PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘


เถรี
20-07-2015, 17:20
ให้ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอสติไปคิดเรื่องอื่น รู้สึกตัวเมื่อไร ให้ดึงความรู้สึกกลับมาที่ลมหายใจของเราเสียใหม่ จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ตามที่เราถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ จะขอกล่าวถึงการปฏิบัติกรรมฐานของพวกเรา ซึ่งการปฏิบัติกรรมฐานของพวกเรานั้น จำเป็นต้องหวังผล แต่ว่าการหวังผลในการปฏิบัตินั้น ต้องมี วิมังสา คือ การไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ว่าเราทำอะไร ? ทำไปถึงไหน ? ได้ผลมากน้อยเท่าไร ? ยังห่างเป้าหมายใกล้ไกลเท่าไร ? ยังมุ่งไปตรงจุดมุ่งหมายอยู่หรือไม่ ? เป็นต้น

ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้าไม่รู้จักย้อนกลับไปดูว่า การปฏิบัติแรกเริ่มของเราเป็นอย่างไร บางท่านอาจจะท้อใจ หมดกำลังใจ หรือกลายเป็นท้อถอย อยู่ในลักษณะของไฟหมด ไม่มีอารมณ์ที่จะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติแบบทุ่มเทอีก

เราจึงต้องดูย้อนหลังไปว่า ก่อนหน้านี้เรามีศีลครบหรือไม่ ? บางท่านอาจจะไม่มีศีลเลยสักข้อหนึ่ง ปัจจุบันนี้อาจจะรักษาได้โดยเด็ดขาด ๑ ข้อบ้าง ๒ ข้อบ้าง ๓ ข้อบ้าง ๔ ข้อบ้าง มีคนที่รักษาบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ทั้ง ๕ ข้อก็ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบดูว่าถ้าก่อนหน้านี้เราไม่มีศีลเลย ปัจจุบันนี้เรามีศีลข้อหนึ่ง ก็ถือว่ารักษาศีลได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีสองข้อก็ได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ สามข้อก็ได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สี่ข้อก็ได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้ารักษาได้ครบถ้วนห้าข้อก็มีศีลครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม

ถ้าอย่างนั้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ว่าการปฏิบัติของเราความจริงแล้วมีผล แต่ว่าเป้าหมายของเรา บางทีก็ยิ่งใหญ่และยาวไกลเกินไป ทำให้เราเดินทางแล้วเหมือนกับไม่รู้จักถึงจุดหมายสักที จึงอาจจะเกิดความท้อใจขึ้นมา

ก่อนหน้านี้เราสั่งสมาธิภาวนาได้เท่าไร ? บางทีหายใจเข้าไม่ทันจะหายใจออก ก็คิดฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่นเสียแล้ว ตอนนี้เราสามารถที่จะรักษาการภาวนาและลมหายใจเข้าออกของเราได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ครึ่งชั่วโมง บางท่านก็ได้เป็นชั่วโมงหรือหลาย ๆ ชั่วโมง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติของเรามีความก้าวหน้า แต่เราอาจจะใจร้อน ด้วยว่ามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ มีหนทางที่ยาวไกล ในเมื่อก้าวเท่าไรก็ไม่ถึงสักที ก็เกิดอาการท้อถอยขึ้นมา

เถรี
21-07-2015, 18:26
ดังนั้น..เราควรที่จะปฏิบัติกรรมฐานกองใดกองหนึ่งให้เกิดผลจริง ๆ ถ้าเราปฏิบัติแล้วเกิดผลจริง ๆ ก็จะเกิดความศรัทธา เชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้นไม่คลอนแคลน นั่นเป็นกติกาข้อแรกที่ทำให้เราก้าวสู่ความเป็นพระอริยเจ้า คือพระโสดาบัน

เมื่อปฏิบัติได้ผล ความมั่นใจมีมากขึ้น ความเคารพในพระรัตนตรัยแน่นแฟ้นมากขึ้น เราก็แค่มาทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล ถ้าอย่างนั้นเราก็ก้าวใกล้ความเป็นพระอริยเจ้าคือพระโสดาบันเข้าไปอีก ก็เหลือแต่ทำความรู้สึก ก็คือมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า ตัวเราจะต้องตาย ตายแน่นอน ตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี ล้วนแล้วแต่ต้องล้มหายตายจากกันไปหมด ชีวิตนี้มีความตายเป็นปกติ สัตว์โลกเกิดมาเท่าไร ก็ตายหมดเท่านั้น

เมื่อรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ก็ต้องกำหนดเป้าหมายในชีวิตว่าตายแล้วจะไปไหน ถ้าหากว่าอบายภูมิ ๔ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน หรือแม้กระทั่งมนุษย์ ก็เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเกิดอีก มีแต่คนที่อยากจะขึ้นไปด้านบน ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ชั้นดี มีความสุข ความสะดวกสบาย ถึงพร้อมไปด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค สมบูรณ์บริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติข้าทาสบริวาร ซึ่งหาได้ยาก เป็นเทวดาเป็นนางฟ้าเป็นพรหม มีความสุขอยู่ก็จริง แต่ถ้าหมดบุญเมื่อไรก็ต้องตกลงสู่อบายภูมิอีก เมื่อเป็นดังนี้ถ้าจะประกันความเสี่ยงด้วยประการทั้งปวง ก็มีดินแดนเดียวที่ไม่เกิดไม่ตาย ไม่ต้องมาทุกข์อีก นั่นคือพระนิพพาน

ในเมื่อทุกท่านทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นแฟ้น ทบทวนศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล รู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย ก็ให้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าถ้าเราตายขอไปพระนิพพานที่เดียว

แล้วเอาจิตจดจ่ออยู่กับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบบใดแบบหนึ่งที่เรารักชอบหรือคุ้นเคย ว่านั่นเป็นพุทธนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เราระลึกถึงพระองค์ท่าน คือเราอยู่กับพระองค์ท่าน เราอยู่กับพระองค์ท่าน คือเราอยู่บนพระนิพพาน แล้วพยายามรักษากำลังใจประคับประคองอยู่ตรงอารมณ์ใจเช่นนี้ให้นานที่สุดเท่าที่นานได้

ถ้าอารมณ์เคลื่อนคลายหายไป ก็ให้ตั้งใจนึกถึง..ภาวนาถึงอย่างนี้ใหม่ ทำย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเบื่อหน่ายไม่ได้ จนกว่าองค์ปัญญาจะเกิดขึ้น มีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ปรารถนาจะมีร่างกายนี้ ไม่ปรารถนาที่จะเกิดมาในโลกนี้ อย่างแท้จริง สภาพจิตก็จะหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้

ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้า)