PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓


เถรี
16-01-2010, 08:06
นั่งตามสบายของเรา วันนี้ค่อนข้างจะสบายนิดหนึ่ง เพราะท่านที่ประดังกันมาตั้งแต่ช่วงเช้าถึงบ่าย ต่างก็มุ่งไปสู่จุดหมายของตนแล้วทั้งนั้น

วันนี้วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ แล้ว ขึ้นปีใหม่แล้ว ปีที่ผ่านมานั้น ถ้าเปรียบกับปีนี้แล้ว ถือว่าเป็นปีที่ค่อนข้างดี ถ้าใครฟังแล้วรู้สึกค่อนข้างสยดสยองหน่อย ก็ขอให้รู้ไว้ด้วยว่า ถ้าตามเกณฑ์ชะตาประเทศชาติของเราจริง ๆ แล้ว ปีนี้..มีทั้งภัยธรรมชาติ มีทั้งภัยอันเกิดจากคนด้วยกัน ค่อนข้างจะรุนแรง ถ้าหากว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายพระหรือฆราวาสสิ้นชีวิตลง เป็นการตัดเคราะห์กรรมแล้ว แค่ครึ่งปีแรกก็ดูไม่จืดแล้ว

เมื่อเป็นดังนั้น พวกเรายิ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างกำลังใจของตนให้เข้มแข็ง ให้มั่นคง อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อถึงเวลาแล้ว กำลังใจของเราเองจะได้รักษาตัวเองได้ เราจะได้มีที่พึ่ง คือ กำลังใจที่เข้มแข็งมั่นคง ไม่หวั่นไหวกับไปสถานการณ์รอบด้าน

ปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ ที่ผ่านมานั้น สิ่งต่าง ๆ ที่เราทำมา ในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั้น เป็นอย่างไรบ้าง ? กำลังใจในการปฏิบัติของเราเป็นอย่างไรบ้าง ? เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ขอให้ทุกท่านนำมาประเมิน นำมาทบทวนดู พระพุทธเจ้าสอนเครื่องอันประกอบแล้วจะเกิดความสำเร็จในทุกเรื่อง เรียกว่า อิทธิบาท ๔ ซึ่งประกอบไปด้วย

ฉันทะ ยินดี ชอบใจที่จะทำในสิ่งนั้น ๆ วิริยะ ความพากเพียรบากบั่น ไม่ท้อถอย จนกว่าจะก้าวไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ จิตตะ กำลังใจที่แน่วแน่มั่นคง ปักมั่นต่อเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง ไม่โยกย้าย และท้ายสุด วิมังสา พิจารณาไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เราทำไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้หรือไม่ ? ตอนนี้ตัวเรายืนอยู่จุดไหน ? ยังห่างไกลเป้าหมายเท่าไร ? ต้องมุ่งหน้าไปสู่ทิศใดจึงจะไม่พลาดจากเป้าหมายนั้น ? ยังเหลือระยะทางอีกใกล้ไกลเท่าไร ?

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องนำมาประเมินตัวเองแบบไม่เข้าข้างตัวเราเลย โดยประเมินจากข้อที่หนึ่ง เราสามารถที่จะรักษาศีล ๕ ข้อได้บริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ ? ถ้าสามารถรักษาได้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เรายุยงให้คนอื่นเขาละเมิดศีล ๕ หรือไม่ ? ถ้าเรารักษาศีลด้วยตนเองได้ ไม่ยุให้คนอื่นเขาละเมิดศีลได้ เราเห็นบุคคลอื่นละเมิดศีลแล้วเรายินดีไปกับเขาหรือไม่ ?

เถรี
16-01-2010, 08:11
การประเมินก็คือ ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง ผิดก็ว่าตามผิด เพราะถ้าเข้าข้างตนเอง เราจะไม่ได้คำตอบที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ในเรื่องของสมาธินั้น เราก้าวเข้าไปสู่ระดับอัปปนาสมาธิได้อย่างใจหรือไม่ ? มีความคล่องตัวในการทรงฌานสมาบัติได้แค่ไหน ? นึกเมื่อไรได้เมื่อนั้น หรือว่ายังต้องตั้งท่า ยังต้องภาวนาเป็นระยะเวลานาน ๆ กว่าที่กำลังใจจะทรงตัว ? เราสามารถที่จะเข้าสมาธิสลับลำดับขั้นได้หรือไม่ ? หรือว่ากำลังใจของเรายังเป็นแค่อุปจารสมาธิหรืออุปจารฌานเท่านั้น ? ยังไม่เป็นอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

ข้อสุดท้ายที่ต้องประเมินก็คือ เราเห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกายเราหรือไม่ ? ว่าเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด คือประกอบไปด้วยอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นปกติ ไม่ว่าจะตัวเรา ตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นหญิง เป็นชาย เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุธาตุสิ่งของ ก็ประกอบไปด้วยความไม่เที่ยงเป็นปกติอย่างนี้

เราเห็นชัดเจนหรือไม่ ? ว่าตัวเราก็ดี บุคคลอื่นก็ดี สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ดี มีความทุกข์อยู่เป็นเจ้าเรือนเป็นปกติ เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ เฆี่ยนตีเราอยู่ตลอดเวลา บีบบังคับเราอยู่ตลอดเวลา เราสามารถเห็นมันหรือไม่ ?

และท้ายสุด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบ ขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว สมมติว่าเป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นสัตว์ตัวนั้น เป็นสัตว์ตัวนี้ เป็นของสิ่งนั้น เป็นของสิ่งนี้ แล้วเราก็ไปยึดถือสมมติบัญญัตินั้นว่า เป็นเรา เป็นของเรา แต่แท้จริงแล้วมันเป็นแค่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อที่จะให้เราอาศัยอยู่ตามบุญตามกรรมเท่านั้น

ถ้าเราไม่สามารถที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ยังมีการยุยงคนอื่นให้ละเมิดศีล เห็นคนอื่นละเมิดศีลอยู่ แล้วมีความยินดี ก็ขอให้ทราบว่ากำลังใจของเรายังใช้ไม่ได้ ต้องเร่งขวนขวายให้มากกว่านี้ ในเรื่องของสมาธิ ถ้าภาวนาแล้วไม่สามารถทรงอัปปนาสมาธิ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไประดับใดระดับหนึ่งได้ ก็เท่ากับว่า เรายังก้าวไปไม่ถึงจุดสำคัญของสมาธิ เรายังมีกำลังไม่พอที่จะต่อสู้กับกิเลส แม้กิเลสเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำอันตรายแก่เราได้

เถรี
16-01-2010, 08:14
ถ้าปัญญาของเรามองไม่เห็นว่า สภาพตัวเราก็ดี บุคคลอื่นก็ดี สัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนวัตถุสิ่งของก็ดี เป็นเพียงส่วนประกอบจากธาตุ ๔ ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็สมมติว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เราไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็แปลว่า กำลังใจเราใช้ไม่ได้

ถ้าเราสามารถรักษาศีลเป็นปกติ ไม่ยุให้ผู้อื่นละเมิดศีลก็ดี ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีลก็ดี สามารถทรงสมาธิในระดับใดระดับหนึ่งที่ต้องการก็ดี ตลอดจนมีปัญญารู้เห็นความเป็นจริงร่างกายของเรา ร่างกายของคนอื่นก็ดี ก็แปลว่า กำลังใจของเราตอนนี้เราอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าใช้ได้อยู่

ถ้าบุคคลที่กำลังใจยังใช้ไม่ได้ ให้เร่งรัดตัวเองให้มากขึ้น อาศัยปีใหม่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรา วันแรกของปี เป็นวันที่เราจะตั้งหน้าตั้งตา ทุ่มเทสร้างความดีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ๓๖๖ วัน ของปี ๒๕๕๓ นี้ เราจะทำความดีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าหากว่าเราตั้งกำลังใจของเราเอาไว้ดีแล้ว ก็พยายามทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าเดิม เพื่อที่จะก้าวไปสู่จุดหลุดพ้นในสิ่งทั้งหลายที่เราต้องการ

การประเมินตัวเองในรอบปี รู้สึกว่าจะน้อยเกินไป ถ้าจะปีละสองครั้ง ก็คงยังน้อยเกินไป ปีละ ๔ ครั้ง คือ ๓ เดือนครั้ง ก็ยังน้อยเกินไป จริง ๆ แล้วในการปฏิบัติควรจะประเมินตัวเองทุกวัน อย่างแย่ ๆ ก็ทุกอาทิตย์ อย่าถึงขนาดทุกเดือน ถ้าเดือนหนึ่งประเมินตัวเองครั้งหนึ่ง โอกาสพลาดจะมีสูง ถ้าเราพลาดตอนต้นเดือน ปลาย ๆ เดือนแล้วค่อยประเมิน ก็แปลว่าเราเสียเวลาไปเดือนหนึ่งเต็ม ๆ

เมื่อท่านทั้งหลายประเมินตัวเองแล้ว ถ้าหากว่าความดียังไม่มี ความดียังไม่พอ ก็เร่งสร้างให้มี เร่งสร้างให้พอขึ้น ด้วยการรักษาศีลพร้อมกับการเจริญสมาธิไป เมื่อปัญญาเกิดขึ้น พร้อมกับการรู้แจ้งเห็นจริงสภาพเป็นจริงของร่างกายนี้ ก็ให้หมั่นทบทวนอยู่เสมอ ๆ เพื่อจิตใจจะได้ปล่อยวางได้จริง ๆ ไม่ย้อนกลับไปยึดเกาะมันอีก

เถรี
16-01-2010, 08:19
เราต้องตั้งกำลังใจของเราว่า ปีที่ผ่านมาเรามีความผิดพลาดขนาดไหน ปีนี้เราต้องแก้ไขให้ได้ และต้องทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าปีที่แล้ว นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นนักปฏิบัติที่หวังความก้าวหน้าจริง ๆ ไม่อย่างนั้นแล้ว เราได้แต่ทำ ๆ ทิ้ง ๆ อยู่ตลอดเวลา ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็ไม่มี ไม่ต่อเนื่อง

เราต้องพิจารณาดูว่า ในแต่ละวันเรารักษากำลังใจของเรา ทรงอยู่ศีล สมาธิ ปัญญาได้กี่ชั่วโมง ? เวลาที่เหลือเอาไปทำในสิ่งที่เหลวไหลต่าง ๆ หรือว่าเราตั้งหน้าตั้งตารักษาในศีล สมาธิ ปัญญาของเรา ? ถ้าท่านไปทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจะเหลวไหลมากกว่า สมมติว่า กลางวัน ๑๒ ชั่วโมง เราทำในสิ่งที่เหลวไหลเกิน ๖ ชั่วโมง แปลว่าเราขาดทุนยับเยิน

เพราะว่าการปฏิบัติทั้งหมด เป็นการสั่งสมกำลัง ทั้งกำลังของศีล ของสมาธิ ของปัญญา เพื่อจักได้ก้าวล่วงกิเลสต่าง ๆ ของเราไปได้ สิ่งที่เราใช้นั้น เป็นการหลอกใช้ในกำลังที่เราสะสมได้ไปในทางทั้งหลายเหล่านั้น จนกำลังที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอในการต่อต้านกิเลส ก็จะโดนกิเลสชักจูงได้ง่าย ถ้าใครบกพร่องตรงจุดนี้ ก็ขอให้ระมัดระวังแก้ไขด้วย

จะคิด จะพูด จะทำ อะไรก็ตาม ให้ระวังอยู่เสมอ ว่ากำลังที่สั่งสมไว้จะรั่วไหลไป ทำให้ไม่พอในการกดกิเลสเอาไว้หรือทำลายกิเลส ถ้าท่านสามารถประเมินได้โดยไม่เข้าข้างตัวเอง แก้ไขจุดบกพร่องที่มีอยู่ เสริมสร้างจุดแข็งให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าทำอย่างนี้จึงเรียกว่า ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นผู้ทำดีเพราะหวังความก้าวหน้าจริง ๆ

ดังนั้น..ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ขอให้เป็นฤกษ์ดี ที่ทุกคนตั้งใจไว้ว่า อีก ๓๖๕ วันที่เหลือ เราจะทุ่มเทให้กับการปฏิบัติให้มากยิ่งกว่านี้ นี่เป็นทั้งสัจจะบารมี เป็นทั้งอธิษฐานบารมีของเรา ก็ให้ทุกคนจับภาพพระหรือคำภาวนา ตลอดจนลมหายใจของตนตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้สัญญาณว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓