PDA

View Full Version : อารมณ์มัจฉริยะ


ลัก...ยิ้ม
10-08-2010, 08:54
อารมณ์มัจฉริยะ (ความตระหนี่-ขี้เหนียว)
กับเวลาและความตายไม่คอยใคร



เมื่อวันเสาร์ที่ ๗ ส.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐมทรงพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ให้กับเพื่อนของผม ดังนี้

๑. “เจ้าอยู่กับโลก ก็จำเป็นจักต้องรู้ธรรมของโลกด้วย แต่รู้เพียงสักแต่ว่ารู้ จักได้รู้เท่าทันโลก แต่ไม่ติดอยู่ในธรรมของโลก มิใช่อะไร ๆ ก็ไม่รู้ ก็ต้องตกเป็นทาสของความโง่คือ ไม่รู้อยู่ร่ำไป จงอย่าเสียดายเงิน เสียดายเวลา ซึ่งไม่เที่ยง หากจักนำมาเปรียบเทียบกับการที่ต้องเสียอารมณ์ไป เพราะเหตุเหล่านี้ เป็นการเบียดเบียนจิตตนเอง ขาดเมตตาจิตตนเอง ทำร้ายจิตตนเองโดยความโง่ ให้ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรม ”

๒. “อารมณ์มัจฉริยะ ความตระหนี่ขี้เหนียว ก็คือ อารมณ์หวงเงิน-ทอง-ทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ระมัดระวังอารมณ์นี้เอาไว้ให้ดี ๆ จงหมั่นกำหนดรู้เข้าไว้ มีลาภ-เสื่อมลาภ มีทรัพย์สินเงินทอง สักวันหนึ่งก็เสื่อมไป ใช้ไป เป็นธรรมดาของกฎของธรรมชาวโลก (โลกธรรม ๘)”

๓. “ทุกอย่างหนีสันตติไม่พ้น หนีกฎของไตรลักษณ์ไม่พ้น มีเกิด มีเสื่อม มีดับเป็นธรรมดา เจ้าจงอย่าเกาะยึดอารมณ์นี้ รู้เท่าทันไตรลักษณ์เข้าไว้ จิตจักได้สบายใจ” (เมื่อได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ก็คิดได้ว่า จริงของพระองค์ กรรมของเรา เราจะไปให้คนอื่นแก้ได้อย่างไร)

ลัก...ยิ้ม
10-08-2010, 16:07
๔. ทรงตรัสว่า “นี่แหละอารมณ์มัจฉริยะ ขี้เหนียว-ตระหนี่ แม้แต่เวลาจึงเป็นทุกข์ เพราะเวลาซึ่งหาความเที่ยงไม่ได้ เมื่อเวลาไม่เที่ยง เจ้าไปยึดเวลาจึงสร้างทุกข์ให้กับจิตและกายของเจ้าเอง เหตุเพราะจิตเจ้าไม่อยู่ในธรรมปัจจุบัน ตั้งความปรารถนาจักกลับมาทำงานในเวลาแห่งอนาคต แต่กิจปัจจุบันของเจ้ายังทำไม่เสร็จ เวลามันไม่คอยท่า ก็เคลื่อนไปอยู่เรื่อย กิจปัจจุบันทำไม่ดี จิตก็ไม่ดี จดจ่ออยู่แต่กิจในอนาคต สุดท้ายจึงเหลวหมดด้วยประการทั้งปวง”

๕. “นี่เป็นธรรมดาภายนอก ซึ่งเจ้าสามารถจักนำมาเป็นบทเรียน สอนธรรมภายในให้แก่จิตของตนเองได้ เวลานี้ความฟุ้งซ่านเกิด จิตของเจ้าก็ย่อมอยู่ในธรรมปัจจุบันเช่นกัน มัวแต่ไปพะวงถึงธรรมในอนาคต ซึ่งยังมาไม่ถึง กิจปัจจุบันทำไม่ดี เจ้ารู้เวลาที่เคลื่อนไปหรือไม่ ความตายกำลังเข้ามาใกล้ทุกที จิตฟุ้งคือจิตมีอารมณ์ประมาท”

๖. “เสียดายเวลา แต่ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็น ปล่อยเวลาให้เคลื่อนไปในปัจจุบัน มัวแต่พะวงอยู่ในธรรมอนาคตที่ยังมาไม่ถึง สุดท้ายก็คว้าอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว อย่างนี้ดีแล้วหรือ” (ก็ยอมรับว่า ไม่ดี)

๗. “เมื่อรู้ว่าไม่ดี คิดไม่ถูก ก็จงหมั่นปรับปรุงแก้ไขอารมณ์ของใจเสียใหม่ เพื่อให้เข้าใจและรู้จักใช้เวลาในธรรมปัจจุบันให้เป็นประโยชน์สืบไป”

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com