PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘


เถรี
21-04-2015, 10:34
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะจับการกระทบของลมฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน หรือรู้ตลอดกองลมก็ได้ ส่วนคำภาวนาให้ใช้คำภาวนาที่เราถนัดมาแต่เดิม จะเป็นพุทโธ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง พองหนอ ยุบหนอ หรือตัวบทพระคาถาใด ๆ ที่เราถนัดและชำนาญมาแต่เดิมก็ได้

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ เมื่อครู่นี้ได้กล่าวไปแล้วว่า ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องทบทวนอยู่เสมอว่าเราทำอะไร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร ตอนนี้เราทำไปแล้วเท่าไร ยังตรงต่อจุดมุ่งหมายหรือไม่ เหลือสิ่งที่ต้องทำอีกมากน้อยเท่าไร เป็นต้น ถ้าเราไม่มีการไตร่ตรองทบทวนเอาไว้เช่นนี้ โอกาสที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติก็ยาก

ความจริงแล้วหน้าที่ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัดแล้วในโอวาทปาฏิโมกข์ ก็คือ ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลส การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ก็คือเว้นจากกายทุจริต ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

เว้นจากวจีทุจริต ก็คือการพูดโกหก พูดส่อเสียด พูดวาจาเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ และพูดคำหยาบ เว้นจากมโนทุจริต ก็คือ ไม่คิดโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทใคร ไม่คิดโลภอยากได้จนเกินพอดี ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้หามาตามศีลตามธรรม และมีความเป็นสัมมาทิฐิ ไม่เห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรม คือมีความเห็นตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

การทำความดีให้ถึงพร้อม ก็คือถึงพร้อมด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตนั่นเอง ส่วนการชำระจิตของเราให้ผ่องใสจากกิเลสนั้น ส่วนที่สำคัญและเป็นพื้นฐานใหญ่เลยก็คืออานาปานสติ ได้แก่ลมหายใจเข้าออก ถ้าความรู้สึกของเราจับอยู่กับลมหายใจเข้าออก แปลว่าเราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้ส่งจิตไปหวนหาอาลัยในอดีต และไม่ได้ส่งจิตไปฟุ้งซ่านในอนาคต อยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า คอยระมัดระวังเอาไว้ว่าสภาพจิตของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ถ้ามีอยู่ก็เร่งขับไล่ความชั่วนั้น ๆ ออกไป แล้วคอยระมัดระวังไว้อย่าให้ความชั่วทั้งหลายนั้นเข้ามา

เถรี
22-04-2015, 08:32
ความชั่วที่เห็นได้ชัดก็คือนิวรณ์ ๕ อย่าง ได้แก่ ความยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นต้น หรือว่าความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ความง่วงเหงาหาวนอนขี้เกียจปฏิบัติ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ จิตไม่ทรงตัว ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าจะดีจริงหรือไม่ ? ถ้าหากว่าเราระมัดระวังป้องกันไว้ ไม่ให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เข้ามา สภาพจิตของเราก็จะปลอดจากความชั่วได้ชั่วคราว ก็จะมีความผ่องใสขึ้น

หลังจากนั้นก็ต้องพิจารณาว่าสภาพจิตของเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ความดีที่ว่านี้ คือทาน คือศีล คือภาวนา ทบทวนดูว่าในแต่ละวันเมื่อมีโอกาสให้ทานเราได้ให้หรือไม่ ? ยังมีความตระหนี่ถี่เหนียวไม่สามารถสละออกได้หรือไม่ ? การรักษาศีลของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์ทุกสิกขาบทแล้วหรือไม่ ? เราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองแล้ว ยังยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดหรือไม่ ? เราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองแล้ว ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล เมื่อเราเห็นผู้อื่นละเมิดศีลเรายังยินดีหรือไม่ ? เราใช้กำลังในการภาวนาของเราพิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขาทั้งของเราและผู้อื่นหรือไม่ ?

ถ้าหากว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังไม่มีในจิตใจของเรา ก็สร้างให้มีขึ้นมา เมื่อมีแล้วก็พยายามประคับประคองรักษาให้มีมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกได้ว่าหน้าที่ของเรามีอยู่แค่นี้เอง ก็คือขับไล่ความชั่วออกจากใจ ระวังอย่าให้ความชั่วเข้ามา สร้างความดีขึ้นในใจ ประคับประคองความดีให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าเราสามารถกระทำได้อย่างนี้ทั้งในศีล ในสมาธิ ในปัญญา โอกาสที่เราจะก้าวหน้าในการปฏิบัติจนกระทั่งล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ก็จะมีขึ้นแก่เราท่านทั้งหลาย

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)