้นเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าสามารถปฏิบัติตามเทวธรรม พรหมธรรม ตลอดจนกระทั่งหลักธรรมที่ทำให้เราหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ก็ยิ่งเป็นการดี


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
โอวาทช่วงงานบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมวันอาสาฬหบูชา
วันที่ ๓๐ กรกฎาคม – ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)