PDA

View Full Version : ไม่รู้จักทุกข์ ก็พ้นทุกข์ไม่ได้


ลัก...ยิ้ม
07-01-2011, 15:49
ไม่รู้จักทุกข์ ก็พ้นทุกข์ไม่ได้
หรือไม่รู้จักกฎของกรรม ก็พ้นกรรมไม่ได้


สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

๑. “อารมณ์น้อยใจเป็นอารมณ์อะไร” (ตอบว่า เป็นอารมณ์ไม่พอใจ เพราะมีความปรารถนาไม่สมหวัง) “แล้วเป็นธรรมดาของโลกไหม” (ตอบว่า เป็นธรรมดาของโลก)

๒. “นั่นสิ เจ้าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจเป็นทุกข์ นี่เป็นธรรมดาของโลก แล้วเจ้าจักดิ้นรนไปใยกัน” (เพื่อนของผม ท่านรู้สึกว่าท่านไม่ได้รับความยุติธรรมจากบุคคลผู้อื่น)

๓. “ใครบอกเจ้าว่าไม่ยุติธรรม นี่เป็นกฎของกรรมนะ ถ้าเจ้าไม่ทำเอาไว้ก่อน กรรมนี้มีหรือจักตกทอดถึงเจ้าได้เยี่ยงนี้ จักว่าไม่ยุติธรรมได้อย่างไร กรรมในอดีตเป็นเช่นไร กรรมปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น ใครใช้เจ้าอยากทำกรรมเอาไว้เยี่ยงนี้ในชาติก่อนทำไมกัน”

๔. “ภิกษุพาณิชย์โลภหรือ เจ้าก็โลภมาก่อนในอดีต เขาอวดดีมีฝีมือเป็นเลิศในการทำงานหรือ เจ้าก็เคยอวดดีเยี่ยงนี้มาก่อนในอดีต แล้วบัดนี้เป็นอย่างไร กฎของกรรมมันตามมาสนอง ชาตินี้เจ้าถึงจักมีการศึกษาในด้านศิลป์ดีเลิศไม่ได้เพราะเยี่ยงนี้ ความทะนงถือตนว่าดีเด่น ทำให้คนลืมตนมามากแล้ว ความโลภก็ฆ่าคนตายมามากแล้ว เวลานี้เจ้าเข้าถึงธรรมะ บรรเทาแล้วซึ่งความโกรธ โลภ หลง แม้จักยังไม่หมด ก็เห็นโทษของความโกรธ โลภ หลง เห็นอดีตชาติอันเคยทำกรรมลามกไว้ เยี่ยงภิกษุพาณิชย์รูปนี้ กรรมนั้นเคยพาเจ้าลงสู่อเวจีมหานรกมาแล้ว เมื่อเห็นโทษอยู่เยี่ยงนี้ก็ย่อมไม่กล้ากระทำเยี่ยงนี้อีก ในบุคคลที่หลงผิดจึงน่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่เจ้าได้รับอยู่ในขณะนี้ ก็เป็นเพียงเศษของกรรม จักน้อยใจไปทำไมกัน” (ก็ยอมรับว่า ตนยังระงับอารมณ์น้อยใจไม่อยู่)

ลัก...ยิ้ม
10-01-2011, 08:46
๕. “ก็เป็นธรรมดา หากเรื่องขนาดนี้เจ้าระงับอยู่ก็เป็นพระอรหันต์ได้สบาย ๆ ไปแล้ว”

๖. “คิดบ้าง ระงับบ้าง อย่าสร้างความโศกเศร้าเสียใจให้มากนัก เตือนใจของตนเองเข้าไว้ อย่าประมาทในอารมณ์ก็แล้วกัน อย่าปล่อยอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านจนเกินไป จักห้ามไม่ให้เจ้าคิดเลย มันก็ผิดธรรมดา”

๗. “พยายามระลึกถึงความตายเข้าไว้ อย่าประมาทในอารมณ์ก็แล้วกัน ปัญหาเหล่านี้เจ้าจักแก้ไขอะไรไม่ได้ สู้หยุดอยู่ให้สบาย ๆ ดีกว่า หาธรรมปฏิบัติมาใส่ใจดีกว่า อย่าไปดิ้นรน เพราะวาระกรรมยังไม่หมดที่จักส่งผล อดทนไปอีกสักระยะหนึ่ง นี่เป็นกรรมฐานทดลองจิตเจ้าล่ะ”

๘. “แม้ทนไม่ไหว ก็ต้องทนไหวบ้าง ทนไม่ไหวบ้าง เป็นธรรมดา สอบตกก็ตั้งต้นใหม่ อดทนตรงที่อารมณ์ใจของตนนี่แหละเป็นสำคัญ ให้รู้อารมณ์ของตนเข้าไว้ มันอยากร้องไห้ก็ร้องไห้ไป มันอยากหยุดก็ดูสิ จิตมันเป็นอย่างไร ดูสิร้องไห้ เศร้าโศกเสียใจ มันเป็นคุณหรือเป็นโทษ ดูสิ มันหยุด ไม่เสวยอารมณ์ใด ๆ อยู่เฉย ๆ มันเป็นคุณหรือเป็นโทษ อันไหนมันจักสบายใจกว่ากัน ดูไป คิดไป ให้จิตมันยอมรับเองด้วยปัญญา ใช้อุปสรรคเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์แก่ผลของการปฏับัติธรรม”

ลัก...ยิ้ม
11-01-2011, 08:33
๙. “อย่าโง่ เอาแต่เกาะทุกข์ลูกเดียวไม่มีประโยชน์อันใด ตถาคตไม่ต้องการสอนคนที่ไม่รู้จักอารมณ์ จักพ้นทุกข์ได้อย่าไปรบกับใคร ให้รบกับอารมณ์กิเลสที่เกิดขึ้นในจิตของตนเอง รบกับบุคคลอื่นชนะก็ชนะเพียงชั่วคราว ไม่ยั่งยืนถาวร ต้องรบกับอารมณ์กิเลสของตัวเองโดยยึดหลักสังโยชน์เข้าไว้ ชนะให้ได้ตามนั้น ถ้าชนะได้ก็ชนะตลอดไปจีรังยั่งยืนถาวรเสมอ ขอเพียงสักแต่ว่าให้รู้อารมณ์ของตนเอง รบ ๑๐๐ ครั้งก็ชนะทั้ง ๑๐๐ ครา นี่เป็นประโยชน์แก่เจ้าแล้วนะ ที่มีอุปสรรคให้เกิดขึ้นจนรู้จักทุกข์ถึงขนาดนี้ ก็จงอย่าพึงปล่อยโอกาสดีให้ผ่านไป”

๑๐. “ใช้ทุกข์ให้เป็นประโยชน์ จักได้เข้าถึงอริยสัจกันจริง ๆ เสียที คนโง่เท่านั้นที่กอดทุกข์เข้าไว้ เหมือนอุปมา คนจักจมน้ำตาย ยังกอดคอผู้อื่นให้จมน้ำตายไปด้วย ทั้ง ๆ ที่คนผู้นั้นจักช่วยให้พ้นจากการจมน้ำตาย คนฉลาดเขาคลายทุกข์ เหมือนกับคนจักจมน้ำตาย รู้ว่าอีกคนเขาจักช่วยเราปล่อยให้เขาคว้า จิตก็พิจารณาไปตามนั้น รู้ว่าเขาช่วยเรา เราจักไม่กอดคอเขาไว้ ปล่อยวางให้เขาทำหน้าที่ตามสบาย ๆ ตามกำหนดรู้ พิจารณาตามหลักความเป็นจริงอย่างเดียว ทุกข์กอดทุกข์ ก็จมทุกข์อยู่นั่นแหละ”

๑๑. “ทุกข์คลายทุกข์ พิจารณาตามกำหนดรู้ทุกข์ เมื่อเข้าถึงทุกข์ก็เข้าถึงอริยสัจ ปล่อยวางทุกข์ ก็เท่ากับช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ใช้ประโยชน์ให้เป็นสิ”

๑๒. “ในทุกข์ตัวเดียวกันนี้แหละ จักพ้นทุกข์ก็ได้ จักจมทุกข์ก็ได้ คนไม่รู้จักตัณหาก็พ้นตัณหาไม่ได้ คนไม่รู้จักทุกข์ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ นักปฏิบัติจักสอบได้หรือสอบตก หากไม่มีอารมณ์กระทบนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ พวกเจ้าต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของจุดนี้ให้ดี ๆ”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com