PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันเสาร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๓


เถรี
21-09-2010, 13:25
ให้ทุกคนนั่งท่าที่สบายของตน กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ากำหนดรู้พร้อมกับคำภาวนา หายใจออกกำหนดรู้พร้อมกับคำภาวนาที่เราชอบใจ

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการเจริญกรรมฐานวันที่สองของเดือนนี้ เมื่อวานได้กล่าวถึงพื้นฐานของความดี คือศีลไปแล้ว

ความดีของศีลนั้นมีอยู่จุดหนึ่งก็คือ เป็นเครื่องคอยส่งเสริมให้สมาธิทรงตัวตั้งมั่นได้เร็ว เราทั้งหลายที่ปฏิบัติอยู่นั้น ความหวังอย่างหนึ่งคือ ต้องการทรงสมาธิให้เป็นอัปปนาสมาธิ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรือจะได้อรูปฌาน ๔ เป็นสมาบัติ ๘ ไปเลยก็ยิ่งดี

เมื่อทุกคนหวังดังนี้ ก็ควรที่จะศึกษาด้วยว่าฌานสมาบัตินั้นประกอบไปด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ? อย่าลืมว่าการปฏิบัติของเรานั้น ถ้าขาดอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก สมาธิเราจะทรงตัวเป็นอัปปนาสมาธิไม่ได้ ดังนั้น..การกำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก พร้อมกับภาพพระหรือคำภาวนาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เมื่อเรากำหนดจดจ่อต่อเนื่องตามลมหายใจเข้าไป กำหนดจดจ่อต่อเนื่องตามลมหายใจออกมา โดยใช้คำภาวนาที่เราชอบใจแล้ว เมื่อทำไปถึงระดับหนึ่ง กำลังใจก็จะเริ่มทรงตัวตั้งมั่นขึ้นมา โดยจะเป็นปฐมฌานขึ้นมาก่อน

ปฐมฌานนั้นประกอบไปด้วยองค์ ๕ คือ วิตก คิดนึกตรึกอยู่ว่าจะภาวนา วิจารณ์ คือกำหนดรู้ว่าลมหายใจของเราแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น เราใช้คำภาวนาว่าอย่างไร เมื่อพ้นจากช่วงนี้ไปก็จะล่วงเข้าเขตของปีติ คือมีอาการ ๕ อย่าง ได้แก่ ขนลุกบ้าง น้ำตาไหลบ้าง ร่างกายโยกไปโยกมา ดิ้นตึงตังโครมครามบ้าง หรือว่าลอยขึ้นทั้งตัวบ้าง

ตลอดจนกระทั่งรู้สึกว่าตัวพองตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด ตัวรั่วเป็นรู หรือเห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ ตอนช่วงนี้จิตใจจะมีความเอิบอิ่มมากเป็นพิเศษ จะไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติเพราะเริ่มเห็นผลแล้ว

ขอให้ทุกคนระมัดระวังตรงจุดนี้ไว้ให้ดี เพราะว่ามารจะแทรกได้ง่าย อาจจะทำให้เราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติโดยไม่พักไม่ผ่อนไม่กินไม่นอน ร่างกายอาจจะทนไม่ไหว แล้วจะเกิดอาการสติแตกหรือกรรมฐานแตกไปเอง

เถรี
21-09-2010, 13:29
เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าเราปล่อยให้อาการของปีติขึ้นจนเต็มที่ ก็จะก้าวล่วงข้ามไป กลายเป็นความสุขเยือกเย็นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนบังเกิดขึ้น เพราะว่าตอนนี้จิตแนบแน่นจวนจะเป็นฌานแล้ว มีกำลังสูง สามารถกด รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงชั่วคราวได้

กำลังของความรัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นไฟใหญ่ ๔ กองซึ่งเผาเราอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ โดนกำลังสมาธิกดดับลงไป ความสุขที่ปรากฏจึงอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ คนที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาแล้วไฟดับไป ย่อมบอกไม่ถูกว่าสบายแบบไหน

หลังจากนั้น จิตก็จะก้าวล่วงไปสู่ความเป็นหนึ่งของอารมณ์ แต่เนื่องจากว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้บางทีปรากฏต่อเนื่องเร็วมาก จนทำให้เรารู้สึกว่าอารมณ์ทั้ง ๕ อย่างปรากฏขึ้นพร้อม ๆ กัน คือ นึกคิดตรึกอยู่ว่าจะภาวนา รู้อยู่ว่าตอนนี้ภาวนาอย่างไร ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น เข้าหรือออก มีอาการปีติอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้น มีความสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูก และท้ายสุดอารมณ์ทรงตัวตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น

ถ้าท่านทั้งหลายมาถึงตรงจุดนี้ ให้ทราบว่าขณะนี้ท่านเข้าถึงปฐมฌานแล้ว นั่นคือฌานที่ ๑ ทำให้เรามีกำลังตัดกิเลสระดับโสดาบันและสกิทาคามีได้

ลำดับต่อไปเป็นทุติยฌาน คือ ฌานที่ ๒ ผู้ที่ก้าวขึ้นมาถึงฌานที่ ๒ นี้ ตัววิตก วิจารณ์ จะหายไป ไม่ต้องเสียเวลาไปตัด ไม่ต้องเสียเวลาไปละ จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เหลือแต่ ปีติ สุข และเอกัคตารมณ์

ถ้าหากว่าจะจับจากอาการภายนอก คือลมหายใจแผ่วเบาลง ถ้าคนที่จิตหยาบหน่อยก็จะไม่มีลมหายใจเลย คำภาวนาก็อาจจะขาดหายไปด้วย หูก็จะไม่ได้ยินเสียงภายนอก หรือว่าถึงได้ยินก็ไม่ให้ความใส่ใจไม่ให้ความสนใจ ไม่ไปปรุงแต่งให้เป็น รัก โลภ โกรธ หลง

ถ้าท่านมาถึงตรงจุดนี้ ให้รู้ว่าขณะนี้ท่านเข้าถึงฌานที่ ๒ แล้ว เราไม่สามารถจะบังคับให้เป็นได้ ไม่สามารถที่จะตัดจะละสิ่งใดเพื่อเข้ามาถึงตรงนี้ได้ นอกจากตามดูตามรู้ กำหนดภาวนาไปจนกว่าจะเป็นเอง ยกเว้นว่าเรามีความคล่องตัวมาก สามารถที่จะเข้าฌานไหนในเวลาใดก็ได้ ถ้าเช่นนั้นเราจะสามารถบังคับให้เข้ามาถึงตรงระดับนี้ได้โดยพลัน

เถรี
22-09-2010, 15:56
ถัดจากนั้น เมื่อเรากำหนดดูกำหนดรู้ไป ตัวปีติก็จะหายไป เหลือแต่ตัวสุข สดชื่นสบายใจ และเอกัคตา คืออารมณ์ตั้งมั่นอยู่เฉพาะหน้า

อาการภายนอกที่ปรากฏก็คือ รู้สึกเหมือนกับว่าร่างกายนี้ค่อย ๆ แข็ง ตึงแน่นเข้ามา บางทีก็รู้สึกเหมือนโดนสาปให้เป็นหินแข็งทื่อไปทั้งตัว บางคนก็รู้สึกเย็นจากปลายมือปลายเท้ารวบเข้ามา ๆ บางรายก็เริ่มรู้สึกเย็นแถวปลายจมูก ริมฝีปาก จนถึงแถวคางเป็นวงอยู่ก็มี

ถ้าลักษณะนี้เกิดขึ้นก็แสดงว่า ท่านกำลังก้าวเข้าสู่ขอบเขตของตติยฌาน คือฌานที่ ๓ แล้ว เราไม่ต้องไปทำสิ่งใดทั้งสิ้น นอกจากกำหนดรู้ไว้เฉย ๆ อย่าไปอยากให้เป็นมากกว่านี้ และอย่าอยากให้เลิกเป็น

สภาพของสมาธิและร่างกายจะเป็นอย่างไรก็ช่าง เรามีหน้าที่กำหนดดูกำหนดรู้เท่านั้น ลมหายใจไม่มีให้รู้ว่าไม่มี คำภาวนาไม่มีให้รู้ว่าไม่มี สภาพจิตตอนนี้เป็นอย่างไรให้กำหนดรู้ไว้ตามนั้น

ถ้าท่านทำดังนี้ ความรู้สึกทั้งหมดก็จะก้าวเข้าสู่ความเป็นเอกัคตารมณ์ คือตั้งมั่นอย่างแท้จริง อารมณ์จะจดจ่อเป็นหนึ่งเดียวอยู่เฉพาะ ไม่สนใจต่อสิ่งใดทั้งนั้น ตอนช่วงนี้ประสาทร่างกายต่าง ๆ แยกออกจากจิตโดยสิ้นเชิง แม้คนตะโกนกรอกหูก็ไม่รู้สึก

ความรู้สึกทั้งหมดเหมือนกับว่ามีความเยือกเย็นสว่างไสวอย่างไม่มีประมาณ ปรากฏขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง อาจจะตรงหน้าของเราในระดับสายตา หรือว่าในศีรษะของเรา หรือว่าในอกของเรา จะอยู่ภายในหรือภายนอกร่างกายก็ได้

ความสว่างไสวเยือกเย็นอย่างประมาณไม่ได้นั้นปรากฏอยู่ จิตของเราจะไม่รับรู้ไม่สนใจสิ่งอื่นทั้งสิ้น ยกเว้นความสว่างไสวเยือกเย็นเฉพาะหน้านั้น ถ้าเป็นดังนี้ให้ทราบว่า ท่านก้าวเข้าสู่ฌานที่ ๔ หรือจตุตถฌานแล้ว

เถรี
23-09-2010, 09:08
ถ้าหากว่าเราก้าวมาถึงระดับนี้ กำลังของเราเพียงพอที่จะใช้ตัดกิเลสในความเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ได้ ถ้าทุกคนมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ต้องฝึกซ้อมบ่อย ๆ ซ้อมเข้าซ้อมออก เลื่อนขึ้นเลื่อนลง ให้กำลังใจของเราเข้าฌานตามลำดับบ้าง ถอยหลังตามลำดับบ้าง เข้าฌานสลับขึ้นหน้าบ้าง เข้าฌานสลับถอยหลังบ้าง

ไม่ว่าจะเป็น ฌาน ๑ , ๒ , ๓ , ๔ หรือ ฌาน ๔ , ๓ , ๒ , ๑ หรือ ฌาน ๑ , ๔ , ๓ , ๒ อะไรก็ตาม ทำให้คล่องตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องการอารมณ์ระดับไหนให้เข้าถึงได้ทันที เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แหลมคม ว่องไว ถึงเวลา รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น เราจะได้ใช้กำลังใจต่อต้านได้ทันท่วงที

สำหรับวันนี้ เรื่องของสมาธิก็จะกล่าวแต่เพียงเท่านี้ อย่าลืมว่าเมื่อวานนี้คือเรื่องของศีล วันนี้คือเรื่องของสมาธิ ศีลนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานให้ก่อเกิดสมาธิขึ้น เมื่อสมาธิทรงตัวก็สามารถใช้กลับไปควบคุมศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันสมาธิที่ทำให้ใจสงบนิ่งนั้น ก็จะก่อให้เกิดปัญญาด้วย เราจะกล่าวถึงปัญญาในวันพรุ่งนี้

สำหรับตอนนี้ถ้าหากว่าเรายังมีคำภาวนาอยู่ มีลมหายใจอยู่ ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจ กำหนดรู้คำภาวนา ถ้าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนาแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ไปเรื่อย ๆ อย่าอยากได้ อย่าอยากเป็น
มีหน้าที่กำหนดอย่างเดียว อะไรจะเกิดขึ้นให้เป็นไปโดยธรรมชาติของเขา ให้ทุกคนตั้งกำลังใจเอาไว้ดังนี้จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๓