PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๓


เถรี
16-10-2010, 16:24
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้าของเรา หายใจเข้าให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออกให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะกำหนดคำภาวนาอย่างไรก็ได้แล้วแต่เราถนัด

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานประจำต้นเดือนตุลาคมของพวกเราวันที่สองแล้ว

ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น สิ่งที่ทุกท่านจะลืมไม่ได้เลย อันดับแรกก็คือ เรื่องของลมหายใจเข้าออก เพราะว่าเป็นการปฏิบัติที่ทำให้เรามีสมาธิทรงตัว การที่สมาธิจะทรงตัวได้ต้องอาศัยการกำหนดดูลมหายใจเข้าออกไปด้วย

ในขณะเดียวกัน ทุกท่านก็ต้องละทิ้งความกังวลทั้งหมด ความกังวลที่ภาษาบาลีเรียกว่า ปลิโพธ อยู่ที่นี่แล้วห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงบ้านห่วงช่อง ห่วงการงาน เป็นต้น

เราต้องตัดใจว่า เราอยู่ที่นี่ ถึงอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราไม่สามารถที่จะไปแก้ไขได้อยู่แล้ว ถ้าจะดูตัวอย่าง ก็ต้องดูตัวอย่างของบุคคลในธรรมบทที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ คือ นางกาติยานี

นางกาติยานีเป็นมหาเศรษฐี เป็นบุคคลที่เลื่อมใสในพระโสณกุฎิกัณณเถระ ตั้งใจไปฟังธรรรม ปรากฏว่า การแสดงธรรมนั้นเป็นเวลาค่ำ นางจึงสั่งสาวใช้ให้กลับบ้าน ไปเอาคบไฟมามาก ๆ หน่อย เพื่อจุดให้แสงสว่างแก่คนทั่วไป จะได้มีความสะดวกในการฟังธรรมจากพระโสณกุฎิกัณณเถระ

เมื่อสาวใช้กลับบ้านไป ปรากฏว่าเห็นบรรดาโจรกำลังเจาะกำแพงบ้าน เพื่อจะเข้าไปปล้นทรัพย์ จึงรีบวิ่งกลับมาบอกเจ้านายว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า..บัดนี้โจรกำลังเจาะกำแพงเพื่อที่จะประสงค์เอาทรัพย์อยู่"

นางกาติยานีกล่าวว่า “ขอเธอจงอย่าทำเราฉิบหายจากความดีเสียเลย ขึ้นชื่อว่าการฟังธรรมนั้นเป็นของยาก ใครจะประสงค์ต่อทรัพย์ก็ให้เขาเอาไปเถอะ เราจักฟังธรรม”

เถรี
17-10-2010, 21:19
หัวหน้าโจรที่แอบดูเหตุการณ์อยู่ คิดว่า "คนใช้วิ่งมาคงจะมาบอกเจ้านายแน่ ถ้าเจ้านายเธอนำเอาข้าทาสย้อนกลับไป ลูกน้องของเราเองยังไม่ได้ทรัพย์สิน ก็จะเสียเวลาเปล่า เราจะฟันนางกาติยานีให้ตายอยู่ตรงหน้าประตูวัดนี้ แต่ถ้าหากเธอไม่กลับไป ยังคงอยู่ฟังธรรมต่อ แสดงว่าเธอเป็นคนมีความดีจริง ๆ เราก็ไม่ควรจะเบียดเบียนคนดีขนาดนี้"

เมื่อนางกาติยานีไม่ยอมกลับ ตั้งใจฟังธรรมจริง ๆ หัวหน้าโจรจึงเกิดความละอายใจ เมื่อจบการแสดงธรรม นางกาติยานีจะกลับบ้าน หัวหน้าโจรจึงมาสารภาพผิด ให้บริวารขนทรัพย์สินกลับไปคืนให้

เราจะเห็นตัวอย่างของบุคคลในธรรมบท ที่ตัดความกังวลทุกเรื่องเพื่อการฟังธรรม ถ้าเปรียบกับพวกเรา ก็คือ เราต้องตัดกังวลทุกอย่าง แม้เหตุที่จะทำให้ทรัพย์สินเสียหายหรือถึงแก่ชีวิต เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมของเรา

ข้อต่อไปก็คือ ให้สังเกตอารมณ์ใจของเราว่า มีนิวรณ์ ๕ อย่างอยู่ในจิตของเราหรือไม่ ? ไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะ ความพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสระหว่างเพศ

พยาบาท ความโกรธเกลียดผู้อื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจ ไม่อยากปฏิบัติ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านหงุดหงิด เดือดร้อนรำคาญใจ และ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติว่าจะได้ผลจริงหรือไม่

ถ้าท่านใดอยู่ในตอนก่อนค่ำ จะเห็นโยมท่านหนึ่ง ที่ถามปัญหาว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้ผลหรือไม่ ? ทำแล้วจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ? ทำแล้วจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ ? นั่นคือบุคคลที่ยังมีวิจิกิจฉาอยู่เต็มหัวอก

ถ้านิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งเหล่านี้มีอยู่ในจิตในใจของเรา ก็แปลว่า กำลังใจของเราด้อยคุณภาพมาก ความชั่วกำลังมีอำนาจมากกว่าความดีเสียแล้ว

ให้เร่งรีบดึงกำลังความรู้สึกทั้งหมด มาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่จิต พอสมาธิจิตทรงตัวมั่นคง ก็จะทำการขับไล่นิวรณ์ ๕ ให้พ้นไปจากจิตจากใจของเราได้

เถรี
18-10-2010, 18:24
อีกจุดหนึ่งก็คือ ผู้ที่ปฏิบัติต้องเป็นผู้ที่ทรงสัจจบารมี ถ้าขาดสัจจบารมี เราก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีความจริงจังจริงใจในการปฏิบัติ จะกลายเป็นคนที่ทำบ้างทิ้งบ้าง ซึ่งถ้าว่าไปแล้ว มีโทษมากกว่าไม่ปฏิบัติเลยเสียอีก

เพราะว่าการปฏิบัตินั้นเหมือนกับการว่ายทวนน้ำ เมื่อถึงเวลาเราทิ้งการปฏิบัติ ก็เท่ากับลอยตามน้ำไป แล้วเราปฏิบัติใหม่ก็ว่ายทวนน้ำขึ้นมา ถึงเวลาปล่อยทิ้งก็ลอยตามน้ำไปอีก เท่ากับว่าเราเป็นคนขยัน ทำงานทุกวันแต่ไม่มีผลงานให้ภูมิใจเลย

จนอาจจะเกิดมิจฉาทิฐิ เข้าใจผิดไปได้ว่า ธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ของจริง เพราะว่าปฏิบัติแล้วไม่เห็นได้ผลเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นท่านก็แย่แล้ว เพราะความเป็นมิจฉาทิฐิเกาะกินใจ ปัญญาต่าง ๆ ก็จะถดถอยไปด้วย

บุคคลที่ไม่ปฏิบัติเลยยังไม่สามารถที่จะกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะว่าตนเองไม่ได้ลองปฏิบัติ แต่บุคคลที่ปฏิบัติแล้วทิ้ง ปราศจากสัจจบารมี คือไม่มีความจริงจังสม่ำเสมอในการปฏิบัติ กลับสามารถพูดได้ว่าตนเองทำแล้วแต่ไม่เกิดผล จึงกลายเป็นโทษมากกว่าคนทั่วไป

ดังนั้น..สัจจบารมีจึงเป็นส่วนสำคัญ ต้องเป็นคนที่จริงจัง จริงใจ ตรงต่อเวลา เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ ตั้งใจไว้ ต้องปฏิบัติทันที เพราะว่าการปฏิบัตินั้น ต่อให้เราปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง กิเลสก็ยังมีโอกาสแทรกเข้ามาสิง เข้ามากินใจของเราได้ ถ้าเราไม่กำหนดเวลาปฏิบัติของตนเองให้แน่นอน แล้วทุ่มเททำให้เต็มที่ ก็แปลว่าเรามีสิทธิ์ที่จะแพ้กิเลสอยู่ตลอดเวลา

เถรี
19-10-2010, 16:39
อีกข้อหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือ การทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นเครื่องช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้สงบเยือกเย็น ขณะเดียวกันสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในภพภูมิที่เราไม่สามารถจะมองเห็นได้ ถ้าได้รับความเย็นจากกระแสเมตตาของเรา จะเกิดความหวังดีปรารถนาดี ช่วยประคับประคอง ช่วยอำนวยความสะดวก ให้เรามีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ

นอกจากนี้แล้ว พรหมวิหาร ๔ ยังเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้เยือกเย็น ไม่คล้อยตามไปกับรัก โลภ โกรธ หลงได้ง่าย ๆ บุคคลที่ทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ จึงมีโอกาสเข้าถึงมรรคผลมากกว่าผู้อื่น

ดังนั้น..ในการปฏิบัติของเรา นอกจากการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาหรือภาพพระแล้ว ระหว่างที่ปฏิบัติต้องละทิ้งความวิตกกังวลทั้งหมดเสียก่อน ตรวจสอบดูว่าจิตใจของเราขณะนั้นมีนิวรณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแทรกสิงอยู่หรือไม่ ?

ตอนนี้เราเป็นผู้ที่มีสัจจะตั้งมั่นแล้วหรือยัง ? ถึงเวลาปฏิบัติ เราลงมือโดยฉับพลันทันที หรือว่ามีการผลัดวันประกันพรุ่งอยู่ ในขณะเดียวกันเรามีพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติหรือไม่ ?

ขอให้ทุกท่านพินิจพิจารณาดูกำลังใจของตน สิ่งใดขาดตกบกพร่องก็เสริมสร้างให้เต็มขึ้นมา สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว ก็ทำให้เจริญให้ดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป

โดยเฉพาะการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนานั้น เป็นสิ่งที่ละเว้นเสียไม่ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ช่วยสงบระงับ ไม่ให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านไปกับ รัก โลภ โกรธ หลงได้

ในลำดับต่อไปนี้ ขอให้ทุกท่านกำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา หรือพิจารณาของเราตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๓