PDA

View Full Version : พรหมวิหาร ๔ ทำให้ศีลบริสุทธิ์เต็มกำลังได้อย่างไร


ลัก...ยิ้ม
31-05-2010, 15:01
พรหมวิหาร ๔ ทำให้ศีลบริสุทธิ์เต็มกำลังได้อย่างไร


เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ มิ.ย. ๒๕๓๖ สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาตรัสสอนให้ มีความสำคัญดังนี้


๑. เจ้าลืมบันทึกเรื่อง หลักการของการถือศีล ศีลจักบริสุทธิ์ได้ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ

ก) ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง
ข) ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล
ค) ไม่ยินดีด้วย เมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว


๒. “เจ้าพึงรู้แล้วว่า พรหมวิหาร ๔ ช่วยทำให้ศีลบริสุทธิ์ได้เต็มกำลัง ก็ควรจักพึงรู้ต่อไปว่า หลักการรักษาศีล ๓ ประการนั้น เกี่ยวข้องกับพรหมวิหาร ๔ ประการใด ตถาคตจักอธิบายให้เจ้าฟังสักครั้งหนึ่ง เพื่อเจ้าจักได้นำไปเป็นแนวทางของการปฏิบัติ เพื่อความอยู่เป็นสุขของกายและจิต”


๓. “หากเจริญพรหมวิหาร ๔ ได้ถึงที่สุด ศีล สมาธิ ปัญญา ของเจ้าก็จักบริสุทธิ์ จนถึงระดับหมดความเบียดเบียนจิตและกายได้”

ลัก...ยิ้ม
31-05-2010, 16:45
๔. “ประการแรก คือ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง เท่ากับพรหมวิหาร ๔ ตัวต้น (เมตตา) เราจักต้องมีให้กับจิตและกายของตนเองก่อน มีเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร มุทิตามีจิตอ่อนโยน มีอุเบกขา ที่จักไม่ยอมให้จิตตกเป็นทาสของกิเลส หรืออกุศลกรรมเข้าครอบงำ ชักชวนให้ละเมิดศีลทางกาย วาจา ใจ อันกระทำแล้วเกิดเป็นบาป นำจิตของตนให้ไปเสวยกรรมชั่วในอบายภูมิ ๔ อันมีสัตว์นรกเป็นต้น จำไว้นะ พรหมวิหาร ๔ ลำดับต้น จงมีให้กับจิตและกายของตนเองก่อน ประการที่ ๒ เมื่อพรหมวิหาร ๔ ประจำจิตของตนมั่นคงแล้ว ก็เท่ากับศีลรักษา ตัดสังโยชน์ ๓ ประการแรกเบื้องต้นได้ บุคคลผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน

จึงมีสิทธิ์ที่จักแจกพรหมวิหาร ๔ ตามที่ตนได้แล้ว สงเคราะห์บุคคลอื่นตามสังโยชน์ ๓ กล่าวคือ แนะนำให้ผู้อื่นรักษาศีล โดยปรารภอานิสงส์ของศีลที่ตัดอบายภูมิ ๔ ได้ ดังนั้น พระโสดาบันจึงไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นละเมิดศีล ดังนี้เป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ การไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว จักต้องมีอุเบกขาหรือสังขารุเบกขาญาณเป็นตัวคุม คือ บุคคลผู้นั้นจักต้องเข้าใจในกองสังขารทั้งปวง เข้าใจในกฎของกรรมในแต่ละบุคคล วางอารมณ์เห็นกฎของกรรมเป็นเรื่องปกติ เห็นในเหตุของกรรมนั้น ๆ จึงจักไม่ยินดีได้ เมื่อเห็นบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว ประการสุดท้ายนี้ หมายถึง ไม่ยินดียินร้าย แม้กระทั่งในมโนกรรม คือ ในความคิด” (ก็นึกถามว่า อารมณ์นี้มีได้แต่พระอรหันต์เท่านั้นใช่หรือไม่)

๕. ทรงตรัสว่า “ก็ต้องปฏิบัติได้ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป กรรมบถ ๑๐ เป็นข้อคุมการปฏิบัติศีลให้ละเอียดขึ้นตามลำดับ ระงับกายให้สงบ ทำตั้งแต่หยาบขึ้นไปจนถึงละเอียด อย่าคิดว่าจักทำเอาทีเดียวถึงขั้นละเอียดได้เลย” (ก็นึกว่าเป็นของทำได้ไม่ง่ายเลย)

๖. ทรงตรัสว่า “เมื่อรู้วาระจิตว่าเศร้าหมอง ก็ให้ตรวจดูการรักษาศีล ๓ ประการเยี่ยงนี้ไปตามลำดับ เห็นจิตขาดพรหมวิหาร ๔ ตัวต้น (เมตตา) คือ ไม่ได้ให้กับจิตและกายของตนเอง เจ้าก็จงหมั่นเจริญพรหมวิหาร ๔ ตัวต้นให้เต็มเถิด”

๗. “และต่อ ๆ ไป ถ้าหากเจ้าจักไปยุ่งเกี่ยวกับกรรมชั่วของผู้ใด จักยินดียินร้ายก็ตาม จงหมั่นนึกถึงการไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้ว จงเตือนตนเองว่า พรหมวิหาร ๔ ประการ ข้อสุดท้ายบกพร่องไปเสียแล้ว จักได้ตัดใจระงับอารมณ์ยินดียินร้ายนั้นลงเสียได้” (เมื่อทรงตรัสถึงข้อนี้ ก็ทำให้เข้าใจว่า ที่ตนเองไปตื่นเต้นกับข่าวของใคร ๆ เขาที่ทำชั่ว ก็เพราะขาดพรหมวิหาร ๔ ข้อสุดท้ายนี่เอง ธรรมนี้ลึกซึ้งมาก และปฏิบัติให้จิตทรงตัวได้ยาก)

๘. “เจ้าหมั่นทบทวนพรหมวิหาร ๔ คู่กับการรักษาศีล ๓ ประการนี้ไปเนือง ๆ แล้วเจ้าจักเข้าใจ ในความลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป มากยิ่งกว่าเวลานี้”

ลัก...ยิ้ม
31-05-2010, 16:46
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๕
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com