PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓


เถรี
23-06-2010, 14:30
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดเฉพาะหน้า เวลาหายใจเข้ากำหนดรู้ตามเข้าไป เวลาหายใจออกกำหนดรู้ตามออกมา ใช้คำภาวนาตามอัธยาศัยของเราเอง ชอบคำภาวนาไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น

สำคัญที่สุดก็คือ ให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้าของเรา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อยู่กับปัจจุบันธรรม ถ้าหากเราสามารถทำได้ และกำลังใจทรงตัวมั่นคง ก็จะมีความสุขมาก

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมวันที่สองของเดือนมิถุนายน ในช่วงระยะที่ผ่านมา นอกจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ ทำให้พวกเราต้องหวาดกลัว หวาดระแวงแล้ว ทางวัดยังได้พาญาติโยมเดินทางเข้าไปในป่า บริเวณที่เรียกว่าบึงลับแล ปรากฏว่าญาติโยมหลายท่านไม่เคยชินกับการปีนป่ายขึ้นเขา ทำให้เกิดเป็นลมไปหลายราย

ในส่วนที่จะอยากกล่าวถึงในที่นี้ก็คือว่า เมื่อเวลาญาติโยมทั้งหลายเป็นลมไปแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาเจอเหตุการณ์การกวาดล้างบรรดาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็ดี เรามักจะหวั่นไหว เกิดความกลัวเกรงขึ้นมาเสียก่อน

ความจริงการหวาดกลัวเป็นธรรมดาของสัตว์โลก แต่ว่าเราในฐานะนักปฏิบัตินั้น เมื่อเกิดความกลัว ก็ต้องปฏิบัติไปจนกว่าความกลัวนั้นจะสูญสลายไป

ส่วนอีกอย่างก็คือว่า เมื่อเวลาร่างกายเราเหน็ดเหนื่อยมาก ๆ ถึงขนาดเป็นลมเป็นแล้งไป ส่วนใหญ่แล้วเราไม่สามารถที่จะเกาะความดีได้ เพราะมักจะไปพะวงอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น มักจะไปพะวงอยู่กับร่างกายของเรา โดยลืมเอากำลังใจเกาะความดีหรือเกาะภาพพระเอาไว้

ถ้าอย่างนั้นถ้าท่านตายตอนนั้นไป ก็คงต้องแล้วแต่เวรแต่กรรมที่สร้างมาว่า กุศลคือความดีหรืออกุศลคือความไม่ดี อย่างไหนจะมีมากกว่ากัน?

ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือว่า เมื่อเวลาเราเป็นลมไป หรือเหน็ดเหนื่อยมาก ๆ
๑. เราลืมการภาวนา
๒. เราลืมภาพพระ
๓. เราลืมลมหายใจเข้าออก

เถรี
23-06-2010, 23:41
เพราะสภาพจิตมัวแต่ไปวิตกกังวลกับสภาพร่างกาย แสดงว่ากำลังใจของเราทั้งหลายนั้นยังใช้ไม่ได้ การจะทำกำลังใจให้ทรงตัวตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้แต่ความตายที่มาอยู่ตรงหน้านั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการปฏิบัติมาในระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร หรือไม่ก็ต้องอาศัยบุคคลที่ร่างกายเข้มแข็งเพียงพอ จึงจะฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ผ่านไปได้

ในเมื่อกำลังใจของเรายังเข้มแข็งไม่เพียงพอ ในส่วนที่จะพึงกระทำก็คือ การปฏิบัติสมาธิภาวนา อย่างที่เราทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อกำลังของสมาธิภาวนาทรงตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรกระทำนอกจากการพิจารณาวิปัสสนาญาณ ก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้เราเคลื่อนที่ไปด้วยพิจารณาไปด้วย

ถ้าท่านสามารถที่จะเดินและภาวนาไปด้วยกัน หรือว่าแบกของหนัก ๆ เผื่อเพื่อนเผื่อฝูง แล้วภาวนาไปพร้อมกับการเดินได้ ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ เมื่อเกิดอาการเป็นลมก็ดี เหน็ดเหนื่อยมาก ๆ ก็ดี หรือต้องแบกของมาก ๆ ก็ดี กำลังใจเรามักจะไปนึกถึงแต่ตรงจุดนั้น โดยลืมภาพพระหรือลืมพระนิพพาน แม้กระทั่งลืมการภาวนาไปก็มี

การที่เราจะปฏิบัติกำลังใจให้มั่นคงระดับนั้นได้ อย่างต่ำสุดสมาธิของเราต้องได้ระดับปฐมฌานละเอียด และต้องเป็นปฐมฌานละเอียดแบบใช้งานด้วย ไม่ใช่เป็นปฐมฌานที่กล่าวไว้ในตำราทั่ว ๆ ไป

เนื่องเพราะว่า การที่เราจะปฏิบัติธรรมนั้น กำลังใจของเราถ้าหากว่ายังห่วงร่างกาย ยังกลัวความตายอยู่ ก็ยากที่จะเอาดีได้ เราจึงต้องมาเร่งในเรื่องของสมาธิภาวนา แล้วปรับสมาธิภาวนาให้เป็นสมาธิใช้งาน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ การเดินจงกรม เป็นการเดินพร้อมกับทรงอารมณ์การภาวนาไปพร้อมกัน

ถ้าบุคคลที่ขาดความคล่องตัว ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากพอกำลังใจเริ่มจับลมหายใจได้สามฐาน ก็มักจะก้าวขาไม่ออกแล้ว เพราะสมาธิทรงตัวแน่นมากขึ้น ร่างกายจะเคลื่อนไหวได้ยาก

เถรี
24-06-2010, 17:43
การที่เราจะฝึกจะหัดในการทรงสมาธิในขณะที่งานอื่นไปด้วยนั้น อย่ารอแต่เพียงการเดินจงกรม ไม่ว่าจะทำการทำงานอะไรก็ตาม ให้เราเอาสติจดจ่ออยู่กับงานเฉพาะหน้า เรื่องอื่นรอบข้างไม่ต้องไปสนใจ จดจ่ออยู่เฉพาะภาพพระ อยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออก หรืออยู่กับงานที่ตนเองทำอยู่

การที่เราจะซักซ้อมสมาธิให้ทรงตัวถึงระดับฌานใช้งานนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เราต้องทรงฌานใช้งานได้เป็นปกติ นึกเมื่อไรก็ทรงอารมณ์ใจได้เมื่อนั้น ถ้าเป็นดังนี้เราจึงมีโอกาสที่จะพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง คือ มีโอกาสที่จะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้

การปฏิบัติของเรานั้น นอกจากจะปฏิบัติสมาธิแล้ว ยังต้องมีศีลเป็นหลัก ถ้าเรารักษาศีล ทบทวนศีลอยู่ทุกวัน จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัวแน่วแน่ ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็รู้ว่าศีลจะขาดหรือไม่

ในส่วนของสมาธินั้น อย่างน้อยเราต้องได้ระดับปฐมฌานละเอียด เป็นการทรงปฐมฌานในแบบฌานใช้งาน เพื่อที่จะได้ประกอบหน้าที่ของเราไปพร้อม ๆ กับการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาด้วย

และท้ายสุด สิ่งที่ลืมไม่ได้คือ เราจำเป็นต้องพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายนี้มีความไม่เที่ยงอย่างไร มีความเป็นทุกข์อย่างไร ไม่สามารถยึดถือเป็นตัวตนเราเขาได้อย่างไร ถ้าสามารถพิจารณาอย่างนี้ แล้วถอนความอยากเกิด ถอนความปรารถนาในร่างกาย ถอนความยินดีในโลกนี้เสีย เราก็สามารถที่จะหลุดพ้นเข้าพระนิพพานได้

สำหรับตอนนี้ขอให้ทุกท่านตั้งใจ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา หรือการพิจารณาตามแต่ความถนัดของแต่ละคน ให้รักษาอารมณ์ให้อยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓