PDA

View Full Version : วิธีทำสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นอกาลิโก


ลัก...ยิ้ม
06-09-2011, 07:45
วิธีทำสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นอกาลิโก

หลวงปู่ไวยฯ ท่านเมตตาสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. พระท่านมีศีลคุมกาย-วาจาอยู่แล้ว ท่านจึงปฏิบัติที่ใจอย่างเดียว ฆราวาสมีศีลไม่เท่าพระ แต่พยายามทำอย่างพระ (หลวงปู่ท่านเน้นสอนพวกเรา ๒ คน ให้ดูตัวอย่างท่านพระ..... ซึ่งท่านสำรวมกาย-วาจาได้ดีแล้ว เพราะท่านพูดน้อย ไม่ค่อยจะพูดกับใคร ท่านพูดเท่าที่จำเป็น ท่านไม่นินทาใคร-ตำหนิใคร-ไม่จับผิดใคร แม้พวกเรา ๒ คนซึ่งท่านให้ความสนิทสนมเป็นพิเศษ ท่านก็ยังพูดด้วยน้อยเต็มที ซึ่งตรงข้ามกับเรา ๒ คน ซึ่งพูดมากจนเกินพอดี)

๒. หลวงปู่ท่านแนะนำวิธีการทำสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นอกาลิโกว่า ท่านเขียนหนังสือติดต่อกัน ๒ ชั่วโมง กำลังทางกายก็ตก (เสื่อม) มีผลทำให้สมาธิตกด้วย ทำให้อารมณ์ตื้อ-ฝืด ท่านแก้ไขโดยลุกขึ้นไปปลูกต้นไม้ เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถทางกาย แต่จิตไม่คลายจากสมาธิ จิตยังอยู่กับพระกรรมฐาน ท่านทำสลับกันอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง

๓. “การหลับก็เป็นเรื่องของกาย ส่วนจิตยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้รู้-ผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา ตัวนี้มีในพระสูตร ที่พระองค์ทรงให้พระอานนท์เทศน์แทนพระองค์ พระองค์ทรงสีหไสยาสน์ตรงนั้น พอพระอานนท์เทศน์จบ ก็ทรงตื่นบรรทม และรับรองการเทศน์ของพระอานนท์ว่าถูกต้อง เป็นต้น”

๔. หลวงปู่ท่านว่า คนธรรมดา ๆ จะทำได้แค่ ๘ ชั่วโมงก็ไม่ไหวแล้ว

จากนั้นสมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนว่า

๑. “อย่าคิดว่าธรรมะที่ได้จากหลวงปู่ไวย แม้เพียงชั่วโมงเศษก็นับว่าไม่น้อย แต่ธรรมที่ได้นั้น ถ้าหากปฏิบัติตามได้ ก็เป็นของมีค่ามหาศาล”

๒. “ให้นำมาพิจารณาให้ละเอียด เมื่อฟังเทปของท่านแล้ว จักเห็นธรรมในธรรมที่ลึกซึ้ง มีความหมายในการปฏิบัติยิ่งนัก แค่ธาตุลมหรืออานาปาฯ ตัวเดียว มันแปรปรวนอยู่ทุกคน นี่ท่านหมายความว่าเรียนเท่าไหร่ก็ไม่จบ คือ มันไม่เที่ยง เอาแน่ไม่ได้อยู่อย่างนั้น ถ้าเรียนจบก็คือร่างกายมันตายเท่านั้นแหละ จุดนี้ผู้รู้ลมอยู่นั่นแหละ คือผู้ไม่ประมาทในความตาย”

๓. “จงอย่าสนใจจริยาของผู้อื่น ในการสนทนากับหลวงปู่ไวย การที่เจ้ายกตัวอย่างคนไม่เอาศีล มุ่งเอาแต่สมาธิก็ดี หรือที่คุณหมอกล่าวถึงภิกษุบางเหล่า มุ่งเอาแต่ปริยัติก็ดี แม้จักพูดโดยธรรม แต่ก็ยังเป็นการสนใจจริยาของผู้อื่นอยู่ดี ต่อไปให้พูดถึงเฉพาะการปฏิบัติของตนเองเป็นสำคัญ และจักถามอะไรก็ให้ดูก่อนว่าควรหรือไม่ควร เกินภูมิหรือไม่ ถามแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง อย่าถามโดยสะเปะสะปะ”

๔. “เรื่องปัญญาบารมีนั้น เกี่ยวกับการสั่งสมทางด้านปัญญาบารมีของแต่ละบุคคล อย่างที่หลวงปู่ไวยท่านว่า วิสัยมีทั้งหยาบ-อ่อน-ละเอียด-แข็งกระด้าง”

๕. “วิสัยคนหยาบ จักให้คิดพิจารณาของละเอียดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ นี่ถ้าหากพวกเจ้าตรวจดูวิสัยของตนเอง จักทราบว่าจิตตนเองมีวิสัยอย่างไร”

๖. “คนละเอียด แม้มีกิจการใด ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตรวจแล้วตรวจอีกว่าเรียบร้อยหรือไม่ เขาจักไม่ปล่อยงานนั้นให้ผ่านไปอย่างชุ่ย ๆ”

๗. “การรู้วิสัยตนเอง ก็จักต้องฝึกฝนดัดวิสัยของตนเสียใหม่ ให้รู้จักใช้ความคิดเป็นการฝึกฝนการสั่งสมปัญญาขึ้นมาในทางด้านปฏิบัติในพระพุทธศาสนา”

๘. “ปัญญาในที่นี้ คือ พิจารณาให้รู้แจ้งแทงตลอดในขันธ์ ๕ และรู้แจ้งในการระงับตัดกิเลสที่สิงอยู่ในอารมณ์ของตนเอง ขันธ์ ๕ ของคนอื่น กิเลสของคนอื่น จงอย่าไปเกี่ยวข้องด้วย ค่อย ๆ ฝึกฝนคิดพิจารณาไป อย่าวางอารมณ์กรรมฐานทิ้งไป ให้เตือนตนเองเข้าไว้เสมอ ๆ”

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com (http://www.tangnipparn.com)