ประวัติวัดท่าขนุน

 

วัดท่าขนุนได้ชื่อตามเมืองด่านท่าขนุน สมัยนั้นการสัญจรส่วนมากไปทางเรือที่ล่องตามลำน้ำแควน้อย จุดที่ตั้งของเมืองด่านท่าขนุนเป็นท่าเรือ มีที่หมายสำคัญคือมีต้นขนุนอยู่หลายต้น จึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ท่าขนุน” จนกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองตั้งแต่นั้นมา

ในหนังสือนิราศท่าดินแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙  เมื่อคราวเสด็จไปทำศึกกับพม่าซึ่งยกมารุกรานไทยที่ท่าดินแดง ทรงยกทัพไปพร้อมกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โดยขบวนเรือจากกรุงเทพ ฯ ไปจนถึงเมืองไทรโยค แล้วจึงเดินทัพทางบกต่อไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเข้าตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดง ในขณะที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเข้าตีค่ายพม่าที่ตำบลสามสบ โดยเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้งสองทัพ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๓๒๙

ทำการรบกันอยู่สามวัน ถึงวันที่ ๒๓ เวลาบ่าย ฝ่ายไทยบุกทะลวงเข้าค่ายพม่าได้ และได้รบติดพันกันอยู่จนพลบค่ำ พม่าจึงทิ้งค่ายแตกหนีไป กองทัพไทยได้ไล่ติดตามไปถึงค่ายพระมหาอุปราชาที่ตำบลแม่กษัตริย์

พระมหาอุปราชารู้ว่ากองทัพหน้าแตกแล้วก็ไม่ให้คิดต่อสู้  รีบยกกองทัพหนีไปก่อน กองทัพพม่าจึงแตกยับเยิน เสียรี้พลและอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย โดยเฉพาะปืนใหญ่ไม่สามารถที่จะลากกลับไปได้แม้แต่กระบอกเดียว

จากนิราศท่าดินแดงในครั้งนั้น ได้กล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรีในนามเดิมว่าเมืองปากแพรก ทรงยกทัพเรือขึ้นไปถึงเมืองไทรโยค แล้วจึงเปลี่ยนเป็นทัพบก ยกไปตั้งค่ายที่ด่านท่าขนุน แล้วบุกโจมตีกองทัพพม่าที่ท่าดินแดง ดังเนื้อความในนิราศ ดังนี้

ฯลฯ...ถึงปากแพรกซึ่งเป็นที่ประชุมพล

                                              พร้อมพหลพลนิกรน้อยใหญ่

                        ค่ายคูเขื่อนขัณฑ์ทั้งนั้นไซร้

                        สารพัดแต่งไว้ทุกประการ

จึงรีบรัดจัดโดยกระบวนทัพ

                                    สรรพด้วยพยุหทวยหาญ

                                    ทุกหมู่หมวดตรวจกันไว้พร้อมการ

                                    ครั้นได้ศุภวารเวลา

ให้ยกพลขึ้นทางไทรโยคสถาน

                                    ทั้งบกเรือล้วนทหารอาสา

                                    จะสังหารอริราชพาลา

                                    อันสถิตอยู่ยังท่าดินแดง...ฯลฯ

ฯลฯ...ออกจากเนินผาศิลาพนัส

                                    เร่งรัดทวยหาญทั้งซ้ายขวา

                                    ไปตามแนวแถวในพนาวา

                                    พอสุริยาสายัณห์ลงรอนรอน

ก็ถึงด่านท่าขนุนโดยหมาย

                                    ให้ตั้งค่ายตามเชิงศิขร

                                    แล้วรีบเร่งพหลพลนิกร

                                    ทั้งลาวมอญเขมรไทยเข้าโจมตี...ฯลฯ

 

อุโบสถวัดท่าขนุน

 

จะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น ท่าขนุนก็เป็นเมืองหน้าด่านอยู่แล้ว จากค่านิยมของชาวพุทธไม่ว่าจะเป็นมอญ พม่า ไทย ลาว ก็คือ มีบ้านที่ไหนก็ต้องมีวัดที่นั่น ทำให้มั่นใจได้ว่า จะต้องมีวัดท่าขนุนมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนในเอกสารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เท่านั้น

หลักฐานการมีวัดท่าขนุนมาปรากฏชัด เมื่อครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา สองพระราชธิดาในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ กับเจ้าจอมมารดาอ่อน เสด็จมาประพาสป่าทองผาภูมิ

ทั้งสองพระองค์มีพระอุปนิสัยรักการผจญภัย ชอบเสด็จประพาสป่าเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเสด็จประพาสทองผาภูมิแล้วเกิดชอบพระทัยในสภาพป่า จึงได้เสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง และได้ขอเด็กกะเหรี่ยง ๒ คน คือ นังมิ่นกงกับนอเด่งเฉ่งจากบ้านปรังกาสี[๑] ไปเลี้ยงไว้ในวังอีกด้วย

ในการเสด็จครั้งหลังนี้เอง ทั้งสองพระองค์ได้ทูลขอพระราชทานพระพุทธรูปรัชกาล ขนาดหน้าตักประมาณ ๑ ศอก ๒ องค์ และธรรมาสน์ทรงบุษบกฝีมือช่างหลวง ถอดประกอบได้ทุกชิ้น จากในหลวงรัชกาลที่ ๗ มาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เป็นพระเถระเชื้อสายมอญ มีสีลาจารวัตรที่งดงาม เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทั้งสองพระองค์ทราบกิตติศัพท์ จึงเสด็จมานมัสการพร้อมกับถวายสิ่งของพระราชทานดังกล่าวข้างต้น

หลวงปู่พุกปกครองดูแลวัดท่าขนุนมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็มรณภาพลง  ชาวบ้าน ได้นิมนต์หลวงปู่เต๊อะเน็ง[๒] ชาวกะเหรี่ยงนอก (มาจากพม่า) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนเป็นรูปที่ ๒

 

บนยอดเขาวัดท่าขนุน

 

ช่วงนั้นพอดีหลวงพ่ออุตตมะเดินธุดงค์เข้าไทยมา ได้พบกับหลวงปู่เต๊อะเน็ง จึงช่วยกันสร้างมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลองให้กับทางวัดท่าขนุน

หลวงปู่เต๊อะเน็งปกครองดูแลวัดท่าขนุนจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็เดินทางกลับไปพม่า โดยไม่ได้กลับมาอีก ทางคณะสงฆ์ส่งพระภิกษุจากในเมืองกาญจนบุรีมาช่วยดูแลวัดให้ แต่อยู่ได้ไม่นานก็หนีกลับไป เพราะทนไข้ป่าไม่ไหว วัดท่าขนุนจึงกลายเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง

จนกระทั่ง วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๙๕ หลวงปู่สาย อคฺควํโส เดินธุดงค์มาจากนครสวรรค์ มาปักกลดปฏิบัติธรรมอยู่ที่บริเวณวัดท่าขนุน ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส จึงให้การอุปัฏฐากเป็นอย่างดี จนถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ หลวงปู่สายก็ได้ลาชาวบ้าน เดินธุดงค์เข้าไปในประเทศพม่า

ครั้นวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๙๖ หลวงปู่สายเดินธุดงค์กลับจากพม่ามาถึงวัดท่าขนุน  และได้อยู่จำพรรษาที่วัดท่าขนุนจนถึง วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ชาวบ้านซึ่งนำโดยนายบุญธรรม นกเล็ก ได้นิมนต์ให้หลวงปู่สายอยู่เป็นเจ้าอาวาสที่วัดท่าขนุนเลย

หลวงปู่สายแนะนำให้นายบุญธรรม นกเล็ก นำคณะชาวบ้านไปกราบขอท่านกับหลวงปู่น้อย เตชปุญฺโญ (พระครูนิพันธ์ธรรมคุต) เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลท่าน แล้วหลวงปู่สายก็ลาชาวบ้าน เดินทางกลับไปวัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์

หลังออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นายบุญธรรม นกเล็ก จึงนำศรัทธาชาวบ้านเดินทางไปนครสวรรค์กราบหลวงปู่น้อย ขอหลวงปู่สายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เมื่อหลวงปู่น้อยอนุญาตแล้ว หลวงปู่สายจึงเดินทางกลับมาพร้อมกับคณะศรัทธาชาวบ้าน ถึงวัดท่าขนุนเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๗ และเริ่มทำการบูรณะวัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลวงปู่สายได้รับการแต่งตั้งจากพระวิสุทธิรังษี (ดี พุทธโชติมหาเถระ) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ตามหนังสือแต่งตั้งเลขที่ ๑/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๘ และได้ร่วมกับศรัทธาชาวบ้าน พัฒนาวัดท่าขนุนกลับมาเป็นวัดโดยสมบูรณ์อีกวาระหนึ่ง จนได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างในปี ๒๕๑๖

หลวงปู่สาย อคฺควํโส มรณภาพลงในปี ๒๕๓๕  ทำให้เสนาสนะทั้งหลายได้ทรุดโทรมลง บางส่วนก็ชำรุดจนไม่สามารถที่จะใช้งานได้

ถึงปี ๒๕๔๕ สมัยพระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน พระราชธรรมโสภณ[๓] รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีบัญชาให้พระใบฎีกาเล็ก สุธมฺมปญฺโญ[๔] มาพัฒนาวัดท่าขนุน ให้มีเสนาสนะที่สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

วัดท่าขนุนยามค่ำคืน

 

 

 

วัดท่าขนุนและตัวเมืองทองผาภูมิ

 

 

ที่มาของข้อมูล : หนังสือประวัติวัดท่าขนุน โดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม

 



[๑] บ้านปรังกาสี หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ๗๑ – ๑๘๐.

[๒] ในประวัติวัดท่าขนุนฉบับเก่า รวบรวมโดย ร.ต.ต.บัว สุขเอี่ยม เรียกท่านว่า หลวงปู่ไตแนม.

[๓] ต่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี (พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๒) ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพเมธากร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๗ เมื่ออายุ ๘๕ ปี.

[๔] ปัจจุบันคือพระครูวิลาศกาญจนธรรม เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน รูปที่ ๖.