PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒


เถรี
15-12-2009, 16:55
นั่งในท่าที่เราถนัด อย่าลืมว่าแม้จะอยู่ในท่าที่ถนัดก็ตาม เราต้องตั้งกายให้ตรงไว้ก่อน บาลีท่านบอกว่า อุชุ ํ กายํ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นอยู่เฉพาะหน้า คือ กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเรา ให้อยู่กับลมหายใจเข้า...ลมหายใจออก แรก ๆ ก็ให้หายใจยาว ๆ ระบายลมหยาบออกไปก่อน หลังจากนั้นก็กำหนดความรู้สึกไหลตามลมหายใจเข้าไป....ไหลตามลมหายใจออกมา พร้อมกับคำภาวนาหรือพร้อมกับภาพพระของเรา

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ ถือว่ายังอยู่ในวาระวันเฉลิมพระชนม์พรรษาอยู่ เมื่อวานนี้เราก็ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม แผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศล ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากข่าวที่ทุกท่านได้เห็น ก็จะเห็นได้ว่าพระพลานามัยของพระองค์ท่านนั้นไม่สู้จะแข็งแรงแล้ว ไม่สามารถที่จะนั่งทรงตัวตรง ๆ ได้เหมือนกับพวกเรา ไม่สามารถที่จะมีพระราชดำรัสยาว ๆ ได้

เราเห็นแล้วขอให้มองเข้ามาหาตัวเราด้วย ภาษาบาลีว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามาข้างใน ก็คือ ดูเข้ามาที่ตัวเรา ว่าขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชราภาพ พระชนมายุถึง ๘๒ พรรษาแล้ว เราก็จะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน พระองค์ท่านเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้นเช่นกัน ถ้าหากว่าเรารู้จักดูและน้อมนำเข้ามาหาตัวเอง ก็จะเห็นจริง ๆ ว่าสภาพร่างกายของเรากับพระองค์ท่านก็ไม่ได้ต่างกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และท้ายสุดก็สลายไป มีความเจ็บไข้ได้ป่วย มีความหนาวความร้อน ความหิวกระหายเป็นปรกติ เหมือนกับพวกเรานี่เอง

เมื่อเห็นดังนั้นแล้วคิดเลยไปอีกนิดว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูของพวกเรา เป็นผู้ทรงพระปัญญาธิคุณอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้อริยสัจซึ่งเป็นธรรมที่ไม่มีใครรู้ได้มาก่อน พระองค์ท่านก็เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานไป ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว ผู้ที่ถือว่าเลิศยิ่งกว่ามนุษย์ทั้งหมด เลิศกว่าเทวดา พรหมทั้งหมด คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่อาจจะล่วงพ้นจากความตายไปได้ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่ทรงเจริญพระชนมายุมา ๘๒ พรรษาเต็ม เริ่มก้าวเข้าสู่ ๘๓ พระองค์ท่านก็มีสภาพเช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ท้ายสุดก็จะสวรรคตเช่นกัน เมื่อบุคคลที่ทรงความดีเห็นปานนั้น ท้ายสุดก็ไม่อาจล่วงพ้นความตายไปได้ แล้วตัวเราทั้งหลายจะล่วงพ้นความตายไปได้อย่างไร ?

เถรี
16-12-2009, 09:23
ถ้าหากว่ากำหนดมองออกไปรอบกายของเรา ปู่ย่าตาทวดของเราส่วนใหญ่ตายกันไปหมดแล้ว มีอยู่จำนวนมากด้วยกันที่แม้กระทั่งพ่อแม่ก็ตายไปแล้ว และอีกจำนวนมากที่แม้กระทั่งเพื่อนฝูงก็ตายกันไปแล้ว และมีบ้างเหมือนกันที่รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานได้ตายไปบ้างแล้ว เราจะได้เห็นว่าคนเราเกิดมาเท่าไรก็ตายหมดเท่านั้น เพียงแต่จะเร็วช้าต่างกันไป ตามบุญตามกรรมที่สร้างมา

ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตาเป็นปกติ ไม่เบียดเบียนทั้งคนและสัตว์มาในอดีตชาติ ชาตินี้ก็จะอายุยืน มีพิษมีภัยจากความเจ็บป่วยน้อยว่าคนอื่น ๆ แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่มีจิตใจโหดร้าย ฆ่าคน..ฆ่าสัตว์เป็นปกติ ชาตินี้ก็จะมีความเจ็บป่วยมาก มีอายุสั้นพลันตาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ทุกรูปทุกนาม ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้ องค์บุรพมหากษัติยาธิราชเจ้าในอดีต ก็ได้ล่วงลับดับขันธ์สู่สวรรคาลัยไปแล้ว มาจนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันของเรา พระองค์ท่านก็ชราภาพมาจนถึงป่านนี้แล้ว เราเองอายุกาลผ่านวัยมาก็มากแล้ว ถ้ายังประมาทไม่แสวงหา ไม่ไขว่คว้าความดีเข้าใส่ตัวของเรา ชาตินี้เราก็อาจจะตายเปล่า ไม่มีความดีเป็นเครื่องหนุนเสริมไปสู่สุคติ ไม่มีความดีเป็นเครื่องหนุนเสริมเพื่อความหลุดพ้นไปสู่พระนิพพาน

ดังนั้น...ท่านทั้งหลายไม่ควรที่จะตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทุกวันทุกเวลา ต้องหาทางประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในหลักของทาน ของศีล ของสมาธิ ของปัญญาให้ได้ เรียกง่าย ๆ ว่าบุญน้อยเราก็เอา บุญใหญ่เราก็ทำ เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงให้แก่ตัวเรา เพราะว่าการที่ได้ทำอะไรต่อเนื่องบ่อย ๆ จนเคยชิน จิตก็จะเกาะสิ่งนั้นเป็นปกติ ถ้าเราปฏิบัติในทาน ในศีล ในสมาธิ ในปัญญาจนเคยชิน จิตก็จะเกาะในเรื่องเหล่านี้เป็นปกติ ถึงเวลาหากไม่ได้มาก อย่างน้อยก็พาเราไปสู่สุคติได้ ถ้าอย่างกลางก็ไปเป็นพรหม ถ้าเป็นสุทธาวาสพรหมก็ยิ่งดี เพราะว่าปฏิบัติเบื้องบนแล้วก็บรรลุพระนิพพานเลย ไม่ต้องลงมาเกิดอีก แต่ถ้าสามารถหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานในชาตินี้ ก็นับว่าเป็นยอดปรารถนาของพวกเรา

เถรี
16-12-2009, 09:27
เมื่อท่านทั้งหลายได้ดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐของพวกเราเป็นตัวอย่าง ได้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอัจฉริยะมนุษย์เป็นตัวอย่างแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเองแล้วก็จะเห็นได้ว่า เราไม่มีอะไรสู้พระองค์ได้เลยแม้แต่ส่วนเสี้ยวเดียว แล้วเราจะรอดพ้นจากความตายไปได้อย่างไร ? ในเมื่อรอดพ้นไม่ได้ จะตายทั้งทีก็อย่าให้ขาดทุน ก็คือ เราต้องเกาะความดีให้ได้

การเกาะความดีนั้น ตัวพุทธานุสติ คือ การระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดภาพพระไว้ก็ดี การกำหนดคำภาวนาว่าพุทโธ หรือ สัมมาอะระหัง หรือคำภาวนาอื่น ๆ ก็ดี ถ้าเราสามารถที่จะกำหนดได้จนอารมณ์ใจทรงตัว พุทธานุสตินี้ จะเป็นกรรมฐานที่นำพาเราไปสู่พระนิพพานได้ง่ายที่สุด

ดังนั้น..ในแต่ละวันการที่เราปฏิบัติภาวนา จับลมหายใจเข้าออก ขอให้ควบกับพุทธานุสติ คือ ภาวนาว่าพุทโธ ว่าสัมมาอะระหัง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้าได้ หรือกำหนดเห็นภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราชอบมากที่สุด กำหนดให้ไหลตามลมหายใจเข้า ตามลมหายใจออกก็ได้ กำหนดให้ครอบกายของเราเอาไว้ก็ได้ หรือว่ากำหนดจิตขึ้นไปกราบท่านบนพระนิพพานก็ได้ แล้วแต่ที่เราจะทำกัน

สำหรับตอนนี้ก็ให้ทุกคนดูที่ตัวเอง ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ก็ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกไป ถ้ามีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดคำภาวนาไปตามปกติ ถ้าหากว่าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา ก็ให้กำหนดรู้อยู่เฉย ๆ ว่า ขณะนี้ไม่มีลมหายใจ ขณะนี้ไม่มีคำภาวนา กำหนดสติตั้งมั่นอยู่ตรงเฉพาะหน้า รับรู้ในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นในลักษณะของคนดู ไม่ใช่ลงไปดิ้นรนเล่นด้วยตัวเอง อยากจะหายใจใหม่ อย่างนั้นกำลังใจจะถอยกลับออกมา ก็ให้ทุกคนกำหนดคำภาวนา กำหนดภาพพระ หรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกเลิกหมดเวลา



พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒