PDA

View Full Version : อารมณ์สักเพียงแต่ว่ารู้ สักเพียงแต่ว่าเห็น


ลัก...ยิ้ม
22-09-2010, 14:41
อารมณ์สักเพียงแต่ว่ารู้ สักเพียงแต่ว่าเห็น


เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ ต.ค. ๒๕๓๖ เพื่อนของผมท่านเล่าให้ผมฟังว่า ท่านไม่เข้าใจ เรื่องอารมณ์สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นโดยให้เหตุผลว่า ในเมื่อตาเราไปเห็นหมา แล้วจะไม่ให้จิตยอมรับว่าเป็นหมาได้อย่างไร หลวงพ่อฤๅษีท่านก็เมตตามาสอนว่า

๑. “ไอ้เรื่องตากระทบรูป มันเป็นธรรมดาที่จิตต้องรับรู้ตามตาที่เห็นว่าเป็นหมา จุดนั้นไม่ผิดนะ คือ มีสติรับรู้ตามอายตนะ สัมผัสว่าสิ่งนั้นคืออะไร ไม่รู้ไม่ได้มันต้องรู้ แต่รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นเพียงสักแต่ว่าเห็น อะไรเป็นอะไร แต่คุมอารมณ์ของจิตไม่ให้ปรุงแต่งในสิ่งนั้น ๆ คือ ไม่ให้คิดฟุ้งซ่านจนเกิดอารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจนั่นเอง”

๒. “เพื่อนของผม ท่านปั่นรถจักรยานมาเห็นขี้วัวก็หลบ แต่กลิ่นของขี้วัวเข้าจมูก ก็คิดว่ากลิ่นก็ไม่เที่ยง แต่กลิ่นก็ยังไม่หายไป ก็คิดต่อไปว่าที่กลิ่นไม่หายไป เพราะสัญญาคิดตามเวทนาของกลิ่นขี้วัว ไม่ชอบใจในกลิ่นที่เหม็นนั่นแหละ หากเวทนาไม่เกิด สัญญาก็ไม่เกิด หรืออารมณ์ ๒ พอใจกับไม่พอใจก็ไม่เกิด หลวงพ่อท่านก็สอนต่อไปว่า “เห็นขี้ก็ต้องรู้ว่าขี้ ตากับจมูกมันรายงาน อย่างนี้เรียกว่ามีสติ กำหนดรู้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเห็นขี้นึกว่าข้าว นี่ซิมันยุ่ง สติไม่ดี แต่ก็ไม่แน่นะ ถ้าเป็นหมา มันเห็นขี้เป็นข้าวหรืออาหารอย่างดี ยิ่งขี้คน หมาชอบนัก”

๓. “เพื่อนผมท่านเอาเรื่อง อาหาเรปฏิกูลสัญญามาพิจารณา หลวงพ่อท่านสอนพระว่า ก่อนจะบริโภคอาหารให้พิจารณาหาความจริงของอาหารก่อน โดยอาศัยหลักอายตนะสัมผัส ๑๒ มีภายนอก ๖ ภายใน ๖ เมื่อกระทบกัน จิตเราต้องรู้ แต่ให้ทรงอยู่ในอารมณ์สักแต่ว่า ไม่ปรุงแต่งธรรมนั้นต่อให้เกิดอารมณ์ ๒ คือ พอใจและไม่พอใจ อย่างนี้แหละมิใช่ปรุงแต่งธรรม แต่เป็นธัมมวิจยะ

หลวงพ่อท่านบอกว่า “เอ้อ! ใช่อย่างนั้นนะ ถูก แยกความคิดให้มันออกอย่างนี้จึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ห้ามจิตไม่ให้คิดเลยเพื่อกันความฟุ้งซ่าน อันนี้มันผิด จิตมันต้องคิดตามอารมณ์ของมัน แต่คิดให้เป็นธัมมวิจยะ ไม่ใช่คิดอย่างชอบใจ ไม่ชอบใจ สร้างกิเลส ตัณหา อุปาทานให้เกิด ไอ้ตัวรู้ว่าอะไรเป็นอะไร นั่นคือ สติสัมปชัญญะ ไม่ใช่อายตนะกระทบกับอะไร กูไม่รู้ อันนั้นไม่เป็นเรื่อง จิตไม่มีสติอย่างนี้เขาไม่ใช้ เข้าใจให้ถูกต้องด้วย”

๔. “แยกอย่างนี้ รู้อย่างนี้ คุมอารมณ์ให้มีสติตามนี้ การปฏิบัติจะง่ายยิ่งขึ้น”

ลัก...ยิ้ม
24-09-2010, 11:55
จากนั้น สมเด็จองค์ปฐมท่านทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนรายละเอียดของอารมณ์สักแต่ว่า ให้ดังนี้

๑. “เป็นอย่างไรเจ้า ปฏิบัติธรรมมาตั้งนาน เพิ่งจักรู้ว่าคำว่า สักเพียงแต่ว่ารู้ สักเพียงแต่ว่าเห็นนั้นเป็นไฉนหรือ” (ก็ยอมรับว่าโง่จริง ๆ ที่ไม่เข้าใจ)

๒. “การรู้ก็ดี การเห็นก็ดี คือ จิตมีสติกำหนดรู้ เห็นไปตามความเป็นจริง และพิจารณาไปเป็นธรรมดาในสิ่งนั้น ๆ จุดนี้นับว่าประเสริฐ กล่าวคือจิตมีความเป็นบัณฑิต ไม่หลงใหลไปกับรูป เสียง รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อารมณ์ไม่เกาะติด เพราะเห็นสภาพสิ่งสัมผัสเหล่านั้นว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จิตก็ไม่ยึดเกาะสิ่งสัมผัสเหล่านั้นมาปรุงแต่งเป็นอารมณ์ สร้างความพอใจ ไม่พอใจให้เกิดความรุ่มร้อนแก่จิต นี่แหละคือคำว่า รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นสักเพียงแต่ว่าเห็น”

๓. “ซึ่งต่างกับทรชนคนพาล จิตหวั่นไหวไปกับอายตนะสัมผัส รู้เห็นสิ่งใดมิได้ขบคิดถึงความเป็นจริง สร้างอารมณ์กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมให้เกิด จิตจึงร้อนอยู่ตลอดเวลา ด้วยความรู้ไม่เท่าทันสภาวะธรรมนั้น ๆ เยี่ยงนี้ตถาคตไม่สรรเสริญ เพราะไม่ใช่หนทางสงบ ไม่ใช่หนทางนักพรต ที่จักบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงมรรค ถึงผลแห่งพระนิพพาน”

๔. “เหตุแห่งอารมณ์ รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นสักเพียงแต่ว่าเห็น จงนำมาปฏิบัติให้จริงจัง จิตอย่าได้คลายจากการกำหนดรู้ในอารมณ์นี้ เพราะจักเป็นที่ตั้งแห่งความสันโดษยังจิตให้สงบเป็นสุขได้โดยแท้”

๕. “ขอยกตัวอย่างกรณีหนึ่งขึ้นมา อุปมาอุปไมยให้เจ้าได้ใช้เป็นแนวทางกำหนดวางอารมณ์ รู้สักเพียงแต่ว่ารู้ เห็นเพียงสักแต่ว่าเห็น อย่างเห็นรูปคนหรือสัตว์ที่สวยสดงดงามก็ดี จิตมีสติยอมรับตามรูปที่เห็นนั้น ๆ แต่ชั่วขณะจิตเดียวก็พิจารณาไปถึงความจริงแห่งธาตุฐานแห่งรูปนั้น ๆ เห็นธาตุ ๔ อาการ ๓๒ กระจ่างชัด เห็นทุกข์ของการเสวยรูปนั้นตามความเป็นจริง จิตเกาะอยู่ในวิปัสสนาญาณ ให้เกิดอารมณ์สุขสงบเป็นการปรามจิตไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน หลงใหลในรูปที่เห็นนั้น ๆ ซึ่งอารมณ์ฝ่ายหลังเป็นอกุศล เพราะถูกความโง่เข้ามาบดบังจิต”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com