PDA

View Full Version : รักเป็นกับรักไม่เป็น


ลัก...ยิ้ม
09-04-2010, 14:18
รักเป็นกับรักไม่เป็น


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๖ เพื่อนผู้ร่วมปฏิบัติธรรมของผม ได้เล่าให้ผมฟังถึงการปฏิบัติธรรมของท่าน มีความสำคัญดังนี้

ในการปฏิบัติกรรมฐานตอนเย็น เมื่อทำจิตให้สงบด้วยอานาปานุสติแล้ว ได้ยกเรื่องจริต ๖ ซึ่งหลวงพ่อฤๅษีท่านสอนมีธรรมตอนหนึ่งว่า

“ความโศกเศร้าเสียใจเกิดจากความรัก ถ้าเราไม่รักเสียอย่างเดียว คนตายกี่แสนคนก็ไม่โศกเศร้า”

ท่านยกเอาธรรมจุดนี้มาใคร่ครวญหรือธัมมวิจยะ เพื่อให้เกิดปัญญาทางพุทธศาสนาที่แท้จริง ท่านคิดว่า เพราะเรารักและเคารพหลวงพ่อเท่ากับเรารักขันธ์ ๕ ท่าน ถ้าหลวงพ่อไม่มีตัวตน เราจะรักท่านได้อย่างไร นี้เพราะอาศัยรูปเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดความรัก คิดได้แค่นี้หลวงพ่อท่านก็มาสอนว่า

๑. "การรักอย่างนั้นเรียกว่าเจือด้วยกิเลส โดยเหตุหลงรูปอันไม่ใช่ตัวจริง" ก็ถามหลวงพ่อว่า แล้วเมื่อไม่เห็นรูปจะรักได้อย่างไร ท่านก็ตอบว่า

๒. “รูปมันมีแค่ขันธ์ ๕ หรือ” ฟังแล้วก็งง เพราะไม่เข้าใจ ท่านก็บอกว่า

๓. “อย่างเอ็ง เห็นพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์ในพุทธกาลนั้น จัดว่าเป็นรูปหรือเปล่า” ก็รับว่าเป็น

ลัก...ยิ้ม
09-04-2010, 18:11
๔. “นั่นสิ รูปในนามอย่างนั้น เอ็งเห็นแล้ว เอ็งรักเคารพท่านหรือเปล่า”

ก็รับว่าเคารพ


๕. “แล้วในความรักและเคารพนั้น มันมีความโศกเศร้าเสียใจเจือปนอยู่ด้วยหรือเปล่า”

ตอบว่า "เปล่า"


๖. “นั่นแหละ เป็นความรักเคารพ ที่ไม่ได้เจือปนไปด้วยกิเลส เพราะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ” ก็คิดว่าก็เมื่อท่านไม่มีร่างกาย แล้วจะไปเศร้าโศกเสียใจกับกายท่านได้อย่างไร


๗. “แล้วอย่างนั้นจะเรียกว่าท่านตายได้หรือเปล่า”

ก็รับว่า "เปล่าตาย"


๘. “นั่นสิ ที่ตายนั้นเป็นร่างกาย เป็นธาตุ ๔ ไม่ใช่ท่านตาย เอ็งก็ยังพบท่านเห็นท่านได้ในสภาวะจิตพบจิต”


๙. “ถ้าอารมณ์ในขณะนั้นมีกิเลส เอ็งก็พบท่านไม่ได้ ความรักเคารพอย่างนี้สิ จึงจะเป็นของดี จิตไม่เศร้าหมอง มีสิทธิ์ที่จะไปพระนิพพานได้ แต่ความรักเคารพอาลัยโศกเศร้าเสียใจในขันธ์ ๕ ของพ่อนั้น เป็นของไม่ดี เป็นกิเลส มีความเศร้าหมองของจิต ตายแล้วไปพระนิพพานไม่ได้”


๑๐. “พยายามเข้าสิ ตัดความอาลัยเศร้าโศกเสียใจในขันธ์ ๕ ของพ่อลงเสียให้ได้ พ่อในสมัยที่ยังทรงชีวิตอยู่ เป็นผู้ไม่หวังในขันธ์ ๕ เพียงใด ขอให้เอ็งจงหมั่นทำจิตให้เป็นผู้ไม่หวังในขันธ์ ๕ เพียงนั้น ไม่ว่าขันธ์ ๕ ของพ่อหรือขันธ์ ๕ ของใคร หรือแม้แต่ขันธ์ ๕ ตัวเอง เพราะในที่สุดของขันธ์ ๕ คือความตายทุกรูปทุกนาม ความจริงมันเป็นอย่างนี้ แล้วจะไปหวังขันธ์ ๕ ทำไมกัน”


๑๑. “รัก รักให้เป็น รักพ่ออย่างพระพุทธเจ้าสิ รักอย่างพระอริยสงฆ์ในพุทธกาลสิ จิตจะได้ผ่องใส ขอให้คิดดี ๆ” (ธรรมจุดนี้ ผมขอให้หัวเรื่องว่า รักเป็นกับรักไม่เป็น)

ณัฏฐ์ภรณ์
10-04-2010, 08:37
รักเป็นคือพรหมวิหาร ๔ + สติ (ให้เพื่อให้ แม้สลายก็ยังให้ ใจเป็นอิสระ)
รักไม่เป็นคือความปรารถนา + อวิชา หรือ ตัณหา ๓ + อวิชา (ให้เพื่อได้ ใจเป็นทาสอารมณ์)
:onion_yom:

ณัฏฐ์ภรณ์
10-04-2010, 17:42
ความรักคือความชื่นชมยินดีจนบังเกิดความปรารถนาขึ้น (ปรารถนาในกามคุณ) กามคุณเปรียบเหมือนโรคเรื้อนมีสุขน้อยมีทุกข์มาก มีทุกข์จากการคัน เป็นต้น มีสุขจากการเกาที่คัน เป็นต้น

รักไม่เป็นก็เหมือนกับคนที่เป็นโรคเรื้อนไม่ยอมรักษา มัวแต่แสวงหาความสุขจากการเกาที่คัน เข้าใจว่าเกาที่คันเป็นสุข ทั้งที่เป็นเพียงบรรเทาทุกข์จากอาการคันเท่านั้น ปล่อยให้โรคลุกลามสุดท้ายย่อมประสบทุกข์เป็นอันมาก

รักเป็นก็เหมือนกับคนที่หายขาดจากโรคเรื้อนแล้ว ย่อมไม่ยอมกลับไปเป็นโรคเพื่อแสวงหาความสุขจากการเกาที่คัน เห็นโทษในกาม เห็นสุขในเนกขัมมะ ย่อมคายเหยื่อในโลก ละบาป ลอยบุญ มีศีลเป็นที่รัก มีความปีติในธรรมเป็นคู่ชีวิต พร้อมทั้งบอกวิธีป้องกันและรักษาโรคเรื้อน (มรรคมีองค์ ๘ อริยสัจ ๔)เพื่อประโยชน์สุขของผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ดังเช่นพระพุทธอริยะทั้งหลายมีพระรัตนตรัย และพระอาจารย์เล็กเป็นต้น:baa60776:

ลัก...ยิ้ม
12-04-2010, 10:26
หลังจากนั้น สมเด็จองค์ปฐม ได้ทรงพระเมตตาตรัสสอนต่อ มีความสำคัญดังนี้

๑. “หากเจ้าต้องการจักเป็นผู้ไม่หวังในร่างกาย ก็จักต้องหมั่นพิจารณาให้ถึงที่สุดของร่างกายนั้นว่า ธรรมภายในเป็นเยี่ยงไร เมื่อกำหนดรู้จนถึงที่สุดของร่างกาย ร่างกายบุคคลอื่นอันเป็นธรรมภายนอกก็เยี่ยงนั้น”

๒. “จงกำหนดรู้อารมณ์แห่งจิตด้วย กำหนดรู้สภาวะของร่างกายด้วย การพิจารณาจักต้องควบคู่กันไป อย่าทิ้งจุดใดจุดหนึ่ง โดยยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเข้าไว้เสมอ อารมณ์จิตหากยังเศร้าหมองอยู่ การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานก็จักสำเร็จได้ยาก จิตหากยังเป็นผู้หวังในร่างกายอยู่ ก็ยากที่จักบรรลุมรรคผลนิพพานได้เช่นกัน”

๓. “เจ้าได้เห็นสภาพของการมีร่างกาย ที่กลายมาจากอาภัสราพรหมแล้ว ทุกขั้นตอนมีแต่ความทุกข์ ขนาดมิต้องจุติจากครรภ์มารดา แล้วยังจักปรารถนามุ่งหวังในการมีร่างกายอีกหรือ (ก็รับว่าไม่ต้องการ) จิตเจ้าบอกไม่ต้องการ แต่ในขณะเกิดกระทบกระทั่งกัน จักด้วยอายตนะภายนอกก็ดี อายตนะภายในก็ดี เจ้าก็ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในอาการของร่างกายอยู่ ว่านั่นเป็นเขา นี่เป็นเรา จึงยังไม่ปฏิบัติได้ตามต้องการที่จักไม่มุ่งหวังในการมีร่างกาย”

๔. “สังโยชน์ ๔ - ๕ คือ การละ และตัดซึ่งอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะ ทำได้เมื่อไร การที่ต้องจุติมามีร่างกายก็สิ้นสุดเมื่อนั้น การกำหนดรู้อารมณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ พยายามอย่าประมาทอารมณ์ของจิต หมั่นสำรวจตรวจดูให้รู้แน่ชัดว่า ในขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้น มีอารมณ์อะไร ตั้งใจกำหนดรู้ตั้งแต่เช้ายันหลับไปเลย”

๕. “ถ้ารู้ก็แก้ไขอารมณ์ได้ ถ้าไม่รู้ก็แก้ไขอารมณ์ไม่ได้ จริตหก อย่าสักเพียงแต่ว่าท่องจำ พรหมวิหาร ๔ ก็อย่าสักแต่ว่านึกได้ จักต้องนำมาประพฤติปฏิบัติได้ด้วย”

ลัก...ยิ้ม
12-04-2010, 10:27
ธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (เล่ม ๔)
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com