PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


เถรี
07-11-2012, 20:58
ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หายใจเข้า..เอาความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..เอาความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ตามที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานต้นเดือนตุลาคมวันสุดท้ายของพวกเรา

ช่วง ๒-๓ วันนี้ ส่วนใหญ่แล้วญาติโยมจะห่วง กังวล หรือกลัวว่าจะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ เนื่องจากตอนนี้พายุแกมีกำลังเข้าประเทศเวียดนามและคาดว่าจะตรงมายังประเทศไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วความกลัว หรือความกังวลทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตำหนิ เพราะว่าตราบใดที่เรายังกลัวตายอยู่ เราย่อมกลัวในทุกเรื่อง จะกลัวมากกลัวน้อยก็อยู่ที่วิสัยเฉพาะตัว บุคคลที่ปราศจากความกลัวโดยสิ้นเชิงก็เห็นจะมีแต่พระอรหันต์เท่านั้น

เมื่อเป็นดังนั้นการที่พวกเรากลัวก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตำหนิติเตียนแต่ประการใด เพียงแต่ความกลัวนั้น ให้กลัวในลักษณะของผู้ที่ไม่ประมาท คือ ต้องมีการเตรียมพร้อมด้วย อย่างเช่น ถ้ามีของที่จะถูกน้ำท่วมเสียหายได้อยู่ในที่ต่ำ เราก็โยกย้ายขึ้นสู่ที่สูง ถ้าเราเตรียมพร้อมดังนี้ ต่อให้ฝนฟ้ามาหนักแค่ไหน เราก็ไม่ต้องไปกังวลใจ

จะว่าไปแล้วก็ตรงกับการปฏิบัติธรรมของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปไว้ ในตอนที่พระองค์ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ” ต้องยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ธรรมะที่พระองค์ท่านแสดงมาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปแล้วรวมลงตรงความไม่ประมาทนี้เอง

เถรี
12-11-2012, 07:09
เมื่อเราไม่ประมาท ไม่ทราบว่าตนเองจะถึงความตายเมื่อไร เราก็ต้องเร่งกอบโกยความดีใส่ตัวของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำหน้าที่ของเราวันนี้ให้ดีที่สุด คิดอยู่เสมอว่าพรุ่งนี้ไม่มีสำหรับเรา บุคคลที่มีวันนี้วันเดียวหรือมีเวลาอยู่แค่ชั่วลมหายใจเดียว ย่อมต้องทำหน้าที่เฉพาะหน้าของตนเองอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะการสั่งสมความดีเพื่อที่จะก้าวล่วงจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

ในเมื่อเราเป็นผู้ที่ไม่ประมาทก็ย่อมปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญาอย่างเต็มที่ ในเรื่องของศีลนั้นนอกจากจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองแล้ว ยังไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลด้วย

ในเรื่องของสมาธินั้นให้พยายามกำหนดรู้ลมหายใจให้ได้ทุกเวลา เพราะถ้าสติของเราขาดจากลมหายใจ สมาธิก็จะไม่มี รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นกิเลสต่าง ๆ ก็จะแทรกเข้ามาได้ง่าย และจะพาเราไหลตามกระแสไป กลายเป็นไม่สามารถที่จะสร้างความดีได้อย่างที่ต้องการ

ในส่วนของปัญญานั้น อย่างต่ำที่สุดต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย เมื่อรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย ก็ให้ตั้งเป้าไว้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ? ถ้าตอบตนเองว่าตายแล้วเราจะไปพระนิพพาน การที่เราจะไปพระนิพพานได้มีกติกาอย่างไรเราก็ต้องทำให้เต็มที่ ต่อให้ไม่สามารถไปถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้ เราก็ต้องไปให้ได้ไกลที่สุด ให้สูงที่สุดเท่าที่เราจะพึงทำได้

เถรี
14-11-2012, 08:54
ถ้าจะใช้ปัญญามากขึ้น ก็ต้องมีความรู้สึกหรือความเห็นว่า สภาพร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ไม่ได้มีความสะอาดอย่างแท้จริง ร่างกายนี้ประกอบไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เหงื่อไคลต่าง ๆ เป็นต้น

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้หลั่งไหลออกมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าจะทางทวารทั้ง ๙ ก็ดี ทางรูขุมขนก็ดี ทำให้ร่างกายของเรา ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ สกปรกโสโครกไปด้วยกัน ต้องทำการชำระสะสาง ต้องขัดสี ต้องอบรม ต้องป้องกันรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกายของเราก็ดี กายของคนอื่นก็ดี กายของสัตว์อื่นก็ดี มีความสกปรกโสโครกเช่นนี้เป็นปกติ ถ้าเราสามารถเห็นชัดอย่างนี้ได้ จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในอัตภาพร่างกายนี้ เบื่อหน่ายในอัตภาพร่างกายของคนอื่น ก็จะถอนความปรารถนาในร่างกายทั้งของตนเองและของคนอื่นออกมา

ถ้ายิ่งเราสามารถพิจารณาให้เห็นชัดว่า อัตภาพร่างกายนี้สักแต่ว่าประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบไปด้วยไออุ่นและวิญญาณ ยังอยู่ได้ด้วยอาหาร ให้เราอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว เมื่อถึงวาระก็เสื่อมสลายไป พังไป ไม่สามารถจะยึดถือมั่นหมายว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ เพราะไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเราเลย

เราก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ร่างกายนี้เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง ตัวเราคือจิตนี้เป็นคนขับรถ ถึงเวลารถพัง คนขับรถก็ต้องไปหารถคันใหม่ ซึ่งจะได้มาตามบุญตามบาปที่เราสร้างไว้ สร้างบุญไว้มากก็ได้รถดี ๆ สร้างบาปไว้มากก็ได้รถพัง ๆ เป็นต้น

เมื่อเราเห็นชัดเจนอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าธรรมดาของร่างกายนี้ ก้าวเข้าไปหาความตายเป็นปกติ ความตายไม่มีอะไรน่ากลัว เป็นการเปลี่ยนรูปเปลี่ยนขันธ์ไปตามบุญตามบาปเท่านั้น และถ้ายิ่งเราสามารถหลุดพ้นไปถึงพระนิพพานได้ ก็ยิ่งไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด เพราะไม่มีความทุกข์ใดสามารถเอื้อมไปถึงเราได้

เถรี
15-11-2012, 05:32
ถ้าทุกท่านสามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงดังนี้ สภาพจิตของเราก็หมดอยากที่จะยึดครองในร่างกายนี้ หมดอยากที่จะต้องการเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเยี่ยงนี้ เราก็สามารถหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานได้

สำหรับหลายท่านที่เคยถามว่าจะปฏิบัติกรรมฐานอย่างไรจึงจะเหมาะสมแก่ตน ขอบอกว่าทุกคนต้องอาศัยอานาปานสติ คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก แล้วหลังจากนั้นเราจะปฏิบัติควบไปด้วยพรหมวิหาร ๔ ก็ดี หรือพุทธานุสติคือกำหนดภาพพระไปด้วยก็ดี ตลอดจนกระทั่งกรรมฐานกองอื่น ๆ นั้น ก็อยู่ที่ความชอบใจของเรา แต่จะทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ เพราะถ้าทิ้งลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติทุกประการจะไม่ทรงตัว ผลของการปฏิบัติก็จะไม่เกิดขึ้น

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจดูลมหายใจเข้า-ออกของตนเอง หายใจเข้า..กำหนดความรู้สึกทั้งหมด ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..กำหนดความรู้สึกทั้งหมด ไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาตามที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม ถ้าลมหายใจเบาลง ก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง ถ้าคำภาวนาหายไป ลมหายใจหายไป ก็กำหนดรู้ว่าคำภาวนาหายไป ลมหายใจหายไป

เพราะว่าเมื่อถึงตรงจุดนั้น สภาพจิตที่นิ่ง ละเอียด ใสสะอาดนั้น การปรุงแต่งใด ๆ ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคำภาวนาจึงไม่สามารถที่จะมีได้ การกำหนดรู้ลมหายใจไม่สามารถที่จะมีได้เช่นปกติ จนกว่าสภาพจิตจะคลายออกมาสู่อารมณ์ที่หยาบกว่านั้น จึงสามารถที่จะกำหนดรู้ลมหายใจหรือกำหนดคำภาวนาต่อไปได้

ตอนนี้ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนา หรือพิจารณา หรือกำหนดภาพพระตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยรัตนาวุธและเถรี)

ชินเชาวน์
21-12-2013, 15:14
สามารถรับชมได้ที่

http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2555-10-07

ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !