ประวัติและพุทธศิลป์วัดท่าขนุน  

รวบรวมโดย พระครูวิลาศกาญจนธรรม (เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)

๑. ที่ตั้ง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๕ บ้านท่าขนุน ถนนกาญจนบุรี - สังขละบุรี   หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  

ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕๙ ไร่ ๒ งาน ๓๐ ตารางวา   อาณาเขต ทิศเหนือ จรดทางสาธารณะ ทิศใต้ จรดหมวดการทองผาภูมิ ทิศตะวันออกจรดทางหลวงสาย ๓๒๓ ทองผาภูมิ-สังขละบุรี   ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำแควน้อย  

๒. ประวัติความเป็นมาของวัด วัดท่าขนุน ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวงพ่อสาย   เดิมเป็นที่ดินของตระกูลนกเล็กได้ถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เพื่อสร้างวัด

เมื่อหลวงปู่พุกมรณภาพ พระอาจารย์ไตแนมซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง เป็นเจ้าอาวาสบูรณะพัฒนาวัดโดยการสร้างมณฑปพระพุทธบาท ผู้ให้ความอุปถัมภ์คือ ผู้ใหญ่บ้านทม หงสาวดี เมื่อพระอาจารย์ไตแนมมรณภาพลง วัดท่าขนุนได้กลายเป็นวัดร้างไปชั่วระยะหนึ่ง

จนกระทั่งหลวงปู่สาย อคฺควํโส (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์) เดินธุดงค์มาจากจังหวัดนครสวรรค์ และปักกลดพักที่วัดร้าง ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของท่าน จึงได้นิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา และพัฒนาวัดสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นวัดประจำอำเภอทองผาภูมิมาจนทุกวันนี้

หลวงปู่สาย อคฺควํโส ได้มรณภาพลงในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ ทำให้เสนาสนะทั้งหลายได้ทรุดโทรมลง

จนถึงปีพ.ศ. ๒๕๔๕ พระราชธรรมโสภณ รักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีบัญชาให้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม (เล็ก สุธมฺมปญฺโญ) มาพัฒนาวัดท่าขนุน ให้มีเสนาสนะที่สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

๓. ลำดับเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน

๑. หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล (พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๔๘๕)
๒. หลวงปู่ไตแนม (พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๘)
๓. พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๓๕)
๔. พระอธิการสมเด็จ วราสโย (พ.ศ. ๒๕๓๕ - ๒๕๔๑)
๕. พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต (พ.ศ. ๒๕๔๑ - ๒๕๕๑)
๖. พระครูวิลาศกาญจนธรรม (เล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ปัจจุบัน)

๔. พุทธศิลป์และสิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด ประกอบด้วย

๔.๑ อุโบสถ ขนาดกว้าง ๓ วา ยาว ๙ วา   สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๗ โดยหลวงปู่สาย อคฺควํโส เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ บูรณะซ่อมแซมโดยพระครูวิลาศกาญจนธรรม (เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)

๔.๒ พระพุทธเจติยคีรี เป็นพระเจดีย์ศิลปะพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยหลวงปู่สาย อคฺควํโส ตั้งอยู่บนยอดเขาภายในพื้นที่วัด อันเป็นจุดชมวิวประจำอำเภอ

๔.๓ พระเจดีย์ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หลวงพ่ออุตตะมะเป็นประธานดำเนินการสร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๖ ในสมัยพระอธิการสมเด็จ วราสโย

๔.๔ ธรรมาสน์ทรงบุษบก สร้างจากไม้แกะสลักทั้งองค์ ถอดประกอบได้ทุกชิ้น พระองค์เจ้าหญิงอรประพันธรำไพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายหลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อครั้งเสด็จประพาสป่าทองผาภูมิ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของกรมศิลปากร

๔.๕ พระพุทธรูปรัชกาล ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนปลาย ขนาดหน้าตัก ๑ ศอก จำนวน ๒ องค์ พระองค์เจ้าหญิงอรประพันธรำไพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายหลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เมื่อครั้งเสด็จประพาสป่าทองผาภูมิ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของกรมศิลปากรทั้ง ๒ องค์

๔.๖ พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ขนาดหน้าตัก ๑ ศอก ไม่ทราบที่มา เป็นของคู่กับวัดมาแต่เดิม สันนิษฐานว่าอายุน่าจะเกิน ๑๕๐ ปี

๔.๗ รอยพระพุทธบาทจำลอง หล่อจากสัมฤทธิ์ ขนาดกว้าง ๑ ศอก ยาว ๓ ศอก ไม่ทราบที่มา เป็นของคู่กับวัดมาแต่เดิม สันนิษฐานว่าอายุน่าจะเกิน ๑๕๐ ปี

๕. แนวคิดการพัฒนาสังคมและพัฒนาวัด

๕.๑ การพัฒนาสังคม พยายามดึงคนเข้าวัด โดยอาศัยการทำบุญในวันพระ สนทนาออกเสียงตามสาย แลกเปลี่ยนความคิดกับชาวบ้านรอบวัด แจ้งแนวทางการพัฒนาวัดให้ทุกคนได้ทราบเป็นระยะ เพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าวัดเป็นของตน และ มอบทุนการศึกษาแก่ลูกหลานชาวบ้านทุกปี เพื่อให้เด็กมีความผูกพันกับวัดตั้งแต่เล็ก

๕.๒ การพัฒนาวัด จะทำให้วัดสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกระดับ ใครมาวัดต้อง "ได้อะไร" กลับไป ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือแนวคิด ทางโลกหรือทางธรรม