PDA

View Full Version : อริยสัจ แปลว่าของจริง


ลัก...ยิ้ม
17-06-2010, 09:02
อริยสัจ แปลว่าของจริง

ในวันต่อมา (วันพฤหัสบดีที่ ๑ ก.ค. ๒๕๓๖) สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงพระเมตตาสอนว่า


๑. “ศึกษามาตั้งนาน เพิ่งรู้ว่าเป็นอริยสัจหรือ” (ก็ยอมรับว่า ใช่)

๒. “จอมโง่ เจ้าจงรู้ไว้ว่า แม้คำสอนที่ตถาคตและพระพุทธเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ทุก ๆ องค์ มาสงเคราะห์เจ้านั้น ก็เป็นอริยสัจทั้งสิ้น” (เพื่อนของผม ท่านก็ตกตะลึง เพราะคาดไม่ถึง)

๓. “สิ่งใดที่ตถาคตตรัส สิ่งนั้นย่อมเป็นของจริง อริยสัจแปลว่าของจริง พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ก็เป็นของจริง พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต่างก็อาศัยอริยสัจ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณกันเหมือนตถาคตทั้งสิ้น จิตเมื่อเข้าถึงอริยสัจขั้นสูงสุด กล่าวคือ ถึงความเป็นอรหัตผล เห็นทุกข์ ยอมรับและวางทุกข์หมดทุกอย่าง จิตก้าวถึง สมุทัย-นิโรธ-มรรค แล้วก็สิ้นทุกข์ตามความเป็นจริง เพราะยอมรับอัตภาพร่างกายที่เกิดขึ้น แล้วต้องแก่ เจ็บ ตาย มีการกระทบกระทั่งอารมณ์ มีความแปรปรวนไม่สมหวัง มีการพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ ”

ลัก...ยิ้ม
18-06-2010, 09:00
๔. “เมื่อจิตท่านยอมรับตามอริยสัจนี้ เหตุแห่งทุกข์อันเกิดแก่ร่างกายเกิดขึ้น ท่านก็เคารพในกฎของกรรมเป็นธรรมดา ไม่หนีแล้ว เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเรื่องจริง เป็นสิ่งปกติธรรมดา อารมณ์จิตของท่านสบาย คลายจากสังโยชน์อันเป็นเครื่องร้อยรัดอย่างสิ้นเชิง อารมณ์เป็นสุขมุ่งเฉพาะพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น พูดมาแค่นี้เจ้าเข้าใจอริยสัจหรือยัง” (ก็รับว่า เข้าใจแล้ว)

๕. “เข้าใจแล้ว แต่ก็ต้องศึกษาให้เข้าถึงใจต่อ ๆ ไปด้วย เพราะเจ้ายังมีสังโยชน์ ๗ ประการ เป็นเครื่องร้อยรัด จงหมั่นรู้ทุกข์ (กำหนดรู้) รู้โทษแห่งสังโยชน์นั้น ๆ ให้พึงเห็นอริยสัจ วางกรรมทั้งปวงลงได้ตามลำดับเถิด”

๖. “ขอจงอย่าลืมตัว ทะนงตนว่าเป็นผู้รู้ เพราะตราบใดที่ยังไม่สิ้นสังโยชน์ จงสำนึกตนไว้เสมอว่า จิตเจ้ายังเป็นผู้ชั่วอยู่ เพราะจิตยังถูกสังโยชน์ร้อยรัดให้จุติอยู่ แม้อัตภาพยังไม่สิ้น จิตเจ้าก็ยังเกิดอารมณ์อยู่เนือง ๆ ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น”

ลัก...ยิ้ม
21-06-2010, 10:06
๗. “อย่าคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด ให้หมั่นโจทย์จิตเอาไว้ให้เสมอ ๆ เมื่อยามที่เกิดอารมณ์ว่านี่เลว นี่ชั่วไปเสียแล้ว ห้ามปรามอารมณ์ ข่มจิตเข้าไว้ให้รู้”

๘. “มีสติอยู่เสมอ ๆ ว่านี่ไม่ใช่หนทางจักไปพระนิพพาน” (ก็คิดว่าตัวเองได้พยายามห้ามแล้ว แต่บางขณะก็ยังยับยั้งอารมณ์ของจิตตนเองไม่อยู่)

๙. ทรงตรัสว่า “กรรมฐานแก้จริตยังอ่อนเกินไป อานาปานุสติหย่อนไป จิตจึงไม่มีกำลัง เจ้ามักจะเผลอลืมลมหายใจเข้า-ออกไปเป็นประจำ ก็เหมือนทหารรบแนวหน้าที่ทิ้งฐานกำลัง วิ่งออกไปเสี่ยงต่ออาวุธข้าศึกโจมตีตามลำพัง มีแต่ตายกับพิการเท่านั้นเป็นของกำนัล หาประสบกับชัยชนะต่อข้าศึกไม่ ฉันนี้ก็ฉันนั้น อานาปานุสติเป็นเกราะป้องกันข้าศึกโจมตีที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจักเป็นญาณหรือสมถะ วิปัสสนา ก็ต้องอาศัยการรู้ลมหายใจเข้า-ออก เป็นฐานกำลังทั้งสิ้น”

๑๐. “เพราะฉะนั้น จงหมั่นทรงอารมณ์อานาปานุสติให้ดี ๆ เพราะเป็นกำลังใหญ่ของการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เอาละเมื่อเจ้าเข้าใจพอควรแล้ว ก็จงเพียรนำไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย”

ลัก...ยิ้ม
21-06-2010, 10:07
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com