PDA

View Full Version : เรื่องวัญจกธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องหลอกลวง ๓๘ ประการ


วรปัทม์
14-04-2013, 22:01
กราบนมัสการหลวงพ่อ

หนูมีความสงสัยในข้อธรรม เรื่อง วัญจกธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องหลอกลวง ๓๘ ประการ พยายามที่จะทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ตรวจตัวเอง และแก้ไขให้ถูกต้อง ด้วยเหตุว่าในข้อธรรมแต่ละข้อมีความลึกซึ้งมากจนยากที่จะเข้าใจ ขอความกรุณาหลวงพ่ออธิบายเกี่ยวกับข้อธรรมนี้ด้วยนะคะ หรือหลวงพ่อแนะนำให้อ่านจากหนังสือเล่มไหนได้บ้างคะ

ตัวเล็ก
16-11-2017, 12:11
ถาม : หนูมีความสงสัยในข้อธรรม เรื่องวัญจกธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องหลอกลวง ๓๘ ประการ พยายามที่จะทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ตรวจตัวเอง และแก้ไขให้ถูกต้อง ขอความกรุณาหลวงพ่ออธิบายเกี่ยวกับข้อธรรมนี้ด้วยนะคะ ?
ตอบ : วัญจกธรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและรายละเอียดมีมาก ถ้าเอาหมด ๓๘ ข้อ วันหนึ่งยังไม่พออธิบายเลย ยกตัวอย่างที่ง่าย ๆ เช่น เราฟุ้งซ่านอยู่ แต่เรากลับคิดว่าเราปรารภความเพียร ก็คือนั่งสมาธิแทนที่จิตจะเป็นสมาธิ กลับไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ทนนั่งไปเรื่อย ๆ คิดว่าตนเองปรารภความเพียรอยู่ แสดงว่าเรื่องนี้กำลังหลอกลวงเราอยู่

ส่วนเรื่องของความลังเลสงสัย ก็บอกกับตนเองว่าเราเป็นคนรอบคอบระมัดระวัง คิดอย่างถ้วนถี่ เป็นต้น ถ้าเผลอเมื่อไรเราจะไปคิดเข้าข้างตัวเอง พูดง่าย ๆ ว่าหลอกตัวเอง หรือ เราเป็นผู้นิยมกล่าวคำหยาบ ด่าคนอื่นบ้าง แล้วก็ไปอ้างว่าเราเป็นผู้มีปกติกล่าววาจาเพื่อสะกดข่มคนชั่ว พูดง่าย ๆ ว่าเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น..!

ฉะนั้น..ในเรื่องวัญจกธรรม เป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้งมาก แบบวันก่อนที่บอกไว้ว่า แบกมานะไว้เต็มตัว แต่คิดว่าเราดี ปฏิบัติธรรมไปแล้วคิดว่าตนเองดี ถามว่าดีอย่างไรก็เปรียบเทียบกับคนอื่น อ้าว..เป็นการยกตัวเองเหนือคนอื่น ก็คือมานะดี ๆ นี่เอง ถ้าจะศึกษาวัญจกธรรมลองดูในพระไตรปิฎกได้ มีรายละเอียดมาก แต่ภาษาในพระไตรปิฎกเป็นภาษาที่ค่อนข้างยาก อาจจะทำให้เราเข้าใจยากนิดหนึ่ง เพราะต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที

ถาม : เป็นเรื่องที่น่าศึกษาครับ
ตอบ : มี ๓๘ ข้อ บางข้ออย่างเช่น ประจบชาวบ้านแต่กลับคิดว่าเรากล่าววาจาอันเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของผู้อื่น หลอกตัวเองสองชั้น มีกระทั่งตระหนี่ธรรมะ กลัวคนอื่นรู้เท่าตัวเอง แต่กลับไปอ้างว่าเรารักษาธรรมไว้ไม่ให้สูญหาย ธรรมนั้นจะได้ดำรงอยู่คงมั่นตลอดไป เป็นต้น