PDA

View Full Version : การรู้สภาวะที่แท้จริง


ลัก...ยิ้ม
16-07-2010, 08:27
การรู้สภาวะที่แท้จริง
ของร่างกายในธรรมปัจจุบัน คือ อริยสัจ


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ ก.ค. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาสอนไว้ ดังนี้

๑. “การรู้สภาวะที่แท้จริงของร่างกายในธรรมปัจจุบัน คือ อริยสัจ เป็นทุกขสัจที่พระอริยเจ้าจักต้องยอมรับนับถือ สภาวะที่แท้จริงของร่างกายไม่มีใครเขาฝืนมันได้ ยิ่งฝืนมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น ร่างกายมันเป็นไปตามสภาวะปกติของมัน คือ ทำงานหนักมากเกินกำลัง มันก็เสื่อมโทรมให้เห็นปรากฏชัด เป็นเวทนาอยู่ภายใน หากจิตรับทราบเวทนานั้นแล้ว วางเป็นสังขารุเบกขาญาณ คือ ยอมรับสภาพของร่างกายในขณะนั้น ๆ จิตก็จักไม่ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากสภาวะนั้น ซึ่งไม่มีใครพ้นไปได้ เมื่อยอมรับ จิตก็จักมีความสุข ด้วยความเห็นร่างกายนี้ มีความเสื่อมไปตามปกติของมัน”

๒. “ประการสำคัญต้องรู้อยู่เสมอว่า ร่างกายนี้มิใช่เรา มิใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จิตก็จักผ่อนคลายจากความยึดเกาะในเวทนานั้น ดังนั้น การกำหนดรู้ว่าร่างกายเสื่อมนั้นเป็นของจริง จิตก็ควรจักยอมรับความจริงนั้น ๆ”

๓. “ในเมื่อรู้ก็สมควรพัก ดูความเสื่อมและเห็นความดับไปของความเสื่อมนั้น เมื่อร่างกายได้พักพอสมควรแล้ว ก็จักเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายอย่างชัดเจน”

๔. “บุคคลผู้รู้จริงจักไม่ฝืนสภาพของร่างกาย กล่าวคือ ไม่มีความเบียดเบียนร่างกายให้เกินไปกว่ากฏธรรมดา” (ผู้เห็นทุกข์จริงจะไม่ฝืน และไม่เพิ่มทุกข์ให้กับตนเอง)

ลัก...ยิ้ม
19-07-2010, 14:55
๕. “กฎธรรมดาคืออะไร อย่างร่างกายแก่ ก็ไม่ฝืนความแก่ อย่างสตรีแก่แต่ไม่ยอมแก่ ไปผ่าตัดเสริมสาว ทำร่างกายให้เจ็บปวดก็เป็นการเบียดเบียน หรือคนเจ็บป่วยมีหนทางรักษา แต่ฝืนกฎธรรมดา ไม่ยอมรักษา ไม่ยอมใช้ยา ไม่ยอมหาหมอ ก็เบียดเบียนร่างกาย อย่างร่างกายเสื่อม ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ จิตไม่รู้เท่าทัน ถือทิฏฐิ นั่งนาน ยืนนาน เดินนาน นอนนาน ก็ฝืนกฎธรรมดา คือ เบียดเบียนร่างกายเช่นกัน”

๖. “คำว่า สังขารุเบกขาญาณ ต้องแปลว่า วางเฉยอย่างรู้เท่าทันในกองสังขารทั้งปวง คือ ยอมรับกฎธรรมดาอันเป็นความจริงของสภาพร่างกาย”

๗. “อย่าคิดว่า เกิดมาชาตินี้ ขอมีร่างกายเป็นชาติสุดท้าย แล้วตะบี้ตะบันใช้งานมันไปอย่างไม่มีปัญญา ร่างกายถูกเบียดเบียนเท่าไหร่ จิตอาศัยเป็นเครื่องอยู่ ก็จักมีเวทนาที่ถูกเบียดเบียนเท่านั้น”

๘. “จักต้องรู้จักกฎธรรมดาของร่างกาย จิตจึงจักอยู่เป็นสุขได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ร่างกายมันมีความสกปรก ต้องอาบน้ำชำระล้างทุกวัน จิตเหมือนคนอยู่ในบ้าน บ้านสกปรกตามกฎธรรมดาของโลก ถ้าไม่เช็ด ไม่ล้าง ไม่ถูให้สะอาด คนอยู่จักหาความสบายใจได้หรือไม่ ร่างกายก็เช่นกัน กฎธรรมดามันเป็นอย่างนั้น ถ้าฝืนกฎธรรมดาไม่อาบน้ำให้มัน จิตก็ทุกข์ไม่สบายใจเช่นกัน”

๙. “นี่คือธรรมในธรรมของร่างกาย ที่เจ้าจักต้องศึกษาเรียนรู้ เพื่อก้าวไปสู่อารมณ์สังขารุเบกขาญาณที่ถูกต้อง โดยไม่ฝืนกฎธรรมดาของร่างกาย”

๑๐. “จำไว้ธรรมของตถาคต ต้องเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจ ยอมรับกฎธรรมดาของร่างกายและจิตใจ เช่น

ก) ทุกข์ของร่างกายหรือโรคของร่างกาย ระงับได้ก็พึงระงับอย่างรู้เท่าทัน

ข) ทุกข์ของจิตใจ หรือโรคของจิตใจ อันได้แก่ สังโยชน์ ๑๐ ก็จักต้องกำหนดรู้กฎธรรมดาของอารมณ์ที่ยังมีสังโยชน์นั้น ๆ เห็นการเกิด การดับไปของอารมณ์ที่ยังมีสังโยชน์นั้น ๆ แล้วพึงอาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต เป็นยารักษาโรคหรือทุกข์ของจิตใจ ให้หายขาดจากโรคนั้น ๆ”

๑๑. “อารมณ์กำหนดรู้ต้องมี รู้ร่างกาย รู้จิตใจ รู้ระงับ รู้รักษา ให้ตรงจุดที่เป็นโรค จิตก็จักเป็นสุข หมดความเบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจ”

ลัก...ยิ้ม
19-07-2010, 14:56
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com