PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕


เถรี
04-12-2012, 19:59
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดจิตไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาตามอัธยาศัยที่พวกเราเคยกระทำมา

วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานต้นเดือนวันสุดท้ายของพวกเรา ระยะนี้เป็นกาลกฐิน กาลกฐินก็คือวาระแห่งการทอดกฐิน วาระแห่งการทอดกฐินจะเริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงกลางเดือน ๑๒ เป็นระยะเวลา ๒๙ วันเท่านั้น ญาติโยมหลายท่านได้ไปทอดกฐินตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้วก็กลับมาเจริญกรรมฐานกัน ถือว่ากระทำได้ถูกต้อง

เนื่องจากว่าบุญกฐินนั้นแม้ว่าจะเป็นสังฆทานพิเศษ เพราะจำกัดด้วยระยะเวลา ปีหนึ่งแต่ละวัดรับกฐินได้ครั้งเดียว มีระยะเวลาในการทอดกฐินปีละ ๒๙ วันเท่านั้น แม้อานิสงส์กฐินจะมาก แต่ก็ยังเป็นอานิสงส์ในส่วนของทานเท่านั้น อานิสงส์ในส่วนของศีล ในส่วนของภาวนา เราจะขาดเสียไม่ได้

อรรถกถาจารย์ท่านบอกว่า การให้ทานนั้นเกิดมาจะร่ำรวย การรักษาศีลเกิดมาจะรูปสวย จะมีจิตใจดีงาม การภาวนาเกิดมาจะมีปัญญาเฉลียวฉลาด เราจำเป็นต้องทำให้ครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ อย่าเน้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเราเกิดมารวยแต่ไม่มีปัญญา ก็อาจจะรักษาทรัพย์สมบัติไม่ได้ เกิดมาสวยแต่ว่าไม่มีเงินทอง ไม่มีปัญญา ความสวยก็แทบจะช่วยอะไรเราไม่ได้ เกิดมาเป็นคนมีปัญญามาก แต่ต้องลำบากในการหาทรัพย์เพราะไม่ร่ำรวย หรือหน้าตาของเราดูไม่ได้ ต่อให้มีปัญญามากก็ยังคงต้องประสบกับความลำบากอยู่

เถรี
05-12-2012, 20:33
ดังนั้น..ท่านทั้งหลายที่ฉวยโอกาสในวาระกฐิน ตลอดระยะการปฏิบัติกรรมฐาน ๓ วัน มีการเดินทางไปวัดวาอารามต่าง ๆ เพื่อร่วมในการทอดกฐิน และไม่หลงลืมที่จะย้อนกลับมาในการบำเพ็ญภาวนา ซึ่งถือว่ามีอานิสงส์มากกว่ากฐินหลายเท่า

สิ่งที่เราปฏิบัตินั้น ถ้าถามว่าเรายังมุ่งหวังในผลของบุญกุศลอยู่ จะเป็นการโลภหรือไม่ ? ก็ต้องบอกว่าความมุ่งหวังนั้นต้องมีเป็นปกติ ถ้าเราไม่หวังเราก็จะไม่คิดที่จะกระทำ เราต้องทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกำลังใจของเราเต็มแล้วก็จะค่อย ๆ ปล่อยวางได้เอง

คำว่าปล่อยวางนั้น ก็คือ ทำทานโดยไม่ผูกพัน ไม่ไปเสียเวลาคิดว่าสถานที่นั้นเหมาะที่จะเป็นเนื้อนาบุญหรือไม่ ? เขารับปัจจัยไทยธรรมจากเราไปแล้วได้เอาไปใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ ? ถ้ากำลังใจเต็มเสียแล้ว เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราจะวางอุเบกขาได้โดยอัตโนมัติ

แต่ตราบใดที่ยังไม่เต็ม การทำบุญโดยเลือกเนื้อนาบุญ ต้องถือว่าเป็นบุคคลที่มีความฉลาด รู้ว่าที่ไหนควรจะกระทำกองบุญการกุศล ที่ไหนควรจะละเว้น เมื่อเราเพิ่มด้วยศีล ด้วยภาวนาเข้าไป เราก็จะได้รับอานิสงส์ครบถ้วนบริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ธรรมะของพระองค์ที่พระภิกษุสงฆ์จะนำไปแสดงต่อญาติโยมนั้น ให้แสดงธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ก็คือในเรื่องของการแนะนำให้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั่นเอง การที่เราจะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั้น เราก็ต้องสั่งสมกองบุญการกุศลในอดีตมาเป็นจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วน กว่าที่กำลังใจของเราจะยึดมั่นในหลักความดีทั้งหลายเหล่านี้

เถรี
07-12-2012, 20:05
กำลังใจของเราแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ๙ ขั้นด้วยกัน ระดับแรก เรียกว่า สามัญบารมี คือกำลังใจขั้นต้น แบ่งเป็นหยาบ กลาง ละเอียด สามัญบารมีอย่างหยาบ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาไม่เป็นทั้งนั้น เกิดมาทั้งชาติบางทีไม่รู้จักคำทั้งหลายเหล่านี้เลย สามัญบารมีขั้นกลาง ตั้งใจจะให้ทานแล้วบางทีก็ยังซุกคืนไปอีก ก็คือเกิดความตระหนี่ถี่เหนียว ไม่สามารถที่จะตัดใจให้ได้ สามัญบารมีขั้นละเอียด สามารถให้ทานได้ แต่พอบอกเรื่องรักษาศีล เรื่องปฏิบัติภาวนาจะไม่มีกำลังใจคิดที่จะทำเลย

ขั้นที่ ๒ เรียกว่า อุปบารมี คือ กำลังใจขั้นกลาง มีหยาบ มีกลาง มีละเอียดเช่นกัน อุปบารมีขั้นหยาบ ให้ทานได้ พอบอกว่าให้รักษาศีล ให้เจริญภาวนา รู้สึกเหมือนกับแบกช้างทั้งตัว ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อให้ทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นได้ อุปบารมีขั้นกลาง สามารถให้ทานได้ รักษาศีลก็ขาดบ้าง พร่องบ้าง ต้องเป็นอุปบารมีขั้นปลาย ถึงจะสามารถให้ทานได้ รักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่บอกว่าให้ภาวนาก็ไม่มีความคิดที่จะกระทำเลย

ต้องมาถึงระดับปรมัตถบารมี คือกำลังใจขั้นสูงสุด ประกอบไปด้วย ๓ ระดับเหมือนกัน ก็คือ ปรมัตถบารมีขั้นหยาบ ให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่พอมาถึงการเจริญภาวนาก็ภาวนาบ้าง นึกด่าชาวบ้านเขาบ้าง ปรมัตถบารมีขั้นกลาง สามารถให้ทานได้ รักษาศีลได้ ภาวนาอารมณ์ใจทรงตัวบ้าง หลุดหายไปบ้าง ต้องปรมัตถบารมีขั้นปลาย ขั้นละเอียดที่สุด ขั้นสูงสุด จึงสามารถให้ทานได้ รักษาศีลได้ เจริญภาวนาได้

เถรี
10-12-2012, 07:48
ในเมื่อเราทราบแล้วว่ากำลังใจของเราอยู่ในระดับไหน ก็พยายามประคับประคอง สร้างเสริมกำลังใจของเราให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของภาวนา เหมือนกับเป็นบันไดที่จะพาเราก้าวล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน บันไดทั้งหลายเหล่านี้เป็นบันไดที่ยืดยาวมาก เราจำเป็นที่จะต้องขยันก้าวเดินอยู่ทุกวัน เพื่อที่จะให้ไปสู่จุดหมายปลายทางให้ได้เร็วที่สุด ถ้าเราไม่ขยันก้าวเดินทุกวัน ก็จะเริ่มช้าลงไปทุกที

ดังนั้น..การที่ญาติโยมทั้งหลายอาศัยฤดูของกาลกฐิน ออกไปทำบุญกฐินตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ก็ยังย้อนกลับมาเพื่อที่จะปฏิบัติในเรื่องของสมาธิภาวนา ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความทุกข์ของร่างกายนี้ จนกระทั่งจิตใจปล่อยวาง ไม่มีความต้องการร่างกายนี้อีก ไม่ต้องการที่จะเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากอย่างนี้อีก มีกำลังใจปักมั่น จดจ่อในพระนิพพานแห่งเดียว ก็ถือว่าท่านทั้งหลายมาได้ถูกทางแล้ว วางกำลังใจได้ถูกที่แล้ว

ก็เหลืออยู่อย่างเดียวว่า ต้องระมัดระวังรักษากำลังใจของเรา ให้เกาะความดีในศีล ในสมาธิ ในปัญญาอย่างนี้ ให้ต่อเนื่องติดตามกันไปเรื่อย เพื่อที่ผลดีจะได้เกิดขึ้นกับเรา คือสามารถยกจิตของตนก้าวขึ้นสู่ภพภูมิที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งท้ายสุดหลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน ดังที่ทุกคนตั้งความปรารถนาเอาไว้ ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธและเถรี)

ชินเชาวน์
21-12-2013, 15:16
สามารถรับชมได้ที่

http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2555-11-04

ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !