PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕


เถรี
30-09-2012, 21:04
ทุกคนขยับตัวนั่งในท่าที่สบาย ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติทั้งหมดอยู่เฉพาะหน้า เวลาหายใจเข้า..เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป เวลาหายใจออก..เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ตามความถนัดมาแต่เดิมของเรา

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันสุดท้ายของเดือนนี้ จากเมื่อครู่ที่มีการถามปัญหาต่าง ๆ นั้น ทำให้สามารถรู้ได้ว่า ในเรื่องของการปฏิบัติภาวนานั้น พวกเราส่วนหนึ่งยังขาดความจริงจังเป็นอย่างมาก

การที่เราขาดความจริงจัง จริงใจในการปฏิบัติ ทำแล้วไม่สม่ำเสมอ มีลักษณะทำ ๆ ทิ้ง ๆ นอกจากจะทำให้การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้าแล้ว ยังอาจจะถอยหลังเสียด้วยซ้ำไป เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนกับเราว่ายทวนน้ำ เมื่อว่ายไประยะหนึ่งแล้วเราก็รามือ ปล่อยให้กระแสโลกพาเราไหลตามไป เมื่อได้เวลาที่กำหนดไว้ก็ตั้งหน้าตั้งตาว่ายทวนน้ำขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นก็รามือปล่อยให้กระแสน้ำพัดกลับไปอีก

กลายเป็นว่าทุกวันเราทำงานด้วยความขยัน แต่ไม่ได้มีผลงานเลย ยิ่งถ้าวันใดเหนื่อยมาก เพลียมาก ไม่สามารถจะภาวนาได้ในระยะเวลาเท่าเดิม ก็เท่ากับว่าเราว่ายทวนกระแสขึ้นมาได้ไม่เท่าเดิม กลายเป็นขาดทุนไปอีก เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เราจึงต้องสังวรเอาไว้ ว่าการปฏิบัตินั้นควรจะทำให้เห็นผลจริง ๆ

การที่เราจะทำให้เห็นผลจริงนั้น เราจะใช้คำภาวนาอย่างไรก็แล้วแต่ อยู่ที่เราถนัดและชอบใจ ไม่ต้องเปลี่ยนคำภาวนา ให้ใช้ตามของเดิมที่เราเคยมาก่อน สภาพจิตมีความเคยชิน จะได้ทำให้เข้าสู่สมาธิได้ง่าย และโดยเฉพาะตัวที่ขวางการเข้าสู่สมาธิของเราก็คือ การอยากให้เกิดผลดีไว ๆ ตัวที่อยากให้เกิดผลดีนั่นแหละ แสดงออกซึ่งความฟุ้งซ่าน แสดงออกซึ่งความที่จิตของเราไม่รวมตัวเป็นหนึ่ง แล้วผลของสมาธิจะเกิดได้อย่างไร ?

เถรี
02-10-2012, 14:59
ถ้าเราต้องการให้ผลการปฏิบัติของเราปรากฏขึ้นโดยไว เราต้องวางกำลังใจว่า เรามีหน้าที่ภาวนา ส่วนผลจะเกิดหรือไม่เกิดอย่างไรก็ช่างเถิด ถ้าสามารถปล่อยวางกำลังใจอย่างนี้ได้ จิตจะกลายเป็นทรงสมาธิภาวนาได้เร็ว เนื่องจากว่าอัปปนาสมาธิทุกขั้น ตั้งแต่ปฐมฌานหยาบขึ้นไป จะมีตัวเอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวอยู่ด้วยทุกระดับ ตัวอารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวเป็นตัวอุเบกขาในแต่ละฌาน

เมื่อต้องมีตัวอุเบกขา ถ้าเราไปอยากได้ใคร่ดี จิตย่อมไม่สามารถจะเข้าถึงฌานสมาบัติได้ การที่เราปล่อยว่าเรามีหน้าภาวนา ส่วนจะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นก็ช่างเถอะ ลักษณะนั้นแหละคือการวางอุเบกขา

เมื่อรู้เคล็ดลับแล้วเราก็จะปฏิบัติให้สมาธิทรงตัวได้เร็ว แต่หลายท่านก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเคยทำ เคยปฏิบัติ จนสมาธิทรงตัวแล้วก็ทิ้งไปเสียนาน บุคคลที่เคยภาวนาจนสมาธิทรงตัวแล้วทิ้งไปนาน ๆ จะโดนท่วมทับด้วยกระแสกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ต่างเจริญงอกงามมากกว่าปกติ เพราะเคยโดนกดด้วยอำนาจของสมาธิเจียนตายมาแล้ว รัก โลภ โกรธ หลง กลัวว่าจะต้องตายไป จึงต้องงอกงามให้มากกว่าปกติ เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงว่าตัวเองไม่ตายแน่

เมื่อเป็นดังนั้น บุคคลที่เคยทรงสมาธิภาวนาได้แล้วทิ้งไปนาน ๆ จะตีอารมณ์กลับคืนมาได้ยากมาก ๆ เท่าที่เคยมีประสบการณ์มานั้น บุคคลที่ทิ้งการปฏิบัติภาวนาไปนาน ๆ แล้วจะกลับมาให้มีอารมณ์ใจทรงตัวเหมือนเดิมดังแต่ก่อนนั้น จะต้องเหตุฉุกเฉินขึ้นในชีวิต และเหตุฉุกเฉินนั้นต้องหนักหนาสาหัสถึงระดับถึงแก่ชีวิตเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นสมาธิจะทรงตัวเร็วมาก เพราะถ้าสมาธิไม่ทรงตัวคติของตนก็ไม่แน่นอน สภาพจิตที่มีความเคยชิน ถึงวาระรู้ว่าการเข้าสู่สมาธิระดับนั้นจะปลอดภัยที่สุด ก็จะวิ่งกลับเข้าสู่สมาธิภาวนานั่นเองโดยอัตโนมัติ

แต่ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉินหนัก ๆ เป็นต้นว่าเกิดอุบัติเหตุหรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วยปางตาย กำลังใจยากนักที่จะรวมตัวกลับคืนมาได้ เพราะรัก โลภ โกรธ หลงย่อมต้องต่อต้านสุดชีวิต พวกเราทั้งหลายเมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่เราเคยพลาดพลั้ง เคยบกพร่องไปอย่างไร ก็ให้รีบแก้ไขโดยด่วน

เถรี
05-10-2012, 19:05
สิ่งที่เราจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติประกอบไปด้วยศีล ถ้าศีลของเราบกพร่อง ด่างพร้อย ขาด ทะลุ อย่างไรก็ตาม ให้ตั้งใจเดี๋ยวนั้นว่า ศีลของเราทุกสิกขาบทบัดนี้บริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วก็ตั้งใจระมัดระวังรักษาของเราต่อไป ในแต่ละวันพยายามทบทวนดูว่า วันนี้ศีลของเรามีข้อใดที่บกพร่องบ้าง ถ้ามีข้อบกพร่องก็พยายามแก้ไขให้ดีขึ้น ถ้าหากว่าดีอยู่แล้วก็รักษาความดีนั้นให้ทรงตัวยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ในส่วนของสมาธิภาวนานั้น เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว อย่าปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ ส่วนใหญ่แล้วเราปฏิบัติภาวนาเสร็จ เมื่อเลิกแล้วเราก็ทิ้งเลย ทำให้อารมณ์ใจของเราไม่ทรงตัว ไม่ก้าวหน้า ถ้าปฏิบัติภาวนาจนสมาธิทรงตัวแล้ว ให้ใช้สติสัมปชัญญะของเรา ประคับประคองอารมณ์สมาธินั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าสภาพจิตเคยชิน กระทำอย่างนี้บ่อย ๆ ต่อไปก็สามารถที่จะทรงสมาธิต่อเนื่องได้เป็นวัน ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๑๐ วัน ครึ่งเดือน ๑ เดือน เป็นต้น

ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้สภาพจิตที่เคยชินกับการที่อำนาจของรัก โลภ โกรธ หลงไม่สามารถที่จะครอบงำได้ ก็จะมีความผ่องใสเป็นพิเศษ เราก็สามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของบุคคลอื่นก็ดี สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็ดี มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด

ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ เราไม่พึงปรารถนาอัตภาพร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้อีกแล้ว ร่างกายของคนอื่นเราก็ไม่ต้องการ โลกนี้เราก็ไม่ต้องการ เราปรารถนาแห่งเดียวคือพระนิพพาน หลังจากนั้นก็ให้ส่งกำลังใจขึ้นไปเกาะพระนิพพาน หรือเกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบเอาไว้ จากนั้นก็ภาวนาให้กำลังใจทรงตัวมั่นคง แล้วประคับประคองความมั่นคงในอารมณ์นั้นเอาไว้

ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้บ่อย ๆ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะมีขึ้นจนถึงระดับที่น่าพอใจ ลำดับต่อไปนี้ ก็ให้ทุกคนตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๕

ชินเชาวน์
21-12-2013, 15:12
สามารถรับชมได้ที่

http://www.sapanboon.com/vdo/demo.php?filename=2555-09-02

ป.ล.
- สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้
- ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด !