PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘


เถรี
11-02-2015, 19:45
ขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๘ วันนี้มีญาติโยมถามปัญหาว่า พบเจอความทุกข์มากมายมหาศาล เห็นทุกอย่างชัดเจนแต่ปล่อยวางไม่ได้ ลักษณะอย่างนี้แปลว่า กำลังของสติสมาธิและปัญญาของเรายังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในการใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทุกข์ ในเมื่อขาดความคล่องตัวขาดความชำนาญในการพิจารณา กำลังสมาธิไม่เพียงพอ ปัญญาไม่ถึง จึงไม่สามารถที่จะปล่อยได้วางได้

ดังนั้น เมื่อพวกเราภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว สิ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือคลายสมาธิออกมา พิจารณาให้เห็นว่าสภาพร่างกายของเรานี้ ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาจนหลับตาลงไป มีแต่ความทุกข์ทั้งสิ้น ลืมตาขึ้นมาก็ขี้มูกราขี้ตากรังไม่สามารถที่จะทนอยู่ได้ ต้องไปอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน ความสกปรกทำให้ร่างกายนี้ทุกข์ ทำให้จิตใจของเราทุกข์ การที่ต้องชำระล้างเพื่อไม่ให้ร่างกายนี้สกปรก ก็ประกอบไปด้วยความทุกข์เช่นกัน พอปวดหนักปวดเบาต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วม ล้วนแล้วแต่เป็นความทุกข์

หิวขึ้นมาต้องหาให้ร่างกายนี้กิน ต้องเตรียมข้าวปลาอาหาร ต้องเสียเวลาไปนั่งกิน กระหายขึ้นมาต้องหาน้ำให้ร่างกายดื่ม ร้อนต้องหาเครื่องบรรเทา หนาวต้องหาผ้าห่มให้ ทำการทำงานมีแต่ความเครียดความทุกข์ แม้กระทั่งเดินทาง ก็อาจจะเจออุบัติเหตุหรือว่ารถราติดสะบั้นหั่นแหลก

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้รุมเร้าเข้ามาเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น แล้วยังมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ความสกปรกโสโครกของร่างกายเป็นปกติ ร่างกายเคลื่อนคล้อยไปหาความแก่ชราอยู่ตลอดเวลา แต่ความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว ความสกปรก ความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้ลดน้อยลงเลย ร่างกายทำหน้าที่ได้ยากขึ้น แต่ความทุกข์มีเท่าเดิม ก็เท่ากับว่ามีทุกข์มากกว่าเดิม

เถรี
12-02-2015, 18:28
พยายามพิจารณามองเห็นให้ชัดเจน สรุปลงให้ได้ว่า ธรรมดาของร่างกายเป็นเช่นนี้ ตัวเราก็เป็นเช่นนี้ เกิดมาต้องทุกข์ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลง นอนลงไปแล้วก็ยังทุกข์ เพียงแต่ว่าเป็นความทุกข์ในขณะที่เราขาดสติ นอนอิริยาบถเดียวกันได้ไม่นาน อย่างเก่ง ๑๕ นาที ๒๐ นาที ก็ต้องขยับร่างกาย เพื่อให้หายปวดหายเมื่อย แต่เราเองอาจจะขาดสติ ไม่รับรู้อาการของร่างกายนั้น ๆ เท่ากับว่าเราดำเนินชีวิตอยู่บนกองทุกข์ โดนความทุกข์รุมเร้าเผาลนอยู่ตลอดเวลา

ถ้าพิจารณาบ่อย ๆ จนสภาพจิตยอมรับ จะเห็นความธรรมดาว่า ตัวเราก็ดี ตัวของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี มีแต่ความทุกข์ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิต จะเป็นตึกรามบ้านช่องเรือนโรงใด ๆ ก็ตาม ก็มีแต่ความทุกข์ คือทุกข์โดยสภาพที่ก้าวไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา ถ้าสภาพจิตของเราเห็นชัดเจน กำลังสมาธิเพียงพอ ก็จะสามารถก้าวล่วงพ้นไปได้ เพราะปัญญาของเราเกิด เห็นความเป็นปกติธรรมดา

เกิดมามีร่างกายก็ต้องทุกข์อย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดขึ้นมามีความทุกข์เช่นนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนน่ากลัวเช่นนี้ เราไม่ต้องการอีก เทวโลก พรหมโลกที่มีความสุขเพียงชั่วคราว ถึงเวลาเผลอเมื่อไรก็ต้องลงมาทุกข์ใหม่ เราก็ไม่ต้องการอีกแล้ว จุดหมายของเรามีที่เดียวคือพระนิพพานเท่านั้น

เมื่อพิจารณามาถึงตรงจุดนี้แล้ว ก็ให้ส่งใจไปเกาะพระนิพพาน ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด ว่านั่นคือพระพุทธนิมิตของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ตั้งใจว่าถ้าเราหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ จนถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานแห่งเดียว

กำหนดภาพพระนั้นแล้วภาวนาไปเรื่อย เมื่อเต็มกำลังของเรา ไม่สามารถภาวนาต่อได้แล้ว ก็ถอยออกมาพิจารณาใหม่ ให้ทำสลับไปสลับมาอย่างนี้ทุกวัน ทุกเวลา เท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งสภาพจิตเกิดการยอมรับ เห็นจริงว่าธรรมดาของร่างกายนี้เป็นทุกข์ ไม่มีความปรารถนาในการเกิดอีกแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราก็มีโอกาสที่จะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้ดังที่ปรารถนา

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)