PDA

View Full Version : ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว


ลัก...ยิ้ม
30-03-2011, 11:33
ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
แต่ยังอยู่ในคราบผ้าเหลือง หากกลับใจได้จะพ้นโทษไหม

สมเด็จองค์ปัจจุบัน ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้มีความสำคัญดังนี้

๑. “เจ้าก็รู้ว่า ไม่มีอะไรจักเที่ยงเท่ากฎของกรรมใช่ไหม (ก็รับว่า ใช่) เพราะฉะนั้น ให้ดูเยี่ยงอย่างของพระเทวทัตในพุทธันดรนี้ สุดท้ายเขากลับใจสำนึกในบาปที่ตนทำมา กล่าวขออโหสิกรรมก่อนตาย แล้วพระเทวทัตลงอเวจีมหานรกใช่ไหม” (ก็รับว่า ใช่)

๒. “กรณีภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกในปัจจุบันก็เช่นกัน กฎของกรรมก็เป็นกฎของกรรม ดีก็ส่วนดี ชั่วก็ส่วนชั่ว แต่ถ้ามีกรรมที่เป็นกุศลกรรมหนุนอยู่บ้าง กลับใจได้ กรรมที่เป็นอกุศลก็จักส่งผลไม่ยาวนาน อย่างเช่นพระเทวทัต เป็นต้น”

๓. “ดูตัวอย่างพระเจ้าอชาตศัตรู ประหารบิดาก็จัดเป็นอนันตริยกรรม แต่กรรมดีที่สำนึกตัวกลับใจได้ ขอขมาพระรัตนตรัยและเป็นประธานจัดให้มีการปฐมสังคายนา ทำบุญทำทานหนีบาปกันอย่างมากมาย จัดว่าท่านได้เข้าถึงพระไตรสรณาคมน์แล้ว และมีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา แต่กฎของกรรมก็คือกฎของกรรม จักต้องชดใช้วาระแห่งกฎของกรรมนั้น เพียงแต่ความสำนึกที่กลับใจได้ทำกรรมดี ได้ช่วยให้กฎของกรรมชั่วผ่อนหนักให้กลับเป็นเบา แทนที่พระเจ้าอชาตศัตรูจักลงอเวจีมหานรก กลับไปลงแค่โลหะกุมภีนรกเท่านั้น”

ลัก...ยิ้ม
04-04-2011, 12:04
๔. “เนื่องจากกฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ กรรมใครก็กรรมมัน ดังนั้นการจะให้หมดวาระกรรม ก็จะต้องหมดที่ใจของตนเอง โดยอาศัยหลักกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ หาต้นเหตุแห่งกรรมนั้นให้พบ แล้วแก้ไขเสีย กรรมทุกชนิดเกิดที่ใจก่อนทั้งสิ้น”

๕. “ในทางปฏิบัติก็อาศัยหลักศีล สมาธิ ปัญญา รักษาศีลจนกระทั่งศีลรักษาจิตเรา ไม่ให้กระทำผิดศีลอีกเป็นอธิศีล ใช้สังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัด ตัดข้อที่ ๑-๒-๓ ได้ก็พ้นกรรมที่ต้องตกอบายภูมิ ๔ ได้ถาวร ต่อไปก็รักษาอารมณ์จิตของเราให้เป็นสมาธิ หรือทรงฌาน จนกระทั่งสมาธิรักษาจิตของเราไม่ให้เกิดอารมณ์ ๒ คือ พอใจ (ราคา,โลภะ) กับไม่พอใจ (ปฏิฆะและโทสะ) เป็นอธิจิต ตัดสังโยชน์ข้อที่ ๔-๕ ได้ ก็พ้นจากการเกิดมีร่างกายในโลกมนุษย์ได้อย่างถาวร ขั้นสุดท้ายก็ตัดสังโยชน์ที่เหลืออยู่อีก ๕ ข้อ ซึ่งเป็นอารมณ์หลงละเอียดทั้งสิ้น ทั้งหมดรวมลงในข้อที่ ๑๐ คืออวิชชา จุดนี้ต้องอาศัยอธิปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องกองสังขารแห่งกายและแห่งจิต ก็พ้นจากการเกิดเป็นนางฟ้า เทวดา และพรหมอย่างถาวร จุดที่ต้องไปก็คือพระนิพพานเท่านั้น”

๖. “ให้ใช้พรหมวิหาร ๔ ให้จงหนัก ใคร่ครวญดูตามที่ตถาคตเคยตรัสสอนมา จงอย่าสนใจจริยาของผู้อื่น กรรมของผู้อื่น ใครเขาทำกรรมชั่วเขาก็ตกเป็นทาสของกิเลส ก็น่าสงสารอยู่แล้ว จงอย่าไปซ้ำเติมเขาจักเข้าตนเอง เพราะจิตเราไปยินดียินร้ายกับกรรมชั่วของเขา เป็นการเบียดเบียนตัวเราเอง สร้างกรรมต่อกรรมให้เกิด มิใช่ตัดกรรม หากเข้าใจจุดนี้การตัดกรรมก็เร็วขึ้น

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็น เอาพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักวางอารมณ์ของจิตให้ถูก ถ้ามีความเพียรให้ถูกทางจริง ๆ ไม่ช้าก็หลุดได้ อย่างตอนที่เจ้าเพียรรักษาศีลนั่นแหละ แม้แต่ยุงตัวเล็ก ๆ เจ้าก็ตีเขาไม่ลง ทำร้ายเขาไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ยุงทำประโยชน์อะไรไม่ได้ นี่เขาเป็นคนนะ ยังทำประโยชน์ได้ ถ้าวาระกรรมที่เป็นกุศลให้ผลกับเขาหรือว่ายุงมันด่าไม่เป็นเหมือนคน พวกเจ้าเลยไม่โกรธยุงนานเหมือนโกรธคน คิดทบทวนให้ดี ๆ เพราะอารมณ์ปฏิฆะหรือไม่พอใจ ไม่ช่วยให้จิตของพวกเจ้าผ่องใสได้หรอก พยายามคิดเสียให้เข้าใจในธรรมะจุดนี้ แล้วพวกเจ้าจักเข้าถึงธรรมดาแห่งธรรมนี้”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com (http://www.tangnipparn.com)