PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๗


เถรี
09-10-2014, 11:16
ให้ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไว้ตรงหน้าของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ วันนี้มีญาติโยมถามว่า "อาการทรงฌานเป็นอย่างไร ?" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานมานาน น่าจะมีความเข้าใจว่า แต่ละขั้นแต่ละอารมณ์ของการทรงฌานเป็นอย่างไร กลับไม่มีความเข้าใจ แล้วต้องมาสอบถาม

การที่เราจะทรงฌานได้นั้น อันดับแรก..ต้องไม่ทิ้งลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก ทำอย่างไรก็ทรงฌานได้ยาก หรือทรงได้ก็จะสลายตัวไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว การทรงฌานนั้น ถ้าในส่วนของรูปฌานมีอยู่ ๔ ระดับ คือปฐมฌาน หรือฌานที่ ๑ สภาพจิตจะประกอบไปด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคตารมณ์

วิตก คือ การที่เราคิดอยู่นึกอยู่ว่าเราจะภาวนา วิจาร คือ ตอนนี้เรากำลังภาวนาอย่างไร ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ ปีติ คือ สภาพที่ปรากฏความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างขึ้น ได้แก่ ๑. ขนลุก ๒. น้ำตาไหล ๓. ร่างกายโยกไปโยกมา หรือบางทีก็ดิ้นตึงตังโครมครามไปเลย ๔. ตัวลอยขึ้นไปทั้งตัว ๕. รู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด หรือเห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ อาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็คือสภาพจิตที่กำลังเข้าถึงปีติ

ลำดับถัดไปเมื่อจิตดำเนินลึกเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ก็จะเกิดความสุขเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เนื่องจากในขณะจิตนั้น กำลังสมาธิมีสูงพอที่จะกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงได้ชั่วคราว รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นไฟใหญ่ ๔ กอง เผาเราอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาไฟดับลง เราจะรู้สึกสบายอย่างไรนั้น ไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นคำพูดได้ ท้ายสุด เอกัคตารมณ์ คือ กำลังใจที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว จิตจะแน่วแน่อยู่เฉพาะหน้า ลืมตาอยู่ต่อให้เห็นคนเดินไปเดินมา หรือเห็นใครทำอะไรที่น่าหวาดเสียวอยู่ใกล้ ๆ จิตใจก็ไม่วอกแวกคลอนแคลนตามไป หรือได้ยินเสียงอะไรก็ไม่เกิดความสนใจในเสียงนั้น ความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา

ถ้าหากว่าอาการทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แปลว่าท่านกำลังอยู่ในฌานที่ ๑ หรือที่บาลีเรียกว่าปฐมฌาน

เถรี
11-10-2014, 18:10
หลังจากนั้น ถ้าตั้งใจตามดูตามรู้ลมหายใจต่อไป ก็จะรู้สึกว่าลมหายใจค่อย ๆ เบาลง หรือลมหายใจละเอียดขึ้น หรือบางทีรู้สึกว่าลมหายใจหายไปเลย บางทีคำภาวนาก็หายไปด้วย ถ้าถึงระดับนี้แสดงว่าสภาพจิตของท่านเข้าสู่ฌานที่ ๒ ที่เรียกว่า ทุติยฌาน

เมื่อท่านตั้งใจตามดูตามรู้อาการเหล่านั้น โดยที่ไม่ไปหวั่นไหวว่าขณะนี้เราไม่ได้หายใจ ขณะนี้เราไม่ได้ภาวนา เพียงแต่กำหนดดูกำหนดรู้ว่า ตอนนี้ลมหายใจของเราเบาลง ละเอียดขึ้น หรือว่าไม่หายใจแล้ว คำภาวนาของเราไม่มีแล้ว เอาจิตตามดูอยู่แบบนี้ ถ้าสามารถทำได้โดยไม่หวั่นไหว ไม่เคลื่อนไปไหน ก็จะเกิดมีอาการรู้สึกเหมือนกับว่า ร่างกายของเราแข็งเป็นหิน บางทีก็เริ่มรู้สึกจากปลายจมูก หรือบริเวณปาก บริเวณคางก่อน รู้สึกว่าเย็นจนแข็ง แล้วความรู้สึกก็ค่อย ๆ กระจายออกไป จนเหมือนรู้สึกแข็งไปทั้งตัว หรือบางทีก็รู้สึกเหมือนโดนใครมัดตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้าแข็งทื่อไปหมด ไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏขึ้น ขอให้ทุกคนทราบว่า เราเข้าสู่ระดับฌานที่ ๓ หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า ตติยฌาน

ถ้าเรายังไม่หวั่นไหว ไม่คลายกำลังใจออกมา ยังตามดูตามรู้ว่า ตอนนี้ร่างกายเกิดอาการแบบนี้ ๆ ขึ้น กำหนดใจสบาย ๆ ตามดูไป ความรู้สึกทั้งหมดจะรวบเข้ามา ๆ จนกระทั่งรู้สึกสว่างไสวอยู่จุดเดียว อาจจะสว่างอยู่ตรงศีรษะ สว่างอยู่ตรงหน้า หรือว่าสว่างอยู่ในอก ความสว่างไสวเยือกเย็นจะปรากฏขึ้นมากเป็นพิเศษ สภาพจิตไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ ภายนอก เสียงบังเกิดขึ้นก็ไม่รับรู้ ถ้าหากว่าลักษณะนี้ก็ขอให้ทราบว่า สภาพจิตของท่านเข้าสู่ฌานที่ ๔ หรือที่เรียกว่า จตุตถฌาน

เถรี
13-10-2014, 20:12
การเข้าฌานได้นั้นยังไม่ใช่ของดีแท้ เพราะว่าเรายังไม่สามารถที่จะใช้ผลของฌานนั้นได้ จึงต้องซักซ้อมในการเข้าออกให้คล่องตัว ด้วยการคลายกำลังใจออกมา กำหนดภาวนากลับเข้าไปใหม่ คลายกำลังใจออกมา กำหนดภาวนากลับเข้าไปใหม่ ซักซ้อมอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ จนนึกอยากจะเข้าฌานเมื่อไรก็เข้าได้ อยากจะออกเมื่อไรก็ออกได้ อยากจะเข้าฌานไหนก็สามารถที่จะเข้าได้ทันที สลับสับเปลี่ยนในระหว่างฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่จำเป็นต้องเข้าตามลำดับ อาจจะเป็นการเข้าถอยหลังก็ได้ กระโดดสลับไปสลับมาเป็น ๔,๓,๒,๑ อะไรเหล่านี้ เป็นต้น

ทำจนเกิดความคล่องตัว ต้องการเมื่อไรสามารถทำได้เมื่อนั้น ถ้าอย่างนั้นแปลว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงฌาน เมื่อถึงเวลานั้นเราต้องการที่จะใช้กำลังของฌานในการต่อสู้กับกิเลส ก็สามารถใช้ได้ ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกก็คือเมื่อรู้สึกว่า รัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้น อาศัยความชำนาญในการเข้าฌาน สภาพจิตของเราก็จะพุ่งสู่ระดับฌานใดฌานหนึ่ง ทันทีที่สภาพจิตทรงตัวแบบนั้น กิเลสก็ไม่สามารถที่จะกินใจเราได้ รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะดับไปเอง

วิธีที่สองก็คือ เมื่อเราทรงฌานจนถึงที่สุดที่เราทำได้แล้ว ให้คลายกำลังใจออกมาแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ อย่างเช่น ดูให้เห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา หรือว่าดูว่าร่างกายนี้มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา หรือว่าร่างกายนี้มีแต่โทษแต่ภัย ในเมื่อเราเห็นร่างกายของเราเป็นเช่นนี้ ก็อนุมานได้ว่าร่างกายของคนอื่นก็มีสภาพเช่นเดียวกัน ถ้าสภาพจิตยอมรับ เราอาศัยกำลังฌานนั้นก็สามารถตัดกิเลสได้บางส่วน ตามกำลังความสามารถของสมาธิและปัญญาของตน

ในเรื่องของการทรงฌาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับนักปฏิบัติ ถ้าตราบใดที่เรายังทรงฌานไม่ได้ โอกาสที่จะชนะกิเลสก็ไม่มี ดังนั้น..อย่างน้อย ๆ ต้องทรงปฐมฌานแบบละเอียดและคล่องตัวให้ได้ หรือใครสามารถเข้าถึงฌาน ๔ ได้ ก็จะเป็นการดีที่สุด

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)