PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓


เถรี
19-04-2010, 23:16
ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า..กำหนดความรู้สึกไหลตามลมเข้าไป..พร้อมกับคำภาวนา หายใจออก..กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา..พร้อมกับคำภาวนา ถ้าหากไปนึกคิดถึงเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไรให้ดึงกลับเข้ามาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเราทันที

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นวันแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงการปฏิบัติธรรมของเราทางเว็บไซต์วัดท่าขนุน เพื่อเป็นโอกาสแก่ญาติโยมทั้งหลายที่อยู่ทางบ้าน จะได้ปฏิบัติพร้อมกันไปด้วย

เมื่อครู่นี้ได้กล่าวแล้วว่า ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่สงบเรียบร้อยนี้ สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่เท่าไร เรายิ่งจำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะมากเท่านั้น ยิ่งจำเป็นต้องมีกำลังใจที่เข้มเข็งมากเท่านั้น การที่เราจะสร้างสติสัมปชัญญะและสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก หรือว่าอานาปานสติ การตามรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง

การที่เรากำหนดความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นการผูกจิตของเราเอาไว้ ไม่ให้ส่งส่ายไปในเรื่องอื่น ท่านเปรียบไว้ว่า จิตของเรานั้นซนมากเหมือนกับลิงตัวหนึ่ง ถ้าเราปล่อยโดยปราศจากการผูกมัด ลิงตัวนี้ก็จะกระโดดโลดเต้นไปในสถานที่ที่มันชอบใจ ไม่ยอมอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ยอมรับการฝึกหัดต่าง ๆ จึงจำเป็นที่เราจะต้องผูกมัดเอาไว้กับหลัก หลักและเส้นเชือกนั้นก็คือลมหายใจเข้าออก คืออานาปานสตินี่เอง

อานาปานสติ หรือว่าลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทั้งปวง บุคคลที่จะฝึกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสมถกรรมฐานหรือว่าวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม ถ้าหากว่าขาดอานาปานสติ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จในการปฏิบัติได้เลย อารมณ์ปฏิบัติของเขา อย่างเก่งก็จะสุดอยู่แค่อุปจารสมาธิ อุปจารฌาน หรือว่าปฐมฌานอย่างหยาบเท่านั้น แล้วก็จะสลายคลายตัวไปโดยง่าย

ดังนั้น..จึงจำเป็นที่ทุกท่านจะต้องสละเวลาในแต่ละวัน จะเป็นเวลาเช้าหลังจากตื่นนอนแล้วก็ดี หรือว่าเวลาค่ำหลังจากเสร็จธุระกิจการงานต่าง ๆ แล้วก็ดี มาประพฤติปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิภาวนา กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง เพื่อสร้างสติสมาธิของเราให้มั่นคงให้แนบแน่นยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถทรงเป็นอัปปนาสมาธิ คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป แล้วพยายามรักษาอารมณ์ฌานนั้นไว้ ซักซ้อมการเข้าออกให้คล่องตัว เพื่อที่เราจะได้อาศัยกำลังของฌานสมาบัตินั้น ส่งผลให้เราเป็นผู้ที่มีสติสมาธิที่ทรงตัว มีกำลังใจที่เข้มแข็ง สามารถใช้งานได้ทั้งในทางโลกและทางธรรม

เถรี
19-04-2010, 23:22
การทรงสมาธินั้น ถ้าหากเป็นท่านที่ฝึกใหม่ แรก ๆ ก็จะยากในการตามรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง หรือว่าแม้จะเป็นท่านที่ฝึกเก่าก็ตาม แต่หากขาดการประพฤติปฏิบัติให้ต่อเนื่อง ยังมีการละทิ้งให้จิตของเราไปเสวยอารมณ์อื่น ๆ ในแต่ละวันแต่ละเวลา มากกว่าการอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้าอย่างนั้นถึงท่านจะเป็นผู้เก่าก็จะปฏิบัติได้ยากเช่นกัน

การปฏิบัติในอานาปานสติ นอกจากจะทำให้กำลังใจของเราทรงตัว ทำให้กำลังใจของเราแนบแน่นเข้าสู่ระดับของอัปปนาสมาธิแล้ว ถ้าทำได้คล่องตัวจริง ๆ อานาปานสติจะมีผลพิเศษ คือช่วยให้เราสามารถที่จะละกิเลสต่าง ๆ ได้เช่นกัน

อย่างเช่นว่า เมื่อท่านทั้งหลายทรงอยู่ในปฐมฌานละเอียด รัก โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นในจิตในใจของเราได้ สติ สมาธิ ปัญญา จะทรงตัวตั้งมั่นและผ่องใส เราก็จะเห็นว่า การที่เราสามารถรักษาสมาธิของเราให้ทรงตัวได้นั้น กิเลสต่าง ๆ ไม่สามารถจะกินใจได้ ก็จะใช้ปัญญาในการพินิจพิจารณา ระมัดระวังรักษาไม่ให้หลุดไปจากอานาปานสตินั้น

ถ้าเราสามารถรักษาอานาปานสติได้ต่อเนื่องและยาวนาน กิเลสที่ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ นานไป ๆ ก็หมดกำลัง ท้ายสุดก็สลายตัวไปเอง เปรียบเหมือนกับการที่เราใช้ไม้ท่อนใหญ่หรือหินก้อนใหญ่ทับหญ้าเอาไว้ ถ้าหากว่าทับได้ยาวนานพอ หญ้านั้นก็จะตายไปเอง ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าจิตทรงตัวตั้งมั่น มีความผ่องใสอย่างแท้จริง เราก็จะเกิดปัญญา เห็นทุกข์เห็นโทษของอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ ในเมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษ จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด คลายความปรารถนาจากอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อจิตถอนออกมาจากความปรารถนาทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว อารมณ์ทั้งหลายที่ไม่มีจิตไปปรุงแต่ง ก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้ ถึงเวลาก็เสื่อมสลายคลายตัวไปเอง เป็นต้น

เถรี
20-04-2010, 08:53
ดังนั้น..ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า จริง ๆ แล้วในการปฏิบัติกรรมฐานนั้น จะเป็นสมถกรรมฐานก็ตาม หรือวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม ในส่วนของลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานสตินั้น สามารถที่จะสร้างความสุขให้เราทั้งในปัจจุบัน คือ ถ้าอารมณ์ใจทรงตัวตั้งมั่น จิตไม่ส่งส่ายวุ่นวาย เราก็จะมีความสงบ ความสุข ความเยือกเย็นทั้งกาย วาจา และใจ

ความสุขในอนาคต คือถ้าอารมณ์ใจทรงตัวตั้งมั่นตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป เราก็ไปเกิดเป็นพรหมชั้นต่าง ๆ ตามกำลังของเราได้ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็คือว่า สามารถที่จะตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเข้าพระนิพพานได้

โดยเฉพาะความพิเศษอีกส่วนหนึ่งก็คือว่า บุคคลที่มีความชำนาญในอานาปานสติจริง ๆ นั้น สามารถรู้วันตายของตนเองได้ แม้ว่าการรู้วันตายนั้นจะไม่ใช่สาระแก่นสารในการปฏิบัติ แต่บุคคลที่มั่นใจ รู้ และเชื่อแน่ว่าตนเองจะต้องตายนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต มีแต่จะเร่งปฏิบัติภาวนา เร่งการพิจารณาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งท้ายสุดก็ไปสู่จุดหมายของตนคือพระนิพพานได้

ดังนั้น..ในวันนี้ให้ท่านทั้งหลายกำหนดความรู้สึกของตนอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าผ่านจมูก..ผ่านกึ่งกลางอก..ไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง..ผ่านกึ่งกลางอก..มาสุดที่ปลายจมูก จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ที่เราถนัดและชอบใจ หายใจเข้ากำหนดรู้ลมพร้อมกับคำภาวนา หายใจออกกำหนดรู้ลมพร้อมกับคำภาวนา ให้ทุกท่านกำหนดความรู้สึกเอาไว้อยู่แค่ลมหายใจเข้าออก อย่าให้เคลื่อนในสู่อารมณ์อื่น ให้กำหนดรู้อย่างนี้ กำหนดภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย จนกว่าจะได้สัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓