PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๗


เถรี
19-10-2014, 14:40
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม อย่าเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย ๆ การเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย สภาพจิตไม่เคยชิน จะทำให้อารมณ์ทรงตัวได้ยาก

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ วันนี้จะกล่าวถึงรากเหง้าของกิเลส ซึ่งประกอบไปด้วยโลภ โกรธ หลง ซึ่งรักหรือราคะนั้น ความจริงแล้วเป็นตัวเดียวกับความโลภ เพราะว่าเรารักใคร่ จึงอยากได้มา แต่คราวนี้ตัวรักหรือคำว่าราคะ เรามักจะเน้นเอาว่าเป็นความรู้สึกระหว่างเพศเท่านั้น

การปฏิบัติธรรมของเรานั้น ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ จะเป็นเครื่องทดสอบเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องรู้เท่าทันว่าจะใช้อาวุธอย่างไรไปต่อสู้ เพื่อที่จะแก้ไขตนเองให้หลุดพ้นจากสภาพที่กิเลสกำลังเข้ามาต่อตีกับเรา

ตัวราคะนั้น ท่านบอกว่าให้พิจารณาอสุภกรรมฐานหรือกายคตาสติ อสุภกรรมฐานนั้นในปัจจุบันเป็นเรื่องที่หาดูได้ยาก หลายท่านอาจจะบอกว่าตามอินเตอร์เน็ตมีมากมาย อาตมาขอยืนยันว่าดูอย่างไรก็ไม่ใช่ของจริง เนื่องเพราะว่าของจริงนั้น ทันทีที่เราก้าวเข้าไปในบริเวณนั้น แค่เราได้กลิ่นเท่านั้น เราก็จะรู้แล้วว่านี่คือศพที่แท้จริง

ในเมื่อไม่สามารถที่จะหาดูจากของจริงได้ ก็จำเป็นต้องไปพิจารณากายคตาสติ คือดูให้เห็นความเป็นจริงของร่างกายนี้ว่า มีเพียงผิวหนังชั้นเดียวที่หลอกตาเราอยู่ พอลอกหนังออก ภายในก็เต็มไปด้วยเลือด ด้วยเนื้อ ด้วยเส้นเอ็น ด้วยตับไตไส้ปอด เครื่องจักรกลต่าง ๆ พยายามดูให้เห็นอย่างชัดเจน จิตใจของเราจะได้ไม่ใฝ่ไปทางกามราคะ

ในส่วนของความโลภนั้น ตัดได้ด้วยการให้ทาน ซึ่งพวกเราได้ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว

ในส่วนของโทสะ ให้แก้ไขด้วยการรักษาศีล และเจริญพรหมวิหารสี่ บางคนไม่ถนัด ถนัดแต่การภาวนา ก็ให้จับกสิณ ๔ อย่างคือ สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นนิมิตในการภาวนา ซึ่งจะช่วยในการระงับโทสะได้

เถรี
21-10-2014, 09:07
ส่วนที่น่าหนักใจที่สุดก็คือความหลง เพราะส่วนใหญ่ก็คือหลงยึดในร่างกายของตนเองด้วยความวิปลาส (มีความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง) คือร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็ไปยึดถือว่าต้องไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ร่างกายนี้มีแต่ความสกปรกโสโครกน่าเกลียดเป็นปกติ ก็ไปเห็นว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นต้น

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเรานั้น เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ ท้ายที่สุดก็เสื่อมสลายตายพัง กลับกลายเป็นธาตุ ๔ คืนให้แก่โลกไป ไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้เรายึดถือมั่นหมายได้

ถ้าหากว่ากิเลสใหญ่ทั้ง ๔ คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มายึดครองใจของเรา เราก็ไม่สามารถที่จะนำพาตนเองให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ จึงจำเป็นที่ต้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติในกองกรรมฐานที่เป็นคู่ศึกกับกิเลสใหญ่ทั้ง ๔ กอง ดังที่ได้กล่าวมานี้ โดยมีอานาปานสติคือลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก เพราะว่าจะเป็นตัวสร้างเสริมกำลังใจของเราให้มั่นคง ให้มีกำลังในการที่จะหักห้ามใจตนเอง และในที่สุดก็จะมีกำลังในการตัดกิเลสต่าง ๆ ลงได้

ถ้าหากว่าท่านรู้แล้ว ก็ให้พยายามพากเพียรฝึกฝน อย่ารอจนถึงต้นเดือนแล้วค่อยมาเจริญกรรมฐาน อย่าทำแล้วทิ้งไปเฉย ๆ แต่ว่าให้พวกเราทุกคนพยายามที่จะปฏิบัติไว้ในทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อปฏิบัติแล้วให้ประคับประคองรักษาอารมณ์ใจของเราเอาไว้ อย่าให้สิ่งที่เราทำได้เลือนหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าเราฝึกประคับประคองใจตนเองอยู่กับกองกรรมฐานได้ ยิ่งนานไปก็ยิ่งเกิดความชำนาญ ก็จะทำให้เราสามารถยืดระยะเวลา รักษากองกรรมฐานได้นานยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ตราบใดที่เรารักษากองกรรมฐานที่เราใช้ในการภาวนาพิจารณาอยู่ได้ ตราบนั้นกิเลสก็ไม่สามารถที่จะกินใจของเราได้ สภาพจิตของเราก็จะมีความผ่องใส ปัญญาก็จะเห็นชัดเจนว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี มีความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นปกติ มีความสกปรกโสโครกเป็นปกติ ประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายได้ ถ้าท่านเห็นจริงดังนี้ ก็จะเกิดอาการเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ถอนจิตออกมาจากกองกิเลสทั้งปวง ก็สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)