PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘


เถรี
20-05-2015, 13:13
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง ระบายลมหยาบทิ้งให้หมด แล้วหลังจากนั้นก็ปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ หายใจเข้า..เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เราถนัดมาแต่เดิม จะกำหนดจุดกระทบของลมหายใจเข้าออกจุดเดียว สามจุด เจ็ดจุด หรือรู้ตลอดกองลมก็ได้

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ การปฏิบัติธรรมของเรานั้น เมื่อภาวนาไปจนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัวถึงที่สุดซึ่งเราทำได้แล้ว สมาธิก็จะเคลื่อนจะคลายออกมาเองโดยอัตโนมัติ ในช่วงนั้นเราจำเป็นต้องหาวิปัสสนาญาณให้พิจารณา ไม่อย่างนั้นสภาพจิตจะวิ่งไปหารัก โลภ โกรธ หลงเอง ถ้าถึงตอนนั้นเราจะยับยั้งได้ยาก เพราะสภาพจิตเอากำลังของสมาธิไปฟุ้งซ่านในรัก โลภ โกรธ หลง จึงมีความแรงมากเป็นพิเศษ

การที่เราจะพิจารณาวิปัสสนาญาณนั้น ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้เรายอมรับว่าสภาพร่างกายนี้มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด จากเด็กเล็ก ๆ เป็นเด็กโต จากเด็กโตเป็นหนุ่มเป็นสาว จากหนุ่มสาวเป็นวัยกลางคน จากวัยกลางคนเป็นคนแก่ จากคนแก่เป็นคนตาย เป็นต้น

ให้สภาพจิตเรายอมรับว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็ดี มีความทุกข์เป็นปกติ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น

เมื่อจิตใจของเรายอมรับว่าสภาพร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ร่างกายนี้เพียงประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น ส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ต้องได้ อย่างเช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอกทั้งปวง เหล่านี้เป็นธาตุดิน

ส่วนที่พัดไปมาในร่างกาย พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ ส่วนที่หายใจเข้าก็ดี หายใจออกก็ดี ส่วนที่ค้างอยู่ในช่องหู ช่องจมูกซึ่งเป็นช่องว่างร่างกายก็ดี ส่วนที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ที่เป็นแก๊สก็ตาม เหล่านั้นเป็นธาตุลม

ส่วนที่ไหลไปไหลมา มีความเอิบอาบเคร่งตึงนั่นเป็นธาตุน้ำ มีเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ เป็นต้น

ส่วนที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายกระวนกระวายเวลาเจ็บไข้ เรียกว่าธาตุไฟ

เถรี
22-05-2015, 08:48
เมื่อเอาทั้ง ๔ อย่างมารวมกันเข้า มีหัว มีหู มีหน้า มีตา เราที่เป็นดวงจิตมาปฏิสนธิ อาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวตามบุญตามกรรม เข้าไปยึดว่าเป็นตัวเราของเรา เราต้องมีสติอยู่เสมอว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียง ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เป็นสมบัติของโลก ถึงเวลาก็ต้องเสื่อมสลายตายพัง คืนโลกไปตามเดิม ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ ตัวคนอื่นก็เป็นเช่นนี้ สัตว์อื่นก็เป็นเช่นนี้ วัตถุธาตุต่าง ๆ ก็เป็นเช่นนี้

เมื่อเราเห็นชัดว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงเป็นปกติ เป็นทุกข์อยู่เป็นปกติ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราอยู่เป็นปกติ เราก็ต้องถามตัวเองว่า ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างนี้ เรายังอยากได้ใคร่มีหรือไม่ ? ถ้าเราไม่อยากได้แล้ว เราต้องทำอย่างไร ?

ถ้าตอบตนเองจริง ๆ ว่าไม่อยากได้แล้ว เราก็ต้องหาที่สำหรับเป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะของจิตในเบื้องต้น ก็คือเอาจิตของเราเกาะภาพพระพุทธรูปหรือพระนิพพานเอาไว้ ตั้งใจว่าถ้าเราหมดอายุขัยตายลงไปวันนี้ก็ดี เกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตลงไปก็ตาม เราขอไปอยู่กับพระพุทธเจ้าที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น

เมื่อแรกเราจำเป็นต้องยึดเกาะ เพื่อความมั่นคง เพื่อความแน่นอน แต่พอเราสะสม ศีล สมาธิ ปัญญา ไปถึงระดับหนึ่ง ก็จะปล่อยจากการยึดเกาะโดยอัตโนมัติ ถึงตอนนั้นเราจึงไปพระนิพพานได้จริง ๆ เพราะถ้าเรายังยึดเกาะอยู่ แม้จะเป็นความดีก็ตาม เราก็ยังไปพระนิพพานไม่ได้ แต่ถ้าสั่งสม ศีล สมาธิ ปัญญา จนเพียงพอ เกิดการปล่อย ละ วาง ลงได้ สภาพจิตเราก็จะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

ดังนั้น..บางท่านที่อาจจะสงสัยว่าถ้าเราเกาะพระ หรือเกาะพระนิพพาน แล้วเราไปพระนิพพานได้จริงหรือ ? ขอยืนยันว่าถ้ายังเกาะอยู่ ไปไม่ได้ เลิกเกาะเมื่อไร ไปได้เมื่อนั้น แล้วเราจะเลิกเกาะเมื่อไร ? บางทีผู้ที่เลิกเกาะก็ยังไม่รู้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าตนเองเลิกเกาะเมื่อไร เหมือนกับเราเกาะราวบันไดขึ้นไปสู่ห้องชั้นบน บางทีเราเดินเข้าห้องไปแล้วยังไม่รู้ว่าตนเองปล่อยราวบันไดเมื่อไร เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ว่าเราจะปล่อย ละ วาง จริง ๆ เมื่อไร แต่สติเราต้องรู้อยู่เสมอว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ปรารถนาอีกแล้ว เราต้องการพระนิพพานเท่านั้น

หลังจากนั้นก็ทบทวน ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราเอาไว้อยู่บ่อย ๆ ทุกวัน เพื่อเป็นการตอกย้ำความมั่นคงให้เกิดแก่จิต ว่าเราไม่ต้องการร่างกายนี้แน่ ๆ ไม่ต้องการโลกนี้แน่ ๆ ถ้าหากว่าการสั่งสมในเรื่องของความดีนี้เพียงพอเมื่อไร เราก็จะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานเมื่อนั้น

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)