PDA

View Full Version : หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง


วาโยรัตนะ
24-02-2009, 04:27
http://i398.photobucket.com/albums/pp69/tidtou/51aa31c5.jpg

ประวัติโดยสังเขปพระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุณี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง)

พระวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุณี (หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง) ท่านเกิดที่ ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช ๒๓๗๐ ในรัชสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ( รัชกาลที่ ๓ )

ต่อมา บิดา-มารดา ได้อพยพครอบครัวหนีภัยพม่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ บ้านฉลอง เมืองภูเก็ต บิดา-มารดา ส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชสามเณร และต่อมาเมื่อถึงที่จะบวชภิกษุก็บวชภิกษุ จำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลอง

หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่า จนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนาธุระเป็นอย่างสูง และมีอำนาจทางจิต เมื่ออายุ ๒๓ ปี ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง ชีวิตของท่านเรียบง่ายมาก จนเมื่อมีกบฏอั้งยี่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ที่คิดกำเริบก่อการจลาจลและยึดอำนาจการปกครองของภูเก็ต แต่ด้วยบารมีของหลวงพ่อแช่ม ท่านสามารถปลุกขวัญกำลังใจของประชาชนชาวภูเก็ต ให้กันมารวมกำลังกันต่อต้านพวกกบฏอั้งยี่ได้สำเร็จ โดยใช้วัดฉลองเป็นที่มั่น เท่ากับท่านมีบทบาทในการช่วยรักษาเมืองภูเก็ต ให้รอดพ้นจากการยึดครองของพวกอั้งยี่ได้

หลวงพ่อแช่ม มรณภาพในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๑ รวมอายุได้ ๘๑ ปี เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่ม ปรากฏว่าหลวงพ่อมีเงินเหลือเพียง ๕๐ เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงินเอาเครื่องอุปโภคที่จำเป็น มีข้าวสารมีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในภูเก็ต หรืออาจกล่าวได้ว่ามโหฬารที่สุดในภาคใต้ บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

ผลงาน

๑. เป็นผู้นำด้านขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านต่อสู้กับกบฏพวกอั้งยี่ในปี ๒๕๑๙ เนื่องจากพวกอั้งยี่คิดร้ายจะยึดเมืองภูเก็ต ซึ่งระยะนั้นรัฐบาลไม่มีกำลังพอที่จะปราบปรามได้ ชาวบ้านกลัวภัยต้องหนีเข้าป่า ลูกศิษย์ขอให้หลวงพ่อแช่มหนีขึ้นไปด้วย แต่หลวงพ่อไม่ยอมทิ้งวัด บรรดาลูกศิษย์จึงรวมตัวกันต่อสู้กับอั้งยี่ โดยขอผ้าขาวลงยันต์ของหลวงพ่อแช่มไว้คุ้มกัน โดยทำเป็นผ้าประเจียดโพกศีรษะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านเหล่านั้น แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของอั้งยี่เลย รบกันจนอั้งยี่แตกพ่าย ในที่สุดรัฐบาลก็ปราบอั้งยี่ได้

๒.ชาวบ้านยึดหลวงพ่อแช่มเป็นที่พึ่งทางใจ เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนก็จะมาบนบานขอให้ปลอดภัย ในครั้งหนึ่งชาวบ้านออกเรือหาปลาเจอพายุ ก็บนบานขอให้หลวงพ่อแช่มบันดาลให้คลื่นลมสงบ แล้วจะแก้บนโดยการปิดทองที่หน้าแข้งหลวงพ่อแช่ม ซึ่งนับเป็นพระภิกษุรูปแรกของไทยที่ชาวบ้านปิดทองแก้บนทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

๓.ผลงานด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับชาวบ้าน โดยหลวงพ่อแช่มใช้ไม้เท้าในการรักษา หากเด็กเป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเ ป็นปาน จุกเสียด หลวงพ่อแช่มก็ใช้ไม้เท้าจี้ อาการเหล่านั้นก็จะหายหรือหยุดชะงักการลุกลามต่อไป

๔.หลวงพ่อแช่มดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดฉลองติดต่อกันเป็นระยะเวลา ๕๙ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๙๓ - พ.ศ. ๒๔๕๑ หรือตั้งแต่อายุ ๒๓ - ๘๑ ปี

๕.ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น พิธีผูกพัทธสีมา การเป็นพระอุปัชฌาย์ การไต่สวนไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างสงฆ์ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงบารมีของท่านที่แผ่ออกไปเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง

เกียรติคุณที่ได้รับ

๑. หลวงพ่อแช่มได้รับพระราชทานสมณศักด์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระวิสุทธิวงศาจารญาณมุณี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดซึ่งบรรชิตจักมีในสมัยนั้น แล้วในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองใหม่ เป็นวัดไชยธาราม

๒.หลวงพ่อแช่มเป็นที่นับถือของคนทั่วไป เพราะชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มเป็นที่เลื่องลือไปไกลทั่วในตัวจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงในปีนัง มาเลเซีย ทำให้ทุกวันนี้รูปหล่อหลวงพ่อแช่มซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดฉลอง มีประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ มาสักการะกราบไหว้ ซึ่งนับว่าหลวงพ่อแช่มเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้านตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา

“แม้ว่าท่านจะล่วงลับดับสังขารมานานนับ ๑๐๐ ปี แต่กิตติศัพท์และคุณงามความดีของท่านยังคงจารึกไว้ในแผ่นดินตราบจนทุกวันนี้”

พระคาถาหลวงพ่อแช่ม

ตั้งนะโม ๓ จบ

พระอะระหัง สุคะโตภะคะวา นะเมตตาจิต

วาโยรัตนะ
24-02-2009, 13:24
หลวงพ่อช่วง ที่เป็นสมภารวัดฉลอง ภูเก็ต เมื่อปี ๒๔๕๑ ต่อจากหลวงพ่อแช่ม โดยหลวงพ่อช่วงเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อแช่ม ถือว่าเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์โดยถ่ายทอดวิชาอาคม มีความชำนาญพิเศษในด้านวิปัสสนา จนมีชื่อเสียงโด่งดังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงพ่อแช่มผู้เป็นอาจารย์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป ทำให้วัดฉลองเจริญรุดหน้าขึ้นในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส

ซึ่งพอสรุปได้ว่า หลวงพ่อช่วงจะเด่นทางเมตตามหานิยม และวิปัสสนาเป็นยอด และโดยคุณงามความดีของท่าน ทางคณะสงฆ์จึงเสนอความดีความชอบไปยังคณะสงฆ์ส่วนกลาง ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูโดยได้รับพระราชทานทินนามว่า “พระครูครุกิจจานุการ” และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต

ด้วยความชำนาญในด้านวิปัสสนา จึงได้รู้จักกับหลวงพ่อปาน แห่งวัดบางนมโค อยุธยา จนในที่สุด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ หลวงพ่อปาน ได้เดินทางมาที่วัดฉลอง ภูเก็ต เพื่อไปเยี่ยมเยียนหลวงพ่อช่วง พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนวิชาอาคม และนมัสการภาพหลวงพ่อแช่มที่ตั้งไว้ในกุฏิของหลวงพ่อช่วง ก่อนเดินทางกลับหลวงพ่อช่วงได้มอบภาพหลวงพ่อแช่ม เพื่อเป็นที่ระลึกในครั้งนั้นด้วย

หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลังจากเดินทางกล้บจากวัดฉลอง เกิดความศรัทธาในหลวงพ่อแช่ม วัดฉลองเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้ช่างมาแกะเหรียญพร้อมจัดสร้างรูปหล่อบูชาขนาดใหญ่ไว้ที่วัดบางนมโค และนำภาพมาพิมพ์ถ่ายซ้ำเพื่อแจกให้แก่ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา พร้อมทั้งมีคาถาของหลวงพ่อแช่ม และหลวงพ่อปานกำกับในภาพถ่ายด้วย

สำหรับเหรียญมีลักษณะเป็นภาพหลวงพ่อแช่มนั่งเก้าอี้ห้อยเท้า มือขวาถือพัดยศ มือซ้ายถือไม้เท้ากายสิทธิ์ สร้างจำนวน ๑,๐๐๐ เหรียญ ซึ่งเหรียญนี้ถือว่าเป็นเหรียญหลวงพ่อแช่มที่สร้างเป็นครั้งแรก โดยหลวงพ่อปานได้ทำพิธีปลุกเสกที่ วัดบางนมโค จังหวัดอยุธยา ต่อมาเมื่อปลุกเสกเหรียญชุดนี้เสร็จแล้ว จึงได้นำแม่พิมพ์มาถวายแด่หลวงพ่อช่วง

ต่อมาคณะกรรมการวัดฉลองจึงได้ใช้แม่พิมพ์เดิมมาสร้างอีกครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓,๐๐๐ เหรียญ ซึ่งจะเหมือนกันทั้งหน้าและหลัง แต่ด้านหลังจะมีจุดสังเกต ที่ขอบเหรียญเป็นตำหนิคล้ายเล็บจิก จึงเรียกว่า “หลวงพ่อแช่ม พิมพ์เล็บจิก” สำหรับเหรียญทั้งสองพิมพ์นี้เป็นที่นิยมกันมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการทำมาค้าขึ้น เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดภยันตรายทั้งปวง จึงถือว่าเป็นรุ่นที่นิยมกันมาก ซึ่งมีข้อห้ามเพียงห้ามลักทรัพย์ และห้ามเสพสุรา หากจะให้เกิดผลสำเร็จขอให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ให้ท่องคาถาทุกวันและเมื่อได้เงินมาแล้ว ให้ทำบุญกุศลด้วย โดยกล่าวดังนี้

ตั้งนะโม (๓ จบ)
พระอะระหัง สุคะโต ภคาวา นะ เมตตา จิต (๓ จบ)
พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ (๑ จบ)
และสวดต่อคาถาพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ๓,๕,๗,๙ จบ ดังนี้

วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา
วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหม