PDA

View Full Version : คิดอย่างไรไม่ให้ฟุ้งซ่าน


โอรส
20-10-2011, 23:10
ถาม : เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราคิดอยู่ในความฟุ้งซ่าน หรือเป็นการคิดที่อยู่ในเหตุและผล ?
ตอบ : เป็นคำถามที่ดีมาก ถามแบบนี้แสดงว่าเราระวังอยู่ตลอดเวลา

การคิดที่ถูกต้องอันดับแรกให้คิดอยู่ในกรอบของ "ไตรลักษณ์" ไตรลักษณ์ คือลักษณะของความเป็นจริงสามประการ ประกอบด้วย
อนิจจัง ความไม่เที่ยงเป็นปกติ
ทุกขัง เราไปยึดถือมั่นหมายเมื่อไร จะประกอบไปด้วยความทุกข์อย่างแน่นอน
อนัตตา ไม่มีอะไรยึดถือเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในที่สุดก็เสื่อมสลายไปทั้งหมด

อันดับสองคิดในแบบของ "วิปัสนาญาณ ๙" คือ
พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
พิจารณาเห็นความดับ
พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่าเบื่อหน่าย
พิจารณาเพื่อต้องการจะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร
พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ ดังกล่าวมาข้างต้น
จนกระทั่งในที่สุดถึงจุดสุดท้ายก็จะปล่อยวางกลายเป็น สังขารุเบกขาญาณ คือยอมรับสภาพของสังขาร เห็นธรรมดาของสังขาร

อันดับสามคิดตามแนว "อริยสัจ" อริยสัจให้คิดในเรื่องทุกข์ อย่างเดียวก็พอ เพราะถ้าเรารู้ทุกข์ เราก็ไม่อยากจะไปแตะต้องทุกข์อีก ถ้าเห็นว่าเข้มข้นเกินไปหรือหนักเกินไป ก็พิจารณาสองตัวคือทุกข์กับสมุทัย สมุทัย คือสาเหตุที่ทุกข์เกิด ที่เราทุกข์อยู่ปัจจุบันนี้ สาเหตุใหญ่ก็คือการเกิดมา ถ้าเราไม่เกิดมา เราก็ไม่ต้องทุกข์อย่างนี้ พยายามตัดตรงที่สาเหตุคือ ตัวอยากเกิดให้ได้ ถ้าหากว่าตัดลงได้ก็คือ นิโรธ ขณะที่เรากำลังตัดกำลังทำก็คือ มรรค อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น..ก็พิจารณาแค่สมุทัยกับทุกข์สองตัวก็ได้ หรือจะเอาแต่ทุกข์อย่างเดียว เห็นแล้วเข็ดไม่เอาเลยก็ได้

ถ้าหากว่าอยู่ในกรอบของความคิดสามแบบ คือ ตามแนวของไตรลักษณ์ก็ดี ตามแนวของวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ดี ตามแนวของอริยสัจ ๔ ก็ดี เป็นอันว่าความคิดของเราถูกต้อง แต่ถ้าพ้นจากนี้ไปคือคิดฟุ้งซ่าน

ฟังแล้วเหนื่อยไหม ? นึกว่าฟังแล้วเหนื่อย คนอธิบายไม่เหนื่อยจ้ะ ถ้าหากว่ามีคนสนใจจริง ๆ คุยกันได้ ๓ วัน ๓ คืนเลย

สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕