PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖


เถรี
21-11-2013, 06:10
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไว้เฉพาะหน้า หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานต้นเดือนวันแรกของพวกเรา เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้สิ้นพระชนม์ลง เราจะเห็นได้ว่า แม้แต่บุคคลผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีตำแหน่งยิ่งใหญ่ถึงขนาดเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังสิ้นพระชนม์

ดังนั้น..สิ่งที่พวกเราทั้งหลายจะลืมไม่ได้ก็คือ การกำหนดคิดพิจารณาอยู่เนือง ๆ ตามอภิณหปัจจเวกขณะ ก็คือให้พิจารณาว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่อาจจะล่วงพ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่อาจจะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่อาจจะล่วงพ้นความตายไปได้ เรามีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวงเป็นธรรมดา เรามีกรรมเป็นของตน ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม ย่อมต้องรับซึ่งผลกรรมนั้น ๆ

นี่คือหลักการพิจารณาของนักปฏิบัติธรรมที่จะลืมเสียไม่ได้ เพราะว่าทุกคนก้าวไปสู่ความแก่ชราทุกขณะจิตที่ผ่านไป มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นปกติ ต่อให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยทั่วไปไม่ปรากฏ ก็ยังมีความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว เป็นปกติ และท้ายที่สุด ถ้าทุกขเวทนาบีบคั้นมาก ๆ ไม่สามารถที่จะทนอยู่ได้ ก็ก้าวเข้าไปสู่ความตาย

การแก่ เจ็บ และตาย ถือว่าเป็นสมบัติที่ติดมากับร่างกายของเรา ทุกคนต้องก้าวเข้าไปหาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นปกติ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ ก็มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา มีการได้ของที่ไม่รักไม่ชอบใจเป็นธรรมดา มีความปรารถนาที่ไม่สมหวังเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราต้องมองเห็นความเป็นธรรมดาให้ได้ เพราะถ้าเรามองเห็นความเป็นธรรมดาแล้วจิตใจยอมรับเมื่อไร เราก็จะมีความสุขมากขึ้น

เนื่องเพราะเห็นว่าทุกอย่างมีธรรมดาเป็นอย่างนั้น อย่างเช่นว่า ธรรมดาของร่างกาย เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ธรรมดาของฤดูฝน ฝนก็ต้องตก ธรรมดาของการมีลูกมีหลาน ก็ต้องพบกับความทุกข์ต่าง ๆ ที่ลูกหลานนำมาให้ ธรรมดาของการมีร่างกายนี้ ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น ถ้าเราเห็นความเป็นธรรมดา จิตใจก็จะไม่ดิ้นรน รู้จักปล่อยวาง ความทุกข์ก็จะมีแก่เราน้อยลง

เถรี
23-11-2013, 08:31
ในส่วนสุดท้ายที่ว่าเรามีกรรมเป็นของตน การทำความดีหรือความชั่ว เราก็ต้องรับซึ่งผลกรรมนั้น ๆ นี่คือความวิเศษสุดของพระพุทธศาสนา ที่เรามีกฎของกรรมให้รู้เห็นได้ชัดเจน ทำให้สามารถทำใจยอมรับกับเรื่องต่าง ๆ ที่มากระทบรอบข้างได้ ว่าธรรมดาเป็นเช่นนั้น เราทำเอาไว้เราถึงต้องมารับ ถ้าจิตใจสามารถปล่อยวางได้ดังนี้ ก็จะไม่มีความเครียด จะมีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น เพราะว่าเราทำไว้ในอดีต เราจึงต้องมารับในปัจจุบัน ถ้าเราทำความดีในปัจจุบันให้ต่อเนื่องยาวนานพอ เราก็จะไปรับผลของความดีในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพจิตของเราก็จะดิ้นรนน้อย มีความเข้าใจความเป็นจริงในชีวิตมากขึ้น

ถ้ามีปัญญามากกว่านั้น ก็จะมองเห็นว่าแม้ว่าความทุกข์เหล่านั้นลดน้อยลง เพราะเราไม่ได้ปรุงแต่งวุ่นวาย แต่ก็ยังเป็นความทุกข์อยู่ดี ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ แต่ละวันประดังประเดเข้ามาหาเราอยู่ตลอดเวลา เหลือที่จะทนรับไหว เกิดอีกกี่ชาติก็มีแต่ความทุกข์เช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ขึ้นชื่อว่าความเกิดจะไม่มีกับเราอีก ถ้าเกิดอุบัติอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือว่าหมดอายุขัยตายลงไปเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

ถ้าทุกท่านสามารถวางกำลังใจเช่นนี้ไว้ ไม่นิยมยินดีกับการเกิด ไม่มีความปรารถนาในร่างกายนี้อย่างแท้จริง ท่านทั้งหลายก็สามารถก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานได้

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านกำหนดดู กำหนดรู้ ลมหายใจเข้าออกของตนเอง ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ กำหนดคำภาวนาไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลง ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง ถ้าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป ให้กำหนดรู้ว่าขณะนี้ลมหายใจหายไป ขณะนี้คำภาวนาหายไป อย่าไปอยากดิ้นรนให้กลับมา และอย่าไปดิ้นรนเพื่อให้หายไป ให้เรากำหนดรู้ไปตามสภาพปกติเช่นนั้น รักษาอารมณ์นี้เอาไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)

ชินเชาวน์
22-02-2014, 18:18
สามารถรับชมได้ที่

http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2556-11-01

ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !