PDA

View Full Version : อารมณ์ไม่เกาะงาน


ลัก...ยิ้ม
02-02-2011, 08:45
อารมณ์ไม่เกาะงาน


สมเด็จองค์ปฐมทรงมีพระเมตตาตรัสสอน โดยให้หลักไว้ดังนี้

๑. “ให้สังเกตอารมณ์จริง ๆ ในขณะที่ทำงานอยู่ คือ จิตกระทบกับงาน”

๒. “จุดนี้แหละ จักรู้ว่าเกาะหรือไม่เกาะ”

๓. “ทุกอย่างทำไปตามหน้าที่ รับผิดชอบกับผลของงาน แต่ต้องไม่หงุดหงิด หรืออารมณ์เสียเพราะงาน”

๔. “หรือให้ละเอียดลงไป คือ ไม่ติดความสวยงามของงานคือ ไม่มีโทสะด้วย ก็จักต้องไม่มีราคะด้วย” (หมายถึงไม่มีอารมณ์ ๒ พอใจกับไม่พอใจ)

๕. “สังเกตอารมณ์ตรงนี้ให้ดี ๆ จึงจักรู้ว่าจิตเกาะงานหรือไม่? ไม่ใช่สังเกตแต่เพียงว่าเลิกทำงานแล้วหรือยังไม่ทำงาน แต่คิดเรื่องงานไปแล้วล่วงหน้า หรือคิดต่อท้ายไม่ยอมหยุด ต้องรู้อารมณ์ในขณะทำงานด้วย นั่นแหละจึงจักเป็นของจริง”

ลัก...ยิ้ม
03-02-2011, 08:41
ธัมมวิจัย :

๑. ทรงให้ดูอารมณ์จริง ๆ ในขณะจิตที่กระทบงาน หากมันหวั่นไหวไปกับงานนั้น โดยที่ยังไม่ได้ทำงานนั่นคือจิตเกาะงาน เอางานมาแบก เอางานมาเป็นนายของเรา (ของจิต) แทนที่เรา (จิต) จะเป็นนายของงาน เริ่มต้นก็ผิดแล้วถ้าจิตแบกงาน

๒. จิตเราต้องรู้ความจริงว่า งานทุกอย่างในโลกเป็นไตรลักษณ์ จึงไม่มีใครทำงานของโลกได้เสร็จจริง ๆ

๓. คนทุกคนเกิดมาต้องมีงานหนัก งานหลักอยู่แล้วทุกคน คือ งานที่จะต้องเลี้ยงดูขันธ์ ๕ หรือร่างกายซึ่งไม่เที่ยง สกปรก มันหิวทั้งวัน มันเสื่อมตลอดเวลา คือ มีเวทนาตลอดเวลา เดี๋ยวปวดท้องขี้ ปวดท้องเยี่ยว หิว เดี๋ยวปวดเมื่อยตรงโน้นตรงนี้ ทำความไม่สบายกายให้เกิด มีผลทำให้ใจไม่สบายไปด้วยตลอดเวลา คือ สร้างความทุกข์ให้กับใจตลอดเวลา

๔. หากจิตโง่ รู้ไม่เท่าทันเรื่องของกาย (กายสังขาร) ว่า ปกติธรรมดาของกายทุกกายที่เกิดมาในโลก มันก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่มีใครจะไปห้ามมันได้ คือ ทุกขสัจ เป็นทุกข์ของกาย ห้ามฝืน ยิ่งฝืนยิ่งทุกข์ เพราะธรรมดาของมันก็เป็นของมันอย่างนั้นเอง

๕. ผู้ฉลาดย่อมเอาจิตเป็นนาย เอากายเป็นบ่าว หรือเอาจิตคุมกาย ไม่ใช่เอากายคุมจิต

๖. การทำงานในโลกซึ่งเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง ใครยึดเข้าก็เป็นทุกข์ทันทีที่ยึด ผู้ฉลาดจึงรู้ว่าจิตต้องอาศัยกายเป็นผู้ทำงาน แต่ทำอย่างผู้มีปัญญาคือ ทำตามหน้าที่ ทำให้ดีที่สุด ไม่เบี้ยวงาน รับผิดชอบงานที่ตนทำ แต่จิตไม่เกาะติดทุกข์ ทำดีที่สุด ได้แค่ไหนพอใจแค่นั้น จิตไม่ทุกข์ไม่สุขไปกับงาน เพราะรู้ว่าสุขทุกข์ล้วนไม่เที่ยง จะเอาแต่สุขอย่างเดียวย่อมไม่ได้ ยิ่งเกาะสุขเท่าใด ทุกข์ก็เกิดตามมาเท่านั้น

๗. ผู้มีปัญญาจึงเอางานที่ตนทำนั้นมาเป็นพระกรรมฐานได้อย่างดี เพราะพระธรรมท่านแสดงธรรมเรื่องไม่เที่ยง หรือแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นอยู่ตลอดเวลาทุกขณะจิต ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่เห็นได้

๘. ผู้มีปัญญาท่านเอาอายตนะ ๑๒ มาเป็นพระธรรมสอนใจท่าน คือ อายตนะภายใน ๖ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับอายตนะภายนอก ๖ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งโดยปกติเขาก็กระทบกันอยู่แล้วเป็นคู่ ๆ เรียกว่า อายตนะสัมผัส ท่านเข้าใจจุดนี้ด้วยปัญญาว่า เมื่ออายตนะในกับอายตนะนอกกระทบกัน ย่อมทำให้เกิดอารมณ์ ๓ ได้ คือ ความโลภ โกรธ หลง หรือเกิดเป็นธรรมได้ ๓ อย่างเช่นกัน คือ ธรรมที่เป็นกุศล (บุญ) ธรรมที่เป็นอกุศล (บาป) และธรรมที่เป็นกลาง ๆ ไม่เป็นทั้งบุญและบาป จุดนี้ละเอียดมากขอเขียนไว้แค่หลักเท่านั้น

ผมก็ขอเขียนเป็นแค่ตัวอย่างไว้เท่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า การใคร่ครวญพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อยู่เสมอ ๆ หรือธัมมวิจัย ย่อมทำให้เกิดปัญญาที่นำไปสู่ความหลุดพ้น หรือพ้นทุกข์ได้ตามลำดับ ใครทำใครได้ ขอทุกท่านจงอย่าทิ้งความเพียรเสียอย่างเดียวในการหมั่นใคร่ครวญพระธรรมอยู่เสมอ พระธรรมเป็นตัวกลาง จิตของท่านจะอยู่กับจิตพระพุทธเจ้าตลอดเวลา พุทโธอัปปมาโณเกิดที่จุดนี้ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามก็ย่อมไม่ทราบได้ เพราะของจริงต้องเกิดกับจิตของเราก่อนเสมอ ผู้อื่นจะมาบอกให้เรารู้ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ก็สู้เรารู้ด้วยจิตของตนเองครั้งเดียวไม่ได้ ก็ต้องขอจบไว้ก่อนแต่เพียงเท่านี้

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com