PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๖


เถรี
25-01-2013, 07:55
ขอให้ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบายของเรา ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา จะกำหนดลมหายใจเป็นฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐานก็ได้ ตามความเคยชินที่ฝึกมาก่อน แม้กระทั่งคำภาวนาก็ใช้คำภาวนาที่เราถนัด ที่เราชำนาญมาก่อน เพื่อที่สภาพจิตซึ่งเคยชินแล้วจะได้ดำเนินเป็นสมาธิได้ง่าย

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานต้นเดือนมกราคมรับปีใหม่เป็นวันสุดท้าย สำหรับในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือความอดทน ความพากเพียร และการใช้ปัญญา

ความอดทนนั้นจำเป็นสำหรับการปฏิบัติธรรมทุกระดับชั้น ถ้าไม่มีขันติ คือความอดทนที่พอเพียง ก็มักจะท้อถอยเสียก่อน เนื่องจากว่าการปฏิบัติธรรมในระยะแรก ๆ เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการว่ายทวนน้ำ หรือการปีนภูเขา ซึ่งต้องใช้การทุ่มเททั้งความพยายามและเรี่ยวแรงอย่างมหาศาล ถ้าความอดทนของเราไม่เพียงพอ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะเราจะท้อถอย หรือเลิกไปเสียก่อน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ ประโยคแรกเลยก็คือ ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันตินี้เป็นเครื่องประดับอย่างยิ่งของผู้ตั้งใจบำเพ็ญตบะ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าผู้ใดก็ตามที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ต้องมีขันติ คือความอดทน อดกลั้น อดออมอย่างพร้อมมูล ไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติก็จะไม่เกิดผล ท่านที่ปฏิบัติแล้วยังไม่ได้ในส่วนที่ตนเองปรารถนา ก็ขอให้รู้ว่าเราอาจจะบกพร่องตรงขันติบารมีนี่เอง

ข้อที่สองคือความพากเพียร การปฏิบัติธรรมทุกอย่าง ต้องอาศัยความเพียรพยายามโดยไม่ท้อถอย เพียรพยายามในลักษณะของการฝนทั่งให้เป็นเข็ม ถ้าใครเคยเห็นเขาตีเหล็ก สิ่งที่รองชิ้นงานอยู่ ถูกเขาเอาค้อนฟาดลงไปอยู่ตลอดเวลานั่นคือทั่งเหล็ก ซึ่งจะเป็นชิ้นเหล็กที่ใหญ่โตมาก ถ้าเราจะฝนทั่งนั้นจนกระทั่งเล็กเท่ากับเข็ม ก็ต้องใช้ความพากเพียรและระยะเวลาที่ยาวนาน โบราณท่านถึงได้เปรียบเอาไว้ว่า ความพยายามของเราต้องให้ได้ในระดับฝนทั่งให้เป็นเข็ม ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทุกอย่าง

เถรี
27-01-2013, 08:25
เมื่อเรามีความอดทนแล้ว ยังต้องมีความเพียรพยายาม การเพียรพยายามนั้นต้องเพียรพยายามให้ถูกต้องด้วย ไม่ใช่เราพากเพียรทุ่มเท ไม่ยอมกินไม่ยอมนอนต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ถ้าลักษณะอย่างนั้นร่างกายจะรับไม่ไหว อาจจะเกิดอาการสติแตก กรรมฐานแตก สร้างความเดือดร้อนให้กับเราเอง

ความเพียรพยายามนั้นต้องมีกำหนดเวลาที่แน่นอนและสม่ำเสมอ พากเพียรไม่ย่อท้อ ไม่ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไรจะไม่ละเว้นจากการปฏิบัติอย่างเด็ดขาด ถ้าเป็นเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าเราเป็นผู้ประกอบไปด้วยวิริยบารมี คือมีความเพียรที่สมควรแก่การเป็นผู้ปฏิบัติธรรม

ข้อสุดท้ายคือปัญญาบารมี ถ้าเรามีความอดทน มีความพากเพียร แล้วขาดปัญญา ก็อาจจะอยู่ในลักษณะของบุคคลที่เรียกว่า ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา คือเป็นบุคคลที่ปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยาก เพราะไม่รู้จักใช้ปัญญามองหากองกรรมฐานที่เหมาะสมแก่จริตของตน มองหาวิธีการที่จะปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นการปฏิบัติของเราก็จะกลายเป็นเนิ่นช้า

โดยเฉพาะตัวปัญญานี้ต้องมีกำกับอยู่ในหัวข้อธรรมทุกบท ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็อาจจะปฏิบัติผิด ๆ พลาด ๆ นอกจากไม่บังเกิดผลดีแล้ว ยังอาจจะเกิดผลร้ายขึ้นมาได้ การที่เราจะมีปัญญารู้ว่าอะไรถูก อะไรควรนั้น ก็เกิดจากการที่เราคอยระมัดระวัง เทียบเคียงหลักการปฏิบัติในปัจจุบันนั้น ว่าเกิดผลตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนมาหรือไม่ หรือว่าผลนั้นตรงตามตำราที่เราศึกษามาหรือไม่ หรือถ้าจะเอาให้ชัดเลยก็คือผลการปฏิบัติของเราตรงตามพระพุทธวจนะในพระไตรปิฎกหรือไม่

ถ้าเราใช้ปัญญาประกอบ ปฏิบัติไปด้วยความระมัดระวังเช่นนี้ โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในการเจริญกรรมฐานก็จะมีมาก

เถรี
28-01-2013, 19:34
ดังนั้น..อาตมาพิจารณาดูแล้วว่าในปัจจุบันนักปฏิบัติส่วนใหญ่จะบกพร่องใน ๓ สิ่งใหญ่ ๆ ก็คือความอดทน ความพากเพียร และการใช้ปัญญาประกอบในการปฏิบัติธรรมของตน

เมื่อทราบแล้วก็ขอให้ทุกคนตรวจสอบดูว่าตนเองบกพร่องตรงจุดไหน ในระยะเวลาใด แล้วก็แก้ไขไปตามสภาพ ก็จะทำให้การปฏิบัติของเรามีความก้าวหน้าขึ้นจนเป็นที่พอใจได้

ลำดับต่อไปขอให้ทุกคนเอาใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาของเรา หายใจเข้า..เอาความรู้สึกกำหนดรู้ตามไปตั้งแต่ต้นยันปลาย หายใจออก..เอาความรู้สึกตามออกมาตั้งแต่ต้นยันปลาย ใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็ได้ตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธและเถรี)