PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖


เถรี
05-12-2013, 06:50
ขอให้ทุกคนนั่งในท่าที่ถนัดและสบายของตน จะนั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบก็ได้ ถ้าเป็นตัวอาตมาเองจะถนัดพับเพียบมาตลอด เนื่องจากด้วยความเคยชินก็คือ เมื่อเห็นพระท่านก็จะกราบ การนั่งขัดสมาธิกราบพระเป็นกิริยาที่ไม่สมควร จึงเคยชินกับการนั่งพับเพียบมาตลอด ให้ทุกคนยืดกายของตนเองให้ตรง แต่ไม่ใช่เกร็งตัว เหมือนกับว่าให้กระดูกสันหลังของเราทุกข้อเรียงกันเป็นเส้นตรง จะทำให้เราสามารถนั่งได้นาน แล้วก็ไม่เกิดอาการง่วงโงก แต่ถ้าเรานั่งหลังค่อม ถึงเวลาก็จะเกิดเผลอสติแล้วหลับได้ง่าย

เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานของเดือนพฤศจิกายนครั้งสุดท้าย ในเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานนั้น สิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยคือ การรู้ลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสติ เพราะว่าจะช่วยสร้างความมั่นคง สร้างสมาธิให้เกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา จะได้เป็นพื้นฐาน เป็นกำลังในการตัดกิเลส ลำดับถัดไปก็คือพุทธานุสติซึ่งเป็นกองกรรมฐานที่ช่วยให้เราไปสู่พระนิพพานได้ง่ายที่สุด

ดังนั้น..โดยความเคยชินของอาตมาก็คือ จะจับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับภาพพระ หายใจเข้าให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออกให้ภาพพระไหลตามลมหายใจออกมา ดังนี้เป็นต้น กรรมฐานกองต่อไปสำหรับนักปฏิบัติที่จะละทิ้งไม่ได้เลยก็คือพรหมวิหาร ๔ โดยเฉพาะการแผ่เมตตา เพราะว่าพรหมวิหารนั้นเป็นตัวคุมศีลของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ถ้าเราระมัดระวังศีลของเราให้บริบูรณ์ได้ สมาธิก็จะทรงตัวได้ง่าย พรหมวิหาร ๔ จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้ชุ่มชื่น เยือกเย็น ไม่รู้สึกว่าแห้งแล้ง ทำให้ไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติ

ถ้าถามว่าต้องใช้พรหมวิหาร ๔ ในเวลาใดบ้าง ก็ขอตอบว่าต้องใช้อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าไม่สามารถที่จะทำได้ตลอดเวลา อย่างน้อย ๆ เวลาปฏิบัติกรรมฐานเช้า ๆ เย็น ๆ ของเรา ก็ให้ซักซ้อมแผ่เมตตาให้เคยชิน เนื่องจากว่าจะทำให้ตัวเราเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งจะไม่ให้มาเบียดเบียนเราเองโดยประการต่าง ๆ เมื่อแผ่เมตตาจนเคยชินแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ตาม สภาพจิตของเราก็จะชุ่มชื่น เบิกบาน เยือกเย็น ทรงตัวอยู่ ทำให้สามารถรักษากองกรรมฐานที่ตนเองกระทำได้โดยง่าย

กองกรรมฐานต่อไปที่จะต้องระลึกถึงเสมอ ก็คือมรณานุสติกรรมฐาน การนึกถึงความตายว่ามีแก่เราทุกลมหายใจเข้าออก เราจะได้ไม่เป็นผู้ประมาท เมื่อรู้ว่าเราอาจจะสิ้นชีวิตลงไปเมื่อใดก็ได้ หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกเราก็ตายแล้ว หายใจออกถ้าไม่หายใจเข้าเราก็ตายอีกเช่นกัน เมื่อความตายอยู่ใกล้ชิดเราได้ขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องเร่งรีบในการปฏิบัติ เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์นี้ให้ได้

เถรี
06-12-2013, 10:33
ขอทบทวนว่า กองกรรมฐานที่จะต้องใช้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ในการปฏิบัติธรรมของพวกเรา ประกอบไปด้วยอานาปานสติ พุทธานุสติ พรหมวิหาร ๔ และ มรณานุสติกรรมฐาน เมื่อกำลังใจของเราภาวนาจนทรงตัวแล้ว พอคลายออกมาต้องนำวิปัสสนาญาณต่างๆ มาพินิจพิจารณา ไม่เช่นนั้นแล้วความรัก โลภ โกรธ หลง จะอาศัยกำลังในการภาวนาของเรา ไปใช้ในการฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ฟุ้งซ่านอย่างหนักแน่น เป็นหลักเป็นฐาน เป็นการเป็นงาน ดึงกลับได้ยาก เพราะได้กำลังจากสมาธิไปช่วย

การพินิจพิจารณานั้นส่วนใหญ่ ก็ยึดหลักในการดูให้เห็นสามัญลักษณะ คือความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ๓ ประการ ได้แก่ อนิจจัง ความไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ทุกขังความเป็นทุกข์ การดำรงชีวิตอยู่ของเรา ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลงไป เราเดินอยู่บนกองทุกข์ตลอดเวลา อนัตตาไม่มีอะไรยึดถือเป็นตัวตนเราเขาได้ ล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เราอาศัย ให้เขาอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว จนถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไปตามสภาพ

เมื่อเราเห็นความเป็นจริงของร่างกายอันนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ถอดถอนจิตของตนออกมาจากการปรารถนาในร่างกายของตน เมื่อไม่ปรารถนาในร่างกายของตนเอง ก็ย่อมไม่ปรารถนาในร่างกายของคนอื่น เมื่อไม่ปรารถนาในร่างกายของตนเองและคนอื่น ก็ย่อมไม่ปรารถนาในโลกนี้ เมื่อไม่ปรารถนาในโลกนี้ ก็ย่อมไม่ปรารถนาในโลกอื่น ๆ คือ เทวโลกหรือพรหมโลกเช่นกัน

เมื่อเป็นดังนั้น ถ้าใครสามารถยกจิตไปสู่พระนิพพานได้ ก็ขึ้นไปกราบพระบนนั้น ถ้าใครไม่สามารถยกจิตไปสู่พระนิพพานได้ ก็ให้ตั้งใจนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบเป็นพิเศษ ให้คิดว่านั่นเป็นพระพุทธนิมิต คือภาพองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรากำหนดจิตเห็นท่าน ก็คือเราอยู่ใกล้ชิดกับท่าน การที่เราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน ก็คือการที่เราอยู่บนพระนิพพานนั่นเอง ให้เอาจิตสุดท้ายของเราจดจ่ออยู่กับพระนิพพานดังนี้ แล้วภาวนาและพิจารณาไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธ)

ชินเชาวน์
22-02-2014, 18:19
สามารถรับชมได้ที่

http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2556-11-03

ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !