PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖


เถรี
30-05-2013, 09:57
ทั้งหมดนั่งในท่าที่สบายของตนนะจ๊ะ จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกของเราทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เราถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นวันฉัตรมงคล จากการปฏิบัติของเราใน ๒ วันที่ผ่านมา ก็ได้ตักเตือนให้ท่านทั้งหลายระมัดระวังในเรื่องของการปฏิบัติ ว่าจะต้องระวังในตรงจุดไหนบ้าง สำหรับวันนี้ก็จะมากล่าวถึงว่า การปฏิบัตินั้นที่จริงแล้วเราสมควรจะปฏิบัติอย่างไร

แต่ว่าในเรื่องของการปฏิบัตินี้ ถ้าเรามีแนวทาง มีวิธีการปฏิบัติ มีกองกรรมฐานที่เรายึดถืออยู่แล้ว ก็ให้ปฏิบัติไปตามเดิมของเรา ถ้าเรายังไม่มั่นใจว่าการปฏิบัตินั้นควรจะเริ่มต้นอย่างไร ก็ให้ทุกคนใช้อานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก เพราะว่าเป็นพื้นฐานใหญ่ที่จะช่วยให้กำลังใจของเราทรงตัวเป็นอัปปนาสมาธิ สามารถที่จะทรงฌานทรงสมาบัติ ซึ่งมีกำลังในการกดกิเลสได้เป็นอย่างดี

เมื่อนึกถึงลมหายใจเข้าออก ก็ควรที่จะมีคำภาวนาควบคู่กันไปด้วย คำภาวนานั้นอยู่ที่เราถนัด แต่ถ้าตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านแนะนำไว้ ท่านให้ใช้คำว่า "พุทโธ" ท่านบอกว่าพุทโธคือพระนามขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำที่สั้น ภาวนาได้ง่าย หายใจเข้านึกว่าพุท หายใจออกนึกว่าโธ เป็นต้น ก็แปลว่าเราใช้อานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก ควบกับพุทธานุสติก็คือพระนามย่อที่ว่าพุทโธ

เมื่อเราภาวนาจนอารมณ์ใจเริ่มทรงตัว จิตมีความสงบแล้ว ก็ให้กำหนดใจแผ่เมตตาออกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ให้ตั้งใจว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วทั้งโลก ให้แผ่กำลังใจที่เต็มไปด้วยความหวังดี ปรารถนาดีต่อเขาทั้งหลายเหล่านั้นไปถึงเขาทั้งหลาย ท่านที่ตกอยู่ในกองทุกข์ ก็ขอให้ล่วงพ้นจากความทุกข์ ท่านที่มีความสุข ก็ขอให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อเราทำดังนี้ ก็แปลว่าเราจะได้ตัวเมตตาพรหมวิหารเป็นกรรมฐานอีกหนึ่งกอง

เมื่อแผ่เมตตาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ก็ให้มาทบทวนศีลของเราเอง ว่าศีลทุกข้อของเรานั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? เราละเมิดศีลด้วยตนเองหรือไม่ ? เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? และเรายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเรา ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ก็แปลว่าเรามีศีลที่สมบูรณ์บริบูรณ์ จัดว่าเราเป็นผู้ทรงสีลานุสติกรรมฐาน ก็จะได้กรรมฐานใหญ่เอาไว้อีกหนึ่งกอง

เถรี
01-06-2013, 09:31
ลำดับต่อไปก็ให้ระลึกถึงความตายเพื่อความไม่ประมาท ถ้าการระลึกถึงนั้นชัดเจนแจ่มใส เราก็จะเห็นว่า ความจริงแล้วชีวิตนี้มีอยู่แค่ชั่วลมหายใจเข้าออกเท่านั้น หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว หายใจออกถ้าไม่หายเข้าก็ตายแล้ว ดังนั้น..ชีวิตของเราที่เป็นของน้อยเห็นปานนี้ จึงควรที่เราจะขวนขวายสร้างความดีไว้ให้มากที่สุด เพื่อที่ถึงเวลาแล้วเราจะได้ล่วงพ้นจากกองทุกข์ ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนเช่นนี้อีก

ถ้าเราระลึกถึงความตายเช่นนี้ ทำให้เราไม่ประมาท เร่งสร้างความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็จัดว่าเราปฏิบัติในมรณานุสติกรรมฐานอีกกองหนึ่ง เมื่อเราระลึกถึงความตายด้วยความไม่ประมาท เราก็ต้องมาดูว่า ถ้าตายแล้วเราควรที่จะไปที่ไหน ? การเกิดมาในโลกนี้ เกิดเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น การมีร่างกายนี้ มีเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น ทั้งร่างกายนี้และโลกนี้เป็นเพียงธาตุสี่ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไป

ในเมื่อทุกอย่างมีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์ หาความแน่นอนไม่ได้ เราก็ควรที่จะส่งใจเกาะพระนิพพานไว้เป็นหลัก ตั้งใจว่าถ้าเราถึงอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือว่าเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ดี เราขอไปอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น ถ้ากำลังใจของเรายึดเกาะได้มั่นคง ก็แปลว่าเราปฏิบัติในอุปสมานุสติกรรมฐาน คือเราระลึกถึงความสงบ ความว่างจากกิเลสของพระนิพพาน จัดว่าเป็นกรรมฐานใหญ่อีกกองหนึ่ง

เมื่อมาถึงระดับนี้ ก็ให้เรากำหนดใจแน่วแน่อยู่ตรงนั้น ปักใจมั่นอยู่ตรงนั้น ดูลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาของเราไป จนกว่ากำลังใจของเราจะทรงตัวเพียงพอต่อการปฏิบัติแล้ว หมายความว่าเมื่อถึงระดับนั้น กำลังใจของเราไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ การที่เราภาวนาก็ไม่คิดที่จะภาวนาต่อไป กำลังใจจะคลายออกมาสู่อารมณ์ปกติเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องหาวิปัสสนาญาณมาให้จิตครุ่นคิด เพื่อที่จะได้ไม่ฟุ้งซ่านไปด้านของความรัก โลภ โกรธ หลง

เถรี
06-06-2013, 09:17
เราก็มาดูให้เห็นว่าร่างกายนี้มีสภาพที่ไม่เที่ยงจริง ๆ เป็นทุกข์จริง ๆ ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราจริง ๆ หรือว่าจะรู้ตามแบบของอริยสัจทั้งสี่ คือหาสาเหตุของทุกข์ให้เจอ ถ้าเราเว้นเสียจากสาเหตุของทุกข์ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา หรือดูตามนัยของวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง ตั้งแต่การเห็นความเกิดความดับ เห็นเฉพาะความดับ เห็นความเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นเป็นของน่ากลัว เป็นต้น

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเราคิดพิจารณาไปเรื่อย ๆ สมาธิจะค่อย ๆ ทรงตัว กลับมาสู่อารมณ์ภาวนาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเราภาวนาไปจนอารมณ์ใจเต็มที่แล้ว ก็กลับมาพิจารณาดังนี้ การปฏิบัติของเราจึงจะมีความก้าวหน้า ถ้าเราทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะอย่างเดียวเท่านั้น คือภาวนาโดยไม่พิจารณา หรือพิจารณาโดยไม่ภาวนา โอกาสที่กำลังใจของเราจะทรงตัวตั้งมั่นก็เป็นไปโดยยาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือแนวทางคร่าว ๆ ถ้าท่านใดยังไม่มีกองกรรมฐาน หรือไม่แนวปฏิบัติที่มั่นคงของตัวเอง ก็ให้ยึดถือปฏิบัติตามแนวที่ว่ามาดังนี้ก่อนก็ได้ ลำดับต่อไปก็ให้ทุกคนตั้งใจดูลมหายใจเข้าออกของตน พร้อมกับคำภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา



พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธและเถรี)