PDA

View Full Version : อารมณ์สำนึกผิด เพราะเห็นความชั่วที่ใจเรา


ลัก...ยิ้ม
01-06-2010, 14:16
อารมณ์สำนึกผิด เพราะเห็นความชั่วที่ใจเรา


เมื่อนำเอาเรื่องพรหมวิหาร ๔ ทำให้ศีลบริสุทธิ์เต็มกำลังได้อย่างไรมาพิจารณา ก็พบความจริงที่พอสรุปได้ดังนี้

๑. ถ้ายังคิดว่าคนอื่นเขาเลว ก็แสดงว่าเราเลวกว่าเขา

๒. ต้องรู้อยู่เสมอว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติธรรมดา

๓. ให้ยอมรับกฎของกรรมเข้าไว้ อย่าเผลอไปตำหนิใครเข้า

๔. เมื่อรู้ว่าผิด ก็ให้กำหนดจิตขึ้นมาขอขมาพระรัตนตรัยทุกครั้งไป

๕. แล้วก็ยังมีอารมณ์ปรุงแต่ง เปรียบเทียบออกนอกทาง ไปว่า


๕.๑ อารมณ์นี้ก็คล้าย ๆ กับหิริ-โอตตัปปะ หรือเทวธรรมขั้นละเอียดนั่นเอง


๕.๒ อารมณ์นี้ ก็คล้าย ๆ กับการสารภาพบาป หรือความชั่วแบบชาวพุทธที่ปลงอาบัติ แล้วจบลงว่า ต่อไปข้าพเจ้าจะไม่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เช่นนี้อีก แต่พวกคริสต์ เขาก็ไปสารภาพบาปกับพระเจ้าของเขาแล้ว เขากลับมาทำบาปเช่นนั้นต่อไป เป็นการล้างบาปแบบมิจฉาทิฏฐิ เพราะไม่เข้าใจเรื่องกฎของกรรมว่าเที่ยงเสมอและให้ผลไม่ผิดตัวด้วย

ลัก...ยิ้ม
02-06-2010, 12:46
สมเด็จองค์ปฐม ก็ทรงเมตตามาสอนต่อให้ มีความสำคัญ ดังนี้


๑. “เมื่อเจ้ารู้ตัวว่าเลว ก็จงหมั่นละ การกระทำนั้นเสีย เพราะเป็นจิตชั่ว จิตบาป หมั่นแก้ที่ตนเอง แก้ที่อารมณ์เกาะยึดร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกลงเสีย ตัวนี้เกิดขึ้นได้เพราะจิตเจ้ายังยึดว่า ร่างกายมีในเขาในเรา เป็นสักกายทิฏฐิ จงพิจารณาทุกข์ และโทษของอารมณ์นี้ แล้วหมั่นละเสียให้ได้ซึ่งอารมณ์เหล่านี้”

๒. “เมื่อพิจารณาร่างกายคนและสัตว์ว่าเสื่อมสกปรกแล้ว จงหมั่นพิจารณาทุกข์ และโทษของการมีร่างกายอยู่เนือง ๆ ด้วย”

๓. “ให้หมั่นกำหนดรู้ว่า กฎของกรรมอันใด ทำให้เกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์และสกปรกนี้ด้วย เจ้าจักเห็นอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ที่เป็นเหตุให้เกิดร่างกาย”

๔. “เจ้าจงทำการกำหนดรู้ทุกข์แห่งอารมณ์นั้น ๆ พิจารณาละอารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดร่างกายนี้อยู่เนือง ๆ จิตเจ้าจักได้คลายจากการเห็นร่างกายนี้ว่าเป็นเขาเป็นเราลงได้”

๕. “และหมั่นพิจารณาการท่องเที่ยวไปในวัฏฏะอันหาที่สิ้นสุดมิได้ โดยอาศัยจิตจากความสงบเป็นปัจจัย เป็นการระงับอารมณ์ที่ชอบส่งจิตออกนอกกายเสีย”

๖. “กิจธุระของพระพุทธศาสนา สำเร็จได้ที่จิตอุปธิวิเวก อุปธิปัญญาเป็นตัวนำ กล่าวคือจิตสงบเป็นจุดแรก มโนกรรมหรือวจีกรรมก็สงบตาม กายกรรมก็ย่อมสงบด้วย จิตก็จักเกิดปัญญารู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรม ยอมรับทั้งธรรมที่เป็นกุศล ยอมรับทั้งธรรมที่เป็นอกุศล ยอมรับทั้งธรรมที่เป็นอัพยากฤต ยอมรับกฎของธรรมดา”

๗. “จิตบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ก็เห็นธรรมบริสุทธิ์ล้วน ๆ ไม่มีการปรุงแต่งมากขึ้นเท่านั้น”

๘. “เมื่อจิตยอมรับกฎของกรรม การจักไปตำหนิกรรมก็ไม่มี กรรมใด ๆ จักเกิดแก่กาย วาจา ใจก็ไม่มี จิตของผู้ปฏิบัติได้ถึงกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ จึงหมดกรรม ไม่มีการต่อกรรมไปในวัฏฏะสงสารได้อีกต่อไป จึงพ้นสมมุติ คือ จิตถึงซึ่งวิมุติแล้วอย่างแท้จริง บุคคลผู้นั้นเข้าถึงพระอรหันตผล เป็นบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนานั่นเอง”

๙. “เพราะฉะนั้น พวกเจ้าจงจำไว้ ธรรมทุกข้อที่ตรัสมาล้วนเป็นหนทางที่พ้นทุกข์ทั้งสิ้น จักทำได้แค่ไหน ก็อยู่ที่จิตของพวกเจ้าเอง เพราะตถาคตเป็นเพียงผู้บอก พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ก็ตรัสมาเช่นนี้ทุก ๆ พุทธันดร อักขาตาโร ตถาคตา จงหมั่นใคร่ครวญให้มาก ๆ”

ลัก...ยิ้ม
02-06-2010, 12:46
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com