PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖


เถรี
23-06-2013, 19:31
ทุกคนนั่งขยับตัวในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราแนบชิดติดกับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันแรกของต้นเดือนมิถุนายน ช่วงประมาณอาทิตย์หนึ่งที่ผ่านมา มีญาติโยมนำเอาลูกสาวไปหาอาตมาที่วัด เขาอยากรู้ว่าลูกบ้าหรือเปล่า ? อาตมาก็ปล่อยให้พ่อแม่ลูกเจรจากันไประยะหนึ่ง ถึงได้เข้าใจว่า ทั้งสองฝ่ายพูดคนละภาษากัน ฝ่ายพ่อกับแม่พูดภาษาทางโลก ฝ่ายลูกพูดภาษาทางธรรม ไม่สามารถที่จะปรับหาเข้ากันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างยึดแนวความคิดของตนเองว่าถูก

คนเป็นพ่อเป็นแม่บอกว่า ลูกสาวของตนไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นลูกที่ดี ไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นแม่ที่ดี คำว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นลูกที่ดี ก็คือไม่ดูแลผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ลูกสาวก็บอกว่าคนเราเกิดมาต่างคนต่างตายอยู่แล้ว ก็แปลว่าลูกสาวพูดถูก แต่พ่อแม่ก็พูดถูก

ส่วนไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นแม่ที่ดี ก็คือเขามีลูกชายเล็ก ๆ อยู่คนหนึ่ง แต่ก็แค่ไปรับไปส่งเข้าโรงเรียนเท่านั้น ไม่ได้ดูแลใกล้ชิด เขาบอกว่าเขาพยายามที่จะตัดลูกให้ได้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ซึ่งก็คือตากับยายของเด็ก ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา อาตมาจึงต้องชี้แจงให้ทราบว่า เป็นเรื่องปกติของนักปฏิบัติ ถ้ายังไม่สามารถที่จะปรับตนให้ตรงจุดพอดีได้ ก็จะมีอาการอย่างนี้

ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของบุคคลที่ปัญญาเกินสติ ก็คือจะเอาแต่หลักธรรมอย่างเดียว โดยไม่ได้ยั้งคิดว่าตนเองยังอยู่กับโลก ก็ต้องเคารพสมมติทางโลก ไม่ใช่ไปเอาแต่ทางธรรมล้วน ๆ ทางโลกกับทางธรรมเหมือนเหรียญสองหน้า เป็นเหรียญเดียวกัน ไม่ว่าเราจะพลิกทางไหน อีกทางหนึ่งก็อยู่ชิดติดด้วย ไม่สามารถที่จะทิ้งไปได้

จึงต้องบอกกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่า ลูกของคุณนั้นปกติ ในขณะเดียวกันก็บอกกับคนเป็นลูกว่า สิ่งที่เราทำนั้นทำให้โลกช้ำธรรมเสีย เราพูดความจริงทุกอย่าง แต่โปรดเห็นใจด้วย คนที่กำลังใจยังมาไม่ถึงขั้นนั้น เขาไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ในเมื่อเขาไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ เธอก็ปล่อยวาง เพราะถือว่าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างตาย แต่อาการที่เธอวาง เป็นการวางใส่หัวคนอื่นเขา..!

เถรี
24-06-2013, 14:32
การปฏิบัติธรรมที่ดีจริง ๆ นั้น ต้องระมัดระวังอย่าให้ กาย วาจา ใจ ของตน เป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่น การที่เราพูดในลักษณะนั้น ทำในลักษณะนั้น ทำให้บุคคลที่เป็นพ่อเป็นแม่ไม่เข้าใจในพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจในเรื่องของครูบาอาจารย์ที่สอน ถ้าไม่เข้าใจแล้วโกรธมาก ก็อาจจะมีการด่าว่าหรือตำหนิครูบาอาจารย์ หรืออาจจะจ้วงจาบไปถึงพระรัตนตรัย ทำให้เกิดโทษใหญ่แก่คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ได้

เราอาจจะถือว่าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างตาย ก็จริงอยู่ แต่ในสมมติทางโลก อย่างน้อยเราก็เป็นลูกของท่าน เราได้ทำหน้าที่ของความเป็นลูกได้เต็มที่แล้วหรือยัง ? ถ้าเราจะคิดว่าเราตัดได้เร็วเท่าไร เราก็สบายเท่านั้นก็ใช่ แต่การที่เราตัดนั้นเป็นการตัดที่คนอื่นเขาไม่เข้าใจ ทำให้กาย วาจา ใจของเราเป็นโทษกับคนอื่น โอกาสที่เขาจะเข้าถึงธรรมก็ไม่มี เพราะเขาปรามาสในพระรัตนตรัยเสียแล้ว

ดังนั้น..ขอให้ลดกำลังใจลงมานิดหนึ่ง ถือเสียว่าเราอยู่กับโลกเพื่อทำข้อสอบ จะได้เห็นอย่างชัดเจน และเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่า ในโลกนี้เป็นทุกข์เป็นโทษอย่างแท้จริง ถ้าเราตัดละทิ้งไปเลย ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นลูก ที่ต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมา ทำไมถึงต้องกตัญญูต่อพ่อต่อแม่ ทั้งที่ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างตาย ? ก็เพราะว่าพ่อแม่เป็นแดนให้เราเกิดมา ถ้าไม่มีท่านก็ไม่มีโอกาสเกิดมา และได้ปฏิบัติธรรมจนถึงปัจจุบันวันนี้

เพราะฉะนั้น..เราไม่ได้ทำหน้าที่ของลูกอย่างเต็มที่ แล้วเราก็ตัดก็ละไปเลย คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ไม่เข้าใจตรงจุดนี้ก็รับไม่ได้ แทนที่ท่านจะมีโอกาสได้มรรคได้ผลบ้าง ถ้าท่านปรามาสพระรัตนตรัย โอกาสที่ท่านจะได้มรรคได้ผลของท่านก็ไม่มี กลายเป็นเราสร้างกรรมใหญ่โดยไม่รู้ตัว

เถรี
25-06-2013, 20:21
ขณะเดียวกัน การปฏิบัติของเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปบอก ไปกล่าว ไปพูดในเรื่องของภาษาธรรมมากจนเกินไป ใช้วิธีประคับประคองกำลังใจของเราเอาไว้ ทำในลักษณะที่เราพร้อมจะไปอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ยังเอื้อเฟื้อต่อกำลังใจของผู้อื่นเขา อย่างน้อย ๆ ถ้าการปฏิบัติของเรามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีอย่างชัดเจน มีกาย วาจา ใจที่พัฒนาขึ้นมาในทางที่ดีอย่างชัดเจน ถึงเวลาถ้าเขาสนใจหรือสงสัยสอบถามขึ้นมา เราก็บอกเขาไปว่าเกิดจากการปฏิบัติธรรม ถ้าอย่างนั้นพ่อแม่จะเชื่อและเลื่อมใส เพราะมีเราเป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นอยู่แล้ว

แต่ถ้าเราเอาแต่ตัวของเรารอด แล้วเป็นทุกข์เป็นโทษให้คนอื่นเดือดร้อนทั้งหมด โดยเฉพาะลูกเล็ก ๆ ที่ไม่รู้อะไรเลย ย่อมต้องคิดถึง ย่อมต้องรัก ย่อมต้องหวังความอบอุ่นของผู้เป็นแม่ แต่เรากลับทิ้งไปเลย อาจจะทำให้ลูกเกิดปมด้อย และมองศาสนาในแง่ร้ายไปทีเดียว โอกาสที่จะเข้าถึงธรรมของเขาก็ไม่มี เมื่อได้ชี้แจงไปอย่างนี้ ทางฝ่ายคนเป็นลูกถึงได้พยายามลดตัวเองลงมา พูดคุยกับพ่อแม่ของตัวเองได้

ที่นำเรื่องนี้มากล่าวเพื่อจะเตือนพวกเราว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของดี แต่ตัวเราผู้ปฏิบัติธรรมนั้นดีจริงหรือเปล่า ? ถ้าดีจริงต้องมีการพัฒนากาย วาจา ใจของตน โดยเฉพาะตัวเราเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในเมื่อคนอื่นเขามองเห็นพัฒนาการที่ดีของเรา ก็จะเกิดการเลื่อมใสศรัทธา อยากจะปฏิบัติตามบ้าง ถ้าอย่างนี้ก็นับว่าเราเป็นผู้เสริมส่งพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง

แต่ถ้าเราทำตนในลักษณะของการตัดละ ตัดช่องน้อยแต่พอตัว อาจจะทำให้คนรอบข้างมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพระพุทธศาสนา อาจจะสร้างทุกข์สร้างโทษให้แก่เขา ต้องตกสู่อบายภูมิเพราะปรามาสพระรัตนตรัย ต้องหมดโอกาสที่จะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าเพราะการกระทำของเรา ก็ถือว่าเราได้สร้างกรรมใหญ่ให้แก่คนอื่นเขาแล้ว เราอยู่กับโลก เราต้องเคารพสมมติทางโลก เราจะยึดธรรม ก็ให้ยึดในลักษณะน้ำกลิ้งบนใบบอน ก็คืออยู่กับโลกนี้ อาศัยโลกนี้มองให้เห็นทุกข์อย่างชัดเจน แต่ไม่ได้ติดอยู่กับโลก ถึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกคนตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกาและเถรี)