PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖


เถรี
15-02-2013, 19:48
ขอให้ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบาย กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ วันนี้มีญาติโยมถามปัญหาว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเข้าถึงความว่าง จะทราบว่าความว่างนั้นเป็นความว่างแบบไหน ? ซึ่งความว่างในการปฏิบัติของเรานั้นมีหลายระดับชั้นด้วยกัน

ความว่างระดับแรกก็คือ สติ สมาธิ เริ่มทรงตัวเป็นฌาน ถ้าอย่างนี้รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ จะโดนอำนาจของฌานกดดับลงไปชั่วคราว สภาพจิตที่เคยรุงรังด้วยกิเลสต่าง ๆ ก็สงบราบเรียบลง เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับตัวเองมาก่อน ก็จะรู้สึกว่าง เบาสบายอย่างยิ่ง อย่างนี้เรียกว่าว่างเพราะอำนาจของฌานสมาบัติกดทับกิเลสเอาไว้

ความว่างระดับต่อไป คือ ความว่างในอากาสกสิณ เป็นการกำหนดช่องว่างส่วนใดส่วนหนึ่งจับมาเป็นนิมิตในการภาวนา ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนั้นจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่เคยมีของเก่าในอดีต ฝึกเกี่ยวกับอากาสกสิณมาก่อน เมื่อทำไปจนสมาธิเริ่มทรงตัว ของเก่ากลับคืนมา เกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น ก็จะรู้สึกถึงความว่างได้เช่นกัน ในส่วนนี้ถ้าจิตของเราละเอียดพอ ก็จะแยกแยะออกได้ว่า ถ้าเป็นความว่างของกสิณนั้น จะเป็นความว่างอยู่ในลักษณะที่เรากำหนดเฉพาะเจาะจงจุดใดจุดหนึ่งตรงหน้า

ความว่างระดับถัดไปนั้นเป็นความว่างของอรูปฌาน ไม่ว่าจะเป็นอากาสานัญจายตนะฌานก็ดี วิญญาณัญจายตนะฌานก็ดี อากิญจัญญายตนะฌานก็ดี เนวสัญญานาสัญญายตนะฌานก็ดี อรูปฌานทั้งหลายเหล่านี้เกิดจากการที่เราเพิกรูปทิ้งไป แล้วจับความว่างของอากาศ จับความไร้ขอบเขตของวิญญาณ จับความรู้สึกที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเสื่อมสลายพังไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ และกำหนดความรู้สึกว่ามีเหมือนกับไม่มี รู้เหมือนกับไม่รู้ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จัดเป็นความว่างอีกอย่างหนึ่ง

บุคคลที่เคยทรงอรูปฌานในอดีต เมื่อกระทำไปจนกระทั่งกำลังทรงตัวแล้ว เข้าถึงอรูปฌานเดิม ๆ ก็ทำให้รู้สึกถึงความว่างเช่นกัน ตรงจุดนี้ถ้าจะสังเกตแยกแยะออกก็จะต้องสังเกตว่า เรายังทรงกำลังของฌานสมาบัติอยู่ การที่เราทรงกำลังของฌานสมาบัติอยู่แม้ว่าจะเบาสบายเพียงใดก็ตาม ความที่ยังต้องทรงฌานอยู่ก็จัดเป็นความหนัก บุคคลที่มีจิตละเอียดจริง ๆ ถึงจะแยกแยะออกได้

เถรี
16-02-2013, 18:24
ประการสุดท้ายนั้นเป็นความว่างเนื่องจากจิตมองเห็นโทษของร่างกายนี้ มองเห็นโทษของสภาพจิตที่คลุกคลีอยู่กับรัก โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย แล้วสามารถที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ลงจนหมด ยกจิตของตนเองขึ้นมาพ้นจากสภาพของราคะ โลภะ โทสะ โมหะได้ ก้าวล่วงจากสมมติเข้าสู่ความเป็นวิมุตติ ก้าวล่วงจากโลกเข้าสู่ทางธรรมแท้ ๆ

สภาพจิตของตนจะเหลือแต่เพียงผู้รู้เด่นอยู่เท่านั้น เป็นผู้รู้ที่มีหน้าที่กำหนดรู้เฉย ๆ ไม่ไปปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดเป็นรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนกับเราก้าวขาข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อข้ามฝั่งไปแล้วเราก็ไม่ย้อนกลับมาแตะต้องวอแวในสิ่งที่เคยผ่านมา ถ้าลักษณะนั้นจึงจะเป็นความว่างที่แท้จริง เป็นความว่างในลักษณะของการว่างจากกิเลส เป็นความว่าง ความใส ความสะอาด จากสภาพจิตที่ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นความว่างของการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง

ดังนั้น..ถ้าพวกเราต้องการจะเข้าถึงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราก็ต้องเน้นในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา โดยเฉพาะในส่วนของปัญญาที่มองเห็นทุกข์เห็นโทษของร่างกายนี้ ของโลกนี้ จนกระทั่งสามารถปล่อยวางได้ การที่เราจะมีกำลังมากพอที่จะยกจิตให้พ้นขึ้นมาจากร่างกายนี้ พ้นจากโลกนี้ได้ แล้วปล่อยสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ลง ก็ต้องมีกำลังสมาธิที่เข้มแข็งพอเพียง

กำลังสมาธิจะเข้มแข็งพอเพียงได้ เราก็ต้องมีศีลอย่างน้อย ศีล ๕ เป็นพื้นฐาน เมื่อสภาพจิตของเราจดจ่ออยู่กับการระมัดระวังรักษาศีลทุกสิกขาบทไม่ให้บกพร่อง การที่เราเอาจิตจดจ่อแน่วแน่ระมัดระวังศีลอยู่นั่นเอง สมาธิก็จะเกิดขึ้น เมื่อสมาธิเกิดขึ้นทรงตัว ตั้งมั่น มีกำลังกดกิเลสดับลงได้ชั่วคราว ตัวปัญญาก็จะเด่นขึ้น ผ่องใสขึ้น ก็จะเห็นช่องทางว่าจะทำอย่างไรถึงจะสละ ตัดละ ร่างกายนี้ โลกนี้ ความยินดีต่าง ๆ

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อสละออก ตัดออก ละออกได้ ก็จะก้าวเข้าสู่ความว่างอย่างแท้จริง เป็นความว่าง ใส สะอาด ที่เปี่ยมสุข ไม่สามารถจะอธิบายรายละเอียดเป็นภาษามนุษย์ได้ ไม่สามารถที่จะอธิบายรายละเอียดเป็นภาษาหนังสือได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ก้าวล่วงการปรุงแต่งทั้งปวงไปแล้ว ภาษามนุษย์ก็ดี ภาษาหนังสือก็ดี ยังเป็นภาษาที่ประกอบไปด้วยการปรุงแต่งอยู่ จึงไม่สามารถที่จะอธิบายสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านั้นได้

มีแต่สภาพจิตของเราที่เด่น ผ่องใส สะอาด เหลือแต่ตัวรู้อย่างเดียว ไม่ไปแตะต้อง ไม่ไปปรุงแต่ง ถ้าสิ่งไหนจำเป็นก็ออกไปสัมผัสด้วยความระมัดระวัง แล้วก็ย้อนกลับเข้ามาอยู่กับความผ่องใสที่ปราศจากกิเลสของตนต่อไป ถ้าอย่างนี้จึงจะเป็นความว่างที่แท้จริง

เถรี
18-02-2013, 11:43
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าเราจะก้าวเข้าสู่ความว่างที่แท้จริงหรือสภาวะพระนิพพานนั้น ก็ต้องอาศัยศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งจะพูดให้กว้างออก ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง

สำหรับพวกเราทั้งหลายนั้นก็ต้องมาเน้นเรื่องของสมาธิ เพราะเราทั้งหมดส่วนใหญ่มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ ก็ดี ศีล ๘ ก็ดี ในเมื่อศีลบริสุทธ์บริบูรณ์แล้ว ยังไม่สามารถจะก้าวล่วงไปได้ ก็แปลว่ากำลังสมาธิยังไม่เพียงพอ เราจึงต้องมาเน้นการฝึกสมาธิอย่างจริง ๆ จัง ๆ เพื่อที่จะประคองจิต รักษาจิตของเราให้มีความผ่องใส จนกระทั่งกำลังสมาธิเพียงพอ ดวงปัญญาก็จะเกิดขึ้น มีความแกร่งกล้า มีความแหลมคมพอ ก็สามารถที่จะสลัด ตัด ละ ความยินดี ความพอใจในร่างกายนี้ ในร่างกายของคนอื่น ในโลกนี้และในโลกอื่น ภพภูมิอื่นลงได้ เราก็จะหลุดพ้นไปสู่ธรรมอันว่างอย่างยิ่ง ก็คือพระนิพพานนั่นเอง

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อนและเถรี)