PDA

View Full Version : การพึ่งตนเองด้วยปัญญา


ลัก...ยิ้ม
11-08-2010, 10:28
การพึ่งตนเองด้วยปัญญา
กับการตัดกรรมของพระฉันนะ


ในวันเดียวกันนั้นเพื่อนของผมท่านมีปัญหาคาใจ แต่ไม่กล้าทูลถามพระพุทธองค์ สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงเมตตามาตรัสสอนว่า

๑. “แค่เจ้าคิดตถาคตก็รู้แล้ว จักต้องพูดเพื่อประโยชน์อันใด ไม่มีการตรัสพยากรณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับเรื่องของท่านฤๅษีต่อไปอีก ให้เจ้ารู้อยู่แต่ในธรรมปัจจุบัน เจ้าพึงศึกษาและเรียนรู้เข้าไว้ เพื่อจักทำให้อารมณ์จิตเป็นสุข”

๒. “ธรรมนี้เพื่อช่วยอารมณ์จิตของเจ้าเอง เหมือนอย่างกับที่องค์สมเด็จปัจจุบัน ทรงตัดกรรมให้กับพระฉันนะ ให้ละจากธรรมในอดีตที่เป็นสหชาติกับพระองค์ลงเสีย ให้ละจากธรรมอนาคตทั้งหมดที่มุ่งหวังจากพระทุกองค์ ในความเกื้อกูลเนื่องด้วยความเป็นสหชาตินั้น พระฉันนะยึดอดีตไม่ได้ เพราะขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรินิพพานไปแล้ว จักยึดอนาคตเพื่อพึ่งใครก็ไม่ได้ เพราะถูกสั่งลงพรหมทัณฑ์ คือ อยู่แต่ผู้เดียว จึงอยู่กับธรรมปัจจุบันอันเดียวดายนั้น เป็นการบีบบังคับให้พระฉันนะต้องพึ่งตนเอง”

๓. “การคิดและพิจารณาธรรมอยู่ในปัจจุบันนั้น คือ การพึ่งตนเองด้วยปัญญา โดยยึดอริยสัจ คือ ทุกขสัจเป็นที่ตั้ง ในที่สุดพระฉันนะก็จบกิจได้ด้วยธรรมปัจจุบันนั้น เห็นสภาพความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ที่เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ยึดถืออะไรไม่ได้ เห็นสภาพความเป็นจริงของกิเลสที่เป็นเจ้านาย ครอบงำอารมณ์ของจิตที่ทำให้ตกเป็นทาสของมัน ทำให้จิตเคลื่อนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อพิจารณาถึงที่สุดพระฉันนะก็หมดทุกข์ เห็นองค์สมเด็จพระจอมไตรอยู่ที่พระนิพพานอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อบรรลุถึงธรรมวิมุติแล้ว พระฉันนะก็คิดถึงคุณและโทษของการอยู่ว่า จักมีประโยชน์หรือไม่ เมื่อเห็นว่าเป็นโทษก็ยอมละทิ้งขันธ์ ๕ เพื่อไปนิพพานดังกล่าว ตถาคตจักถามเจ้าดูว่า พระฉันนะฆ่าตัวตาย เพราะอาลัยในขันธ์ ๕ หรือไม่” (ก็ตอบว่า ไม่อาลัย)

๔. “ใช่ เพราะท่านหมดอารมณ์ที่จักอาลัยแล้ว ต่างกับคนที่ฆ่าตัวตายเพราะมีอารมณ์ไม่รักก็ชัง จึงไม่พ้นทุกข์ ตถาคตยกเรื่องนี้ให้เจ้าได้คิดพิจารณา พระที่ท่านได้พระอรหัตผล เพราะตัดความรักอาลัยในขันธ์ ๕ หมดจากอารมณ์เบียดเบียนกายและจิตแล้วจึงพ้นทุกข์ ขอให้เจ้าศึกษาธรรมในปัจจุบันให้ดี ๆ ละจากธรรมที่เป็นอดีตและอนาคตเสีย”

ลัก...ยิ้ม
16-08-2010, 16:12
พรหมทัณฑ์ กับธัมมวิจัยเรื่องพระฉันนะ


ในวันอังคารที่ ๑๐ ส.ค. ๒๕๓๖ เมื่อเอาคำสอนของพระองค์ เรื่อง พระฉันนะถูกลงพรหมทัณฑ์แล้ว ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร มาใคร่ครวญ มีผลสรุปได้ดังนี้

๑. การถูกลงพรหมทัณฑ์ มีผลทำให้พระฉันนะต้องวางอดีต วางอนาคต และมาอยู่กับปัจจุบันธรรมอย่างเดียว

๒. ท่านจะยึดขันธ์ ๕ หรือร่างกายของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว จึงเท่ากับเป็นอดีตธรรม

๓. ท่านจะยึดพระสาวกทั้งหลายเป็นที่พึ่งก็ไม่ได้ เพราะพระพุทธองค์สั่งให้ลงพรหมทัณฑ์ไว้ เมื่อพระองค์ทรงเข้าสู่ปรินิพพานไปแล้ว หมายความว่าห้ามพูดด้วย ห้ามคบค้าสมาคมด้วย ให้วางเฉยด้วยในทุก ๆ กรณี จึงเท่ากับเป็นอนาคตธรรม

๔. เมื่อพระฉันนะ ท่านยึดอดีตธรรม ยึดอนาคตธรรมก็ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งตนเอง หรือใช้ตนเองเป็นที่พึ่งเท่านั้น เป็นการบังคับให้ท่านอยู่กับธรรมปัจจุบัน

ลัก...ยิ้ม
17-08-2010, 10:04
๕. เมื่อพระฉันนะต้องอยู่คนเดียว คนปกติมักจะฟุ้งซ่านหรือฟุ้งเลวเสมอ แต่สำหรับท่านเป็นนักสู้ ไม่ยอมท้อถอย การอยู่คนเดียวในธรรมปัจจุบัน คือ การพึ่งตนเองด้วยปัญญา ท่านเห็นทุกข์จากการเกิดมามีร่างกาย หรือทุกขสัจ ทุกข์ของกายนี้ หากไม่กำหนดก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ ยิ่งกำหนดบ่อย ๆ ก็ยิ่งเห็นทุกข์ของกายมากขึ้นเท่านั้น จึงเท่ากับเห็นอริยสัจ เห็นทุกข์จากความไม่เที่ยงของร่างกาย ที่ทั้งแสนจะสกปรก จิตของท่านตกเป็นทาสของร่างกายตั้งแต่ตื่นยันหลับ มีสภาพเหมือนตนเองต้องติดคุกตลอดชีวิต หรือต้องเลี้ยงลูกอ่อนตลอดชีวิต หากเราวางร่างกายหรือขันธ์ ๕ นี้ลงเสียได้ว่า มันหาใช่เรา หาใช่ของเราไม่ เราเพียงแค่อาศัยมันอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น จิตเราก็จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากร่างกายหรือการเกิดตลอดกาล

๖. เมื่อจิตของท่านบริสุทธิ์ขนาดนี้ คือ ตัดอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ หรือตัดสักกายทิฏฐิได้ พระพุทธองค์ก็ส่งฉัพพรรณรังสีปรากฏกายให้พระฉันนะเห็น รับรองความคิดของพระฉันนะว่า ถูกต้องแล้ว จิตของฉันนะก็เข้าถึงความเป็นพระอรหัตผล ซึ่งความเป็นจริงแล้วถึงพระองค์จะมารับรองหรือไม่มาก็ตาม จิตของพระฉันนะก็ต้องจบกิจ เพราะหมดอุปาทานขันธ์ ๕ แล้ว

ลัก...ยิ้ม
18-08-2010, 14:20
ส่วนเรื่องพรหมทัณฑ์นั้น หมายความว่า การปล่อยให้อยู่คนเดียวอย่างพรหม เพราะพรหมนั้นท่านมีวิมานหลังใหญ่โต แต่อยู่แค่องค์เดียว อย่างผู้มีจิตสงบ เป็นฌานสมาบัติ (สงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕) ขออนุญาตเขียนไว้สั้น ๆ แค่นี้

ลัก...ยิ้ม
18-08-2010, 14:35
เมื่อพิจารณาธรรมมาถึงจุดนี้ สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตาตรัสสอนว่า

๑. “เป็นอันว่า เจ้าเริ่มเข้าใจอารมณ์พรหมทัณฑ์แล้ว จงหมั่นระวังรักษาอารมณ์นี้ไว้ให้ดี ๆ ใหม่ ๆ ก็จักมีเผลอบ้าง พลาดบ้าง จิตตกเป็นทาสของอารมณ์พอใจ ไม่พอใจอยู่บ้างเป็นธรรมดา”

๒. “ขอจงตามดูและรู้การเสวยอารมณ์ รู้หนทางแก้ไขของอารมณ์ รู้หลักการระมัดระวังอารมณ์พรหมทัณฑ์ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โจทย์จิตของตนเองเอาไว้ให้ดี ๆ ถ้าหากทำได้ถึงที่สุด พวกเจ้าจักไม่อยู่แค่อนาคามีผลหรอก พวกเจ้าจักบรรลุพระอรหัตผลได้อย่างพระองค์ที่ ๖๑ ในพุทธันดรนี้เช่นกัน” (กรุณาอ่านรำลึกถึงความดีของหลวงพ่อในอดีต หลวงพ่อฤๅษีวัดท่าซุง เรื่องนางมาติกมาตา หน้า ๑๔๘ บรรทัดสุดท้ายว่า พระองค์ที่ ๖๑)

๓. “อย่าลืมพระพุทธศาสนาสอนให้พ้นทุกข์กันที่จิต แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่เบียดเบียนร่างกายด้วย สอนให้วางเฉย คือ ยอมรับกฎของธรรมดาของร่างกาย จิตก็จักมีความสุขสงบ ไม่ดิ้นรนในกฎของกรรมนั้น ๆ เพราะไม่ว่าจักดิ้นรนอย่างไร ก็หนีกฎของธรรมดานั้นไปไม่พ้น”

๔. “การพ้นทุกข์ของจิต คือ การกำหนดรู้อารมณ์ของจิต และหมั่นชำระล้างปล่อยวางซึ่งอารมณ์ที่เป็นกิเลสนั้น ๆ จนกระทั่งหมดซึ่งตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมที่เข้ามาครอบงำจิต อารมณ์สงบอยู่ในอุเบกขารมณ์ได้ กล่าวคือ ถึงซึ่งสังขารุเบกขาญาณ หมดอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ที่จักเบียดเบียนจิตและกายของตนลงได้ และสิ้นการเบียดเบียนกายและจิตของบุคคลอื่นลงได้เช่นกัน สุดท้ายหมดความเบียดเบียนซึ่งจิตและกายของตนเอง และผู้อื่นอย่างหมดจด จึงได้ชื่อว่าสิ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา คือถึงซึ่งพระนิพพานอย่างถาวร”

๕. “อย่าลืม ทุกอย่างจักสำเร็จลงได้ด้วยความเพียร และจากนิสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงคิด จึงพูด จึงทำ เห็นคุณ เห็นโทษในกรรมอันจักมาแต่เหตุ นั่นแหละเป็นประการสำคัญ เมื่อเข้าใจตามนี้ จงพยายามทำความเข้าใจ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยการใคร่ครวญในธรรม”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com

ชยันต์พล
18-08-2010, 16:09
หมดแล้วหรือ ?

ลัก...ยิ้ม
18-08-2010, 16:11
ให้สังเกตว่า ทุกครั้งที่จบธรรมบทใดแล้ว ยิ้มจะลงท้ายด้วย..

"ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com"