PDA

View Full Version : อารมณ์สันโดษจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร


ลัก...ยิ้ม
11-05-2011, 10:58
อารมณ์สันโดษจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. “คำว่าสันโดษนี้ ยังคนให้เข้าใจความหมายพลาดไปเป็นอันมาก มักจักเข้าใจว่าการอยู่ในที่สงบตามลำพัง ปราศจากคนพูดหรือสิ่งกระทบรบกวนเป็นสันโดษ นั่นเป็นเพียงกายวิเวก แต่จุดมุ่งหมายจริง ๆ ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ที่ได้อบรมให้พระสาวกรู้จักคำว่าสันโดษนั้น คือ วิเวกทั้งกาย วาจา ใจ”

๒. “การมีศีลคุมกายให้วิเวก ไม่ว่าอยู่ในถิ่นที่ทุรกันดาร ถิ่นที่เจริญรุ่งเรืองด้วยบ้านและผู้คนร้านค้า อาคารใหญ่โต ถิ่นที่ลับตาคน เช่น ป่าเขาลำเนาไพร ในถ้ำ ในคูหา กายของพระสาวกจักสงบ ไม่มีการล่วงละเมิดศีล ไม่ทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าคนหรือสัตว์ วัตถุธาตุต่าง ๆ ด้วยเหตุแห่งการละเมิดศีลนั้น นี่คือกายสันโดษเป็นลำดับต้น ไม่ว่าในที่ลับหรือที่แจ้ง พระสาวกย่อมมีกายวิเวกเป็นปกติ”

๓. “ลำดับกลาง คือ วจีวิเวก นี่วาจาสันโดษ คำพูดในที่นี้คือ สงบทั้งทางปากและเสียงพูดทางใจด้วย คือไม่ละเมิดทั้งวจีกรรม ๔ สถาน ในกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ คือ สงบจากการไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดนินทาและไม่พูดเพ้อเจ้อ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่ว่าจักอยู่คนเดียวหรืออยู่ในที่สาธารณชน ในหมู่สัตว์ที่ไม่มีคน พระสาวกที่รักสันโดษจักสงบปากคำ อันเป็นวจีวิเวกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจักเป็นยามหลับหรือยามตื่น วจีกรรมจักไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น คน สัตว์ วัตถุธาตุต่าง ๆ เป็นอันขาด”

๔. “สงบในอันดับสุดท้าย คือ จิตสันโดษ อารมณ์วิเวกโดยแท้ ไม่ต่อกรรมกับอารมณ์เลวร้ายที่เข้ามากระทบทั้งปวง เห็นธรรมดาในธรรมดา จนจิตชินในธรรมดานั้น ๆ อยู่เป็นปกติ จิตสันโดษแม้ไปอยู่ในหมู่คนมาก ก็เห็นธรรมดาในหมู่คนมากนั้น คนไม่มีศีลก็เป็นคนไม่มีศีลอยู่ตามปกติ คนไม่มีธรรมก็ไม่มีการประพฤติธรรมอยู่ตามปกติ เห็นหมดตลอดในธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ อกุศล กุศล อัพยากฤต เห็นปกติธรรมจิตก็สงบ ไม่มีอารมณ์ดิ้นรนหรือฝืนกฎของธรรมดา นี่แหละคือจิตสันโดษ สงบได้จริง ๆ จักต้องถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา”

ลัก...ยิ้ม
12-05-2011, 11:30
ธัมมวิจยะ เรื่องสันโดษ

๑. การสนทนาธรรม คุย ๆ กันแล้วหากไม่พึงจดบันทึกไว้ด้วย ก็ลืมได้ บางคนไม่กี่นาทีก็ลืมได้ ลืมดี ให้ถามตนเองว่าที่คุย ๆ กันมานั้นมีอะไรบ้าง เมื่อกลับถึงบ้านจำได้หรือเปล่า ถ้ายังจำได้ ก็ไม่ใช่ความจำเสื่อม หากจำไม่ได้แสดงว่าโรคความจำเสื่อมเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

๒. โรคความจำเสื่อม ไม่จำเป็นจะต้องมีอาการปวดหัวด้วยเสมอไป และการปวดหัวก็มิใช่จะต้องเป็นโรคประสาทเสมอไป สาเหตุจากโรคหวัด-โพรงจมูกอักเสบ-เครียดก็ปวดหัวได้ ความดันเลือดสูงหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหันก็เป็นได้ เป็นต้น

๓. บางคนที่มีอรูปฌานในตน ชอบทรงอารมณ์อากิญจัญญายตนญาณ คือเห็นโลกทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือ จิตปล่อยวางหมด มีปัญหาอะไรเข้ามากระทบก็ปล่อยวางหมด ไม่ใช้อริยสัจคือ กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ คือหนีปัญหา ไม่คิดสู้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่วิธีปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องทางพุทธศาสนา คือมีเรื่องอะไรเข้ามาก็วางเฉย ช่างมัน โดยไม่คิดพิจารณา ใช้อารมณ์ตัดให้ลืมไปเลย ทำบ่อย ๆ เลยชินกลายเป็นฌานในการลืม ซึ่งคิดว่าดีแต่จริง ๆ ไม่ดี เพราะไม่ได้สร้างปัญญาให้เกิด หนีปัญหาหลบเข้าไปอยู่ในอรูปฌานลูกเดียว

๔. หลักที่พระพุทธองค์ให้ไว้คือ กิเลสของคนอื่นไม่ต้องแก้เพราะแก้ไม่ได้ ให้แก้กิเลสของเรา เหตุการณ์บางอย่างเป็นวิสัยกฎของกรรม แก้ไขไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของคนภายนอก ก็ไม่ต้องแก้ ให้พิจารณาให้เห็นเป็นธรรมดา ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่พ้นกฎของกรรม ไม่พ้นกฎของธรรมดาไปได้ ถ้าพิจารณาให้ลงตัวได้ จิตก็จักเป็นสุขมาก มิใช่คิดแล้วฝืนธรรมดา จิตยังสงบไม่ลง ก็ยังไม่ใช่สันโดษอย่างแท้จริง

๕. พระองค์ให้ดูตัวอย่างพระสันโดษ ที่ท่านแสดงธรรมนี้ได้อย่างชัดเจน ก็คือหลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านแสดงธรรมสันโดษไปทั่วทุก ๆ สถานที่ ทุก ๆ บุคคล และทุก ๆ เหตุการณ์ ท่านมีความพอดีหมด ทั้งกาย-วจี-จิตวิเวกอยู่ในธรรมนี้เป็นปกติ ซึ่งก็คือตัวมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง

๖. การสนทนาธรรมกันจึงมีประโยชน์สุดประมาณ หากรู้จักและเข้าใจเรื่องอารมณ์สันโดษได้ตามความเป็นจริง ธรรมทั้งหมดที่ทรงตรัสสอนนั้นมีความพิสดาร มีความละเอียดลึกซึ้งอยู่ในธรรมมาก ขอให้ทุกคนสนใจในการสนทนาธรรมกัน ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นหรือพ้นทุกข์ทั้งสิ้น ทุกคนล้วนมีเวลาเหลือน้อย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง อาจตายได้ในขณะจิตเดียว หากประมาทในความตาย นิพพานสมบัติหรือทางไปพระนิพพานก็อุดตันในบุคคลผู้นั้น แค่รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน ก็สามารถเข้าสู่พระนิพพานได้แล้วโดยไม่ยาก อยู่ที่ความเพียรของเราเท่านั้น จุดนี้ไม่มีใครช่วยใครได้ กรรมใครกรรมมัน เพราะที่พึ่งอันสุดท้ายก็คือจิตหรือตัวเราเอง


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com (http://www.tangnipparn.com)